ไม่พบผลการค้นหา
‘พรเพชร’ พอใจผลงานวุฒิสภา 2565 ยอมรับร่างแก้ไข รธน. ผ่านน้อยมากจนสังคมติง แต่ประธานฯ ไม่มีอำนาจสั่งการ มองแผนปฏิรูปประเทศคืบช้า แต่ต้องเดินหน้าต่อ เชื่อไม่ต้องรีบปิดสวิตช์ ส.ว. เพราะเหลืออีกปีเศษก็ปิดตัวเองแล้ว

วันที่ 30 ธ.ค. 2565 ที่อาคารรัฐสภา พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนรัฐสภาเนื่องในโอกาสปีใหม่ โดยได้ประเมินผลงานของวุฒิสภาในช่วงปี 2565 ที่ผ่านมาว่า ทำได้ดี อาจจะมีข้อวิจารณ์ เช่น ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ ที่ผ่านวุฒิสภาไปน้อยมาก มีเพียงการแก้กฎหมายเลือกตั้งเพียงเรื่องเดียวเท่านั้น ซึ่งต้องพัฒนากันต่อไป 

อย่างไรก็ตาม พรเพชร ระบุว่า ต้องยอมรับว่าเหตุที่ผ่านไปได้น้อย มีต้นเหตุมาจากรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจ ส.ว. ถึง 1 ใน 3 ของวุฒิสภา แต่บางครั้งก็ไม่ได้เกี่ยวกับ 1 ใน 3 แต่เป็นเพราะเสียงส่วนใหญ่ของไม่เห็นชอบเลย ไม่ว่าจะจาก ส.ส. หรือ ส.ว. เลย

"ผมนั่งเป็นประธาน หลายคนเข้าใจว่าผมสามารถจะไปสั่งการอะไรได้ จริงๆ แล้วไม่ใช่ สมาชิกเลือกผมมา หรือใครเลือกมาก็ตาม เขามองในแง่ว่า ผมมีประสบการณ์ในด้านนิติบัญญัติ ตั้งแต่สมัยผมยังหนุ่มๆ ผมก็มาอยู่ที่สภา สื่อมวลชนก็ยังมาน้อย สมัยรัฐมนตรี มารุต บุนนาค สมัยรัฐมนตรี ชวน หลีกภัย มาเป็นใหม่ๆ ผมก็มาสภาแล้ว เขาก็ไว้วางใจผมให้ทำตำแหน่งนี้ ก็เท่านี้แหละ สำหรับบทบาทของการเป็นวิป ผมก็ไม่ทราบว่าวิปฝ่ายวุฒิสภาจะมีแบ่งแยกเป็นกี่กลุ่มบ้าง แต่มั่นใจว่าแต่ละกลุ่มคงไม่ได้เห็นไปในทางเดียวกันไปตลอด"

แผนปฏิรูปประเทศเดินต่อ

สำหรับความคืบหน้าของแผนปฏิรูปประเทศ พรเพชร เผยว่า มีกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศได้ผ่านไปบ้างแล้วบางส่วน เช่น พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ แต่เท่าที่ฟังก็ยังไม่เป็นที่พอใจ ส่วน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ กำลังจะเข้าสู่การประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวันที่ 10-11 ม.ค. 2566 ที่จะถึงนี้ ก็ยังรู้สึกได้ว่ามีความไม่พอใจกัน หรือกฎหมายสำคัญอย่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานฯ ที่ทำมาตั้งแต่สมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่ติดปัญหาเพราะกระทบกับการทำงานของเจ้าหน้าที่ แต่เมื่อมาถึงรัฐสภาก็ผ่านไปได้ด้วยดี

ต่อกระแสสังคมที่มองว่า ผ่านมา 5 ปี การปฏิรูปประเทศยังคงไม่คืบหน้า ส.ว.ควรพิจารณาบทบาทของตนเองในสมัยหน้าหรือไม่ พรเพชร กล่าวว่า เรื่องนี้เห็นได้ชัดว่า พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 เคร่งครัดมาก การให้เป็นไปตามแผนปฏิรูปประเทศที่กำหนดไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญและในกฎหมาย แบ่งเป็น 2 ส่วน ในส่วนของกฎหมายก็ยังไม่เป็นที่พอใจ 

ในส่วนที่ดำเนินการโดยไม่ใช่กฎหมายก็มีมาก และเป็นส่วนที่ยาก เพราะได้เพียงเชิญมาซักถามความคืบหน้า ยังพอมีเวลาปฏิบัติอยู่ อาจจะไม่ 100% แต่ก็ต้องได้ผลประโยชน์มาตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ตั้งแต่ความตั้งใจในสมัย คสช.

"เมื่อเป็นความตั้งใจ จริงอยู่ว่าองค์กรรัฐ หรือหน่วยราชการต่างๆ อาจไม่คุ้นเคยกับสิ่งนี้ คิดว่าเป็นการชี้แจงธรรมดาตามที่มีอยู่ทุกปี แต่เรื่องนี้ทางวุฒิสภาให้ความสำคัญมาก เท่าที่ผมดู ส.ว.บางส่วนมาจากสภาปฏิรูปประเทศ มีความเข้มแข็งและพยายามดูแลประเด็นนี้ ก็คิดว่าคงต้องดำเนินการต่อไป แม้ในช่วงปิดสมัยประชุม หรือรอชุดใหม่มา ผมก็เรียนสมาชิกแล้วว่าเราต้องทำงานต่อ แม้งานด้านนิติบัญญัติยังทำไม่ได้ สภาฯ ยังไม่มี เว้นแต่เรื่องสำคัญจริงๆ"

ไม่ต้องรีบปิดสวิตช์ ส.ว.

เมื่อถามถึงข้อเสนอปิดสวิตช์ ส.ว. โหวตเลือกนายกฯ โดยการแก้มาตรา 272 แห่งรัฐธรรมนูญ พรเพชร ชี้ว่า ใกล้จะจบวาระแล้ว คงไม่มีปัญหา ไม่ต้องรีบปิดสวิตช์ ส.ว. ก็คงต้องปิดไปเองอยู่ในตัว อีกเพียงปีเศษ แต่ในความเห็นของตน ต้องตามแต่ความเห็นของสมาชิกจากทั้ง 2 สภา ว่าเห็นอย่างไร ก็ว่าตามนั้น ไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนอะไร แต่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางเรื่องที่เกรงกันว่าจะสร้างปัญหา เรื่องดังกล่าวผ่านไปแล้ว ก็ไม่อยากจะพูดกันมาก

เมื่อถามว่ามีโอกาสที่ ส.ว. จะเห็นชอบปิดสวิทช์ตัวเองก่อนหมดวาระ พรเพชร กล่าวว่า ตนพูดแทน ส.ว.ไม่ได้ พูดไปก็เป็นประเด็นเปล่าๆ แต่เชื่อมั่นว่า ส.ว.ส่วนใหญ่มีวิจารณญาณว่าทำอย่างไรจึงจะถูกต้อง ตนพูดเสมอว่าเราต้องทำงานเพื่อประเทศชาติ ที่พูดกับสมาชิกได้ก็มีเพียงเท่านี้