ไม่พบผลการค้นหา
'โทนี่ วูดซัม' มองหนี้ไทย ทั้งสาธารณะและครัวเรือนสูงจ่อคอ ยิ่งปล่อยไปประเทศจะติดวงจรอุบาทว์ เศรษฐกิจต้องแก้ด้วยการเปิดเมืองไม่ใช่แจกเงิน ถ้าจีดีพียังไม่โตปีละ 5% คนจะตกงานสะสมไปเรื่อยๆ

Tony Woodsome หรือ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับมาอีกครั้งกับประเด็นร้อนระอุ ‘หนี้สาธารณะ’ ของประเทศไทยซึ่งขึ้นไปเฉียด 55% ของจีดีพี หรือคิดเป็นตัวเลขกว่า 8.5 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา

มิติสำคัญที่ ดร.ทักษิณ เอ่ยปากเตือนตั้งแต่ช่วงแรกและตลอดการพูดคุยครั้งนี้คือ ‘กับดักหนี้’ ที่ไม่ได้อยู่แค่กับภาครัฐแต่ยังลามไปถึงทั้งส่วนธุรกิจและประชาชน อันเนื่องมาจากการบริหารเงินกู้ของรัฐบาลที่ไร้ยุทธศาสตร์ 

“กู้มาใช้จ่าย ไม่กู้มาลงทุน ไม่กู้มาสร้างรายได้ เท่าไหร่ก็หมด เท่าไหร่ก็จน”

"การกู้มันจำเป็น หนึ่งกู้เรื่องโควิดแล้วใช้กับโควิด ไม่ใช่กู้มาแจก ผมไม่ได้บอกว่าไม่ให้แจกประชาชน แต่มันต้องมีประโยชน์ และให้มันหมุนได้หลายรอบ ถ้ามันเอาเข้ากระเป๋าแล้วเกิดประโยชน์รอบเดียว มันก็ไม่มีเศรษฐกิจหมุนเวียน กู้จำเป็นไหม จำเป็น เพราะงบประมาณขาดดุล เพราะคุณยังตัดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็นไม่เป็น แล้วยังปล่อยให้มีการเพิ่มกำลังพลภาครัฐ"

ดร.ทักษิณ ย้อนกลับไปเปรียบเทียบว่าในสมัยตนเองเข้ามาบริหารประเทศปี 2544 ไทยมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ประมาณ 54% จากวิกฤตต้มยำกุ้ง อย่างไรก็ดีในระยะการบริหารประเทศ รัฐบาลสามารถลดสัดส่วนหนี้ลงมาเหลือราว 39% ซึ่งมาจากความพยายามจ่ายหนี้เดิม สร้างเศรษฐกิจใหม่ให้จีดีพีโตเพื่อไปสู่การจัดเก็บรายได้ภาษีที่เพิ่มขึ้น 

ในทางตรงกันข้าม ณ วันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาบริหารประเทศ หนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ราว 42-43% เมื่อเวลาผ่านไป 7 ปี ระดับหนี้ขึ้นมาอยู่แล้วที่เกือบ 55% และมีแนวโน้มว่าจะขึ้นมาอยู่ที่ 58% ปลายเดือน ก.ย.นี้ ซึ่งเป็นระดับที่มีความสุ่มเสี่ยงมาก

ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 เพดานหนี้สาธารณะตามกฎหมายไทยอยู่ที่ 60% ต่อจีดีพี ซึ่งมีแนวโน้มว่ารัฐบาลจำเป็นต้องแก้กฎหมายเพื่อเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะตรงนี้เพิ่มขึ้นไปให้สูงกว่า 60%

เมื่อมองภาพรวมการใช้เงินของรัฐบาลขณะนี้ทั้งปราศจากกลยุทธ์ในการสร้างเศรษฐกิจ เพราะ “การกู้เงินมาแจกเงินไม่แก้ปัญหาเศรษฐกิจ”

“แล้วอย่าไปเปรียบเทียบกับญี่ปุ่น หรือสหรัฐอเมริกา เพราะเขามีฐานภาษีใหญ่ ฐานรายได้ของเขามัน 30% ต่อจีดีพี ของเราแค่ 16% ต่อจีดีพี คนรายได้เยอะ กู้เยอะ มีปัญญาใช้หนี้ ไม่มีใครว่าอะไร แต่เรารายได้เล็ก กู้ไปเรื่อยๆ อันตราย” 

“งบประมาณปีหน้าต้องตั้งไปถึงสองแสนล้านบาท นี่แค่ดอกเบี้ยอย่างเดียว แทนที่จะเอาเงินเหล่านี้ไปทำอย่างอื่น”

คำถามสำคัญกับประเด็นหนี้สาธารณะของไทยคือเงินที่มีอยู่ในหน้าตักของรัฐบาลถูกบริหารจัดการอย่างไร เหตุใดจึงไม่ถูกใช้ไปอย่างมีลำดับขั้นตอนว่าประเด็นใดสำคัญที่สุด ประเด็นใดเป็นเรื่องรอง รัฐบาลยังต้องคิดด้วยว่าจะใช้เม็ดเงินตรงนี้ลงทุนให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างไร วางรากฐานให้อนาคตของชาติยังไง


เงินกู้ต้องใช้ยังไง ?

วิธีการใช้เงินกู้ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเริ่มที่การแก้ปัญหาวิกฤตโรคระบาดให้เร็วที่สุด ทั้งการได้มาซึ่งวัคซีนที่เพียงพอ ควบคู่ไปกับการคัดกรองผู้ติดเชื้อ รวมไปถึงการจัดเตรียมเครื่องช่วยหายใจและเตียงที่ไม่เพียงพอกับผู้ติดเชื้อ

เงื่อนไขการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดีที่สุดไม่อาจได้มาจากการแจกเงิน เพราะกระบวนการแจกเงินที่จบไปกับการใช้จ่ายประจำวันไม่อาจทำให้เศรษฐกิจหมุนไปได้ เงื่อนไขเดียวที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยหมุนได้ คือการจัดการวิกฤตการแพร่ระบาดให้เร็วที่สุด เพื่อให้เศรษฐกิจทั่วไปกลับมาเปิดได้อีกครั้ง 

“ต้องตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออก อะไรไม่เร่งด่วนเอาไว้ก่อน วันนี้เรื่องเร่งด่วนที่สุดคือวัคซีน ค่าตรวจคัดกรอง ฉีดวัคซีนให้ทั่วถึง การรักษาจะทำยังไง เตียงไม่พอ เครื่องช่วยหายใจไม่พอ ต้องลงทุน เงินมีอยู่แล้ว ทำไมไม่จัดลำดับความสำคัญ มันต้องมาคิดว่าจะลงทุนยังไงให้สร้างเศรษฐกิจ ต้องจัดการโรคระบาดก่อน เพื่อทำให้เปิดเศรษฐกิจ ให้เศรษฐกิจหมุน เก็บภาษีได้มากขึ้น”

สิ่งที่น่าเป็นห่วงจากการใช้เงินไม่เป็นของรัฐบาลคือระดับ ‘หนี้ครัวเรือน’ ของประชาชนซึ่งขึ้นมาถึง 86.6% ของจีดีพีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หรือคิดเป็นหนี้ต่อครัวเรือนราว 164,000 บาท

ประชาชนไม่อาจมีความสามารถในการจ่ายหนี้เหล่านี้ได้ หากพวกเขาไม่มีงานทำ โดนลดเงินเดือน และค้าขายไม่ได้ เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันอันโดนผลกระทบโดนตรงจากการบริหารจัดการประเทศที่มีปัญหาของรัฐบาลไม่เอื้อให้คนไทยลืมต้าอ้าปากได้ มีแต่จะตกลงไปอยู่ใต้เส้นความยากจน

“อย่าแก้หนี้ด้วยหนี้ เราจะติดกับดักหนี้ มันไม่มีทางหลุดพ้นวงจรอุบาทว์นี้ได้”

ดร.ทักษิณ สรุปว่า หากประชาชนยังเป็นหนี้สูงขนาดนี้ สถาบันการเงินก็ไม่ให้กู้ ไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ดำเนินไปได้ ขณะที่ฝั่งธุรกิจเอง แม้ตอนหนี้ยังไม่สูงมากนัก แต่ก็เป็นเพราะยังได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารแห่งประเทศไทย ในฝั่งความช่วยเหลือทางการเงิน เมื่อผ่านช่วงเวลาตรงนี้ไปแล้ว ระดับหนี้จะปรับเพิ่มขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญ 

ด้วยความสามารถในการบริหารจัดการของไทยในปัจจุบัน หากเศรษฐกิจของไทยไม่เติบโตในระดับ 5% ต่อปี จำนวนคนตกงานจะเพิ่มขึ้นอย่างสะสม และที่ผ่านมาในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ระดับจีดีพีเติบโตเฉลี่ยแค่เพียง 2% ต่อปีเท่านั้น 

"วันนี้ถ้ารัฐบาลไม่คิดเปิดเศรษฐกิจ มันก็ไปไม่รอด สุดท้ายทั้งชาวบ้าน บริษัท รัฐบาลต้องกู้หนี้เพิ่ม ก็จมกับกองหนี้กันหมด คุณไปตั้งหน้าตั้งตาเรียงลำดับความสำคัญเถอะ"

ดร.ทักษิณ ยังทิ้งท้ายก่อนเข้าสู่ช่วงถามตอบประชาชนว่าวิธีรวดเร็วที่จะช่วยแก้วิกฤตประเทศตอนนี้อาจอยู่ในมือของ 2 พรรคการเมืองอย่าง 'ภูมิใจไทย' และ 'ประชาธิปัตย์' ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลอยู่ในขณะนี้

"ต้องถามพรรคภูมิใจไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ ว่าเหนื่อยรึยัง พอรึยัง ถ้าคุณถอนตัวรัฐบาลก็ไปไม่ได้ หรือไม่ก็ถามนายกฯ ว่า ท่านเหนื่อยหรือยัง ถ้าท่านเลิกโทษคนอื่นแล้วโทษตัวเองรึยัง"

"มันก็มีสองวิธี นายกฯ เบื่อก็ยุบสภาหรือลาออก ยุบสภาให้ประชาชนตัดสินใจ ถ้านายกฯ ไม่ยุบสภาหรือลาออก ก็ต้องถามพรรคร่วมรัฐบาลว่าจะถอนตัวไหม"

"ผมคิดว่าบ้านเมืองมันต้องมีทางออก ถ้าปล่อยไปอย่างนี้ นายกฯ มั่นใจในตัวเอง เก่งสร้างหนี้ เราจะติดกับดักหนี้ ไปไหนไม่รอด วันนี้มันต้องคิดว่า ถ้าพรรคการเมืองตั้งมาเพื่อประชาชน เราก็ต้องคิดว่าสถานการณ์วันนี้ ถ้านายกฯ ไม่ปรับกระบวนท่าในการใช้เงินให้เหมาะสม ถ้านายกฯ ไม่ทำแบบนี้ มันก็ถึงเวลาแล้วที่ต้องให้ประชาชนตัดสิน"

ในตอนท้ายที่สุด ดร.ทักษิณ ทิ้งท้ายจากคำถามที่ว่าหากเป็นตนเองขึ้นมาบริหารประเทศในภาวะปัจจุบัน ต้องใช้เวลาเท่าไหร่ในการพาชาติหลุดจากวิกฤต "หกเดือนทำเศรษฐกิจไทยฟื้นได้ ไม่เชื่ออย่าท้า"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;