ไม่พบผลการค้นหา
สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ตั้งข้อสังเกต ป.ป.ช. วางหลักเกณฑ์ กรณีการยืมนาฬิกาว่าไม่ต้องยื่นแบบแสดงบัญชีทรัพย์สิน ชี้ขัดกับหลักและเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างชัดเจน

สภาทนายความโพสต์เฟซบุ๊ก กรณี ป.ป.ช. ชี้แจงให้เหตุผล เรื่อง นาฬิกาของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ว่า เป็นการยืมใช้คงรูป กรรมสิทธิ์ยังเป็นของผู้ให้ยืม แต่ผู้ยืมยังคงมีหน้าที่จะต้องคืนทรัพย์สินแก่เจ้าของตามข้อตกลงที่ให้ยืม หนี้ตามสัญญายืมใช้คงรูป จึงไม่ได้กำหนดไว้ในแบบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ต้องแสดงต่อ คณะกรรมการ ป.ป.ช.

สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย มีความเห็นในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในเรื่องนี้ ว่า การยื่นบัญชีของเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมือง ตามแบบที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้กำหนดไว้ในรายการทรัพย์สินจำนวน 9 รายการ โดยเฉพาะที่กำหนดไว้ใน รายการที่ 9 “ทรัพย์สินอื่นๆ” นั้น กรณีนาฬิกาที่มีมูลค่ามหาศาลในแต่ละเรือน จึงเป็นทรัพย์สินอื่นๆ ที่ผู้ครอบครองใช้ประโยชน์ ที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และนักการเมือง มีหน้าที่ จะต้องยื่นแบบแสดงบัญชีทรัพย์สิน ต่อ คณะกรรมการ ป.ป.ช. เพราะ

1. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 

มาตรา 1367 “บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน ท่านว่า บุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครอง” 

มาตรา 1371 “ถ้าพิสูจน์ได้ว่า บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินเดียวกันสองคราว ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลนั้นได้ครอบครองติดต่อกันตลอดเวลา” และ

มาตรา 1372 “สิทธิซึ่งผู้ครอบครองใช้ในทรัพย์สินที่ครอบครองนั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า เป็นสิทธิซึ่งผู้ครอบครองมีตามกฎหมาย”

หากดูจากบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในแต่ละมาตราข้างต้น ในเรื่องสิทธิครอบครองและการใช้ประโยชน์ของนาฬิกา แล้ว ผู้ครอบครองเป็นผู้ใช้ประโยชน์เพื่อตนเอง จึงเป็นเจ้าของนาฬิกา เท่านั้น นาฬิกาแต่ละเรือนมีราคานับแสนนับล้านบาท จึงเป็นการรับผลประโยชน์ที่เกินกว่า 3,000 บาท ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะพึงรับได้ตามกฎหมาย 

2. การยืมเป็นเอกเทศสัญญา ตาม ป.พ.พ.มาตรา 640 “อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้ให้ยืม ให้บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้ยืม ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่า และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว” 

การใช้สอยทรัพย์สิน คือ การได้ใช้ประโยชน์ทรัพย์สินที่ครอบครอง และ ข้อเท็จจริง พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้ใช้สอยทรัพย์สินโดยสวมใส่นาฬิกาหลายเรือน แต่ละเรือนมีมูลค่านับล้านบาท เพื่อประโยชน์ของตนเองมาโดยตลอดนานนับปี น่าจะเกินกว่า สองคราวติดกัน จึงน่าจะเป็นข้อสันนิษฐานว่า เป็นผู้มีสิทธิครอบครองและเป็นเจ้าของตามกฎหมาย จึงมีหน้าที่จะต้องยื่นแบบแสดงบัญชีทรัพย์สิน แสดงชื่อนาฬิกา ราคา และการได้มาของบรรดานาฬิกาทุกเรือน ที่อยู่ในความครอบครองในระหว่างการดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามกฎหมาย การที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้แถลงว่า กรณี นาฬิกาของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่อ้างว่า ยืมเพื่อนมา ไม่ต้องยื่นแบบบัญชีแสดงทรัพย์สิน จึงเป็นการวางหลักเกณฑ์ ที่ทำลายระบบการตรวจสอบ เปิดช่องให้มีการปิดปัง ซ่อนเร้น อันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมือง ทำการทุจริตโดยถูกต้องตามกฎหมาย

ในทางกลับกัน หาก คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้วางหลักเกณฑ์ ให้ชัดเจนว่า กรณี การยืมนาฬิกา ต้องยื่นบัญชีแบบแสดงบัญชีทรัพย์สิน แล้ว ก็จะเป็นมาตรการสำคัญในการตรวจสอบและปราบปรามการทุจริต น่าจะเกิดประโยชน์ในการตรวจสอบ เพื่อให้ทราบถึง ที่มาและการได้มาซึ่งทรัพย์สินซึ่งอยู่ในความครอบครองของเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมือง และการวางมาตรการในการตรวจสอบทรัพย์สินเช่นนี้ จะเป็นการตัดช่องทางและข้ออ้างเรื่องการยืมทรัพย์สินของ เจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมืองที่ทุจริต

กรณีที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมืองอย่างเข้มข้น แต่กลับวางหลักเกณฑ์ กรณีการยืมนาฬิกาว่าไม่ต้องยื่นแบบแสดงบัญชีทรัพย์สิน จึงเป็นการวางหลักเกณฑ์ที่มีลักษณะปล่อยปละละเลย ซึ่งขัดกับหลักและเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างชัดเจน หรือ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ออกหลักเกณฑ์เช่นนี้ เพียงเพื่อแค่ต้องการให้ ข้อกล่าวอ้างกรณีการยืมนาฬิกา ของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ นั้น ชอบด้วยกฎหมาย

นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ 

นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย

29 มิถุนายน 2562