ไม่พบผลการค้นหา
คนเมือง ร่วมดูโคม ชมจันทร์ สร้างสรรค์งานศิลป์ เยือนถิ่นเก่า เล่าเรื่องวันไหว้พระจันทร์ ยามค่ำคืน

มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับ 3 ชุมชนย่านเยาวราช-เจริญกรุง ภายใต้โครงการวิจัย “การพัฒนาเมืองวัฒนธรรมอัจฉริยะ : กรณีศึกษาย่านเยาวราช-เจริญกรุง” ระหว่างวันที่ 13 – 22 กันยายน 2562 ณ ชุมชนเจริญไชย และ ห้างหุ้นส่วนจํากัด เอี๊ยะเซ้ง กงษี ร้านโชห่วยเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี

​โดยมี ผศ.ชัยชาญ ถาวรเวช อธิการบดี ม.ศิลปากร กล่าวว่า มีความภาคภูมิใจในการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชนกับนักวิจัยเพื่อเพิ่มศักยภาพของพื้นที่ย่านเยาวราชอันนำไปสู่การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสร้างสรรค์จากต้นทุนทางวัฒนธรรม โดยจะเป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม อัตลักษณ์และความหมายของพื้นที่ให้อยู่ได้ในสภาวะปัจจุบัน ซึ่งเวทีเสวนาเรื่อง "ไหว้เจ้า ไหว้พระจันทร์ วิถีชุมชนจีนเจริญกรุงเยาวราช" มีผู้อยู่อาศัยในพื้นที่และนักวิจัยมาบอกเล่าเรื่องราวผ่านมุมมองต่างๆ ที่น่าสนใจ  

DDB72157-7C77-40BC-AD13-4E1650D7A4A4.jpeg

ด้าน ดร.วุฒิชัย อารักษ์โพชฌงค์ จากคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมจีนและศาลเจ้าชี้ให้เห็นความสำคัญของชาวเยาวราชในการเป็นแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมทรงคุณค่าในทุกๆด้าน โดยจากงานวิจัยพบว่าศาลเจ้าในประเทศไทยมี 20,000 แห่ง แต่อยู่ที่เยาวราชถึง 50 แห่ง และในศาลเจ้าเป็นที่รวบรวมอัตลักษณ์ของคนไทยเชื้อสายจีนสะท้อนผ่านทั้งประเพณี ครอบครัว วัฒนธรรม ความเชื่อ ความผูกพันกับเทพเจ้าจีนของคนจีนโพ้นทะเลยุคบุกเบิก โดยหวังจะเห็นเสน่ห์ของชุมชนเยาวราชกลับมาอีกครั้งบนพื้นฐานประเพณีดั้งเดิม ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง แต่คงอัตลักษณ์เฉพาะไว้

​นายบดินทร์ เดชะวัฒนไพศาล ทายาทรุ่นที่ 4 ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอี๊ยะเซ้ง กงษี  หวังอยากให้คนรุ่นใหม่ภาคภูมิใจกับเยาวราช และเข้าใจลึกซึ้งถึงความหมายที่ซ่อนอยู่ในตึก อาคาร ศาลเจ้าที่คนมักมาเดินถ่ายรูปเชิงท่องเที่ยว แต่จริงๆแล้วภายใต้ตึกเก่าแก่มีต้นทุนวัฒนธรรมซ่อนอยู่ กรณีตึกเอ๊ยะเซ้งสร้างแล้วเสร็จปีพ.ศ. 2477 โดยต้นตระกูลคือนายบักเกว้ง แซ่เตีย ทีอพยพจากมณฑลกวางตุ้ง เข้ามาเช่าตึกเพื่อมาค้าขายแต่จนปัจจุบันไม่เคยเปลี่ยนแปลงตึก แม้กระทั่งบานประตูสีเขียวเก่าแก่ที่เป็นสัญลักษณ์ของร้าน ทุกมุมของอาคารสะท้อนความเชื่อของชาวจีนตามหลักฮวงจุ้ยเพื่อให้การค้ารุ่งเรือง อาคารเป็นทรงสำเภาจีนทอดยาวสะท้อนถึงการไม่หยุดนิ่ง พื้นสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดไม่เท่ากัน ในยุคโบราณเชื่อกันว่าเป็นการไหลเวียนของเงินตราตามหลักเรือสำเภา เหมือนเงินไหลวนแบบเรือ เสาคานจะไม่มีเหลี่ยม เนื่องจากเชื่อว่าดาบคมจะสร้างความเจ็บป่วย ครอบครัววิวาทกัน วิถีวัฒนธรรมจีน  เทพเจ้าในวัดจีนล้วนเป็นต้นทุนวัฒนธรรม หากหายไปอาจจะไม่สามารถกลับมาได้อีก

E405EBB5-1B6D-448E-8C71-18EBC3689125.jpeg

ขณะที่ นางสุวรรณา คงศักดิ์ไพศาล บริษัท ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ จำกัด แสดงความดีใจที่เห็นบรรยากาศเก่าๆกลับมาสู่เยาวราช โดยเฉพาะโคมโบราณที่สมัยเด็กๆ จะวิ่งตามดูโคมรูปกระต่ายสีสันต่างๆ ซึ่งไม่รู้ว่าหายไปจากชุมชนเมื่อใด เทศกาลไหว้พระจันทร์ สำหรับชาวเยาวราชเป็นเสมือนวันแห่งความรักของชาวไทยเชื้อสายจีน ในอดีตคนในครอบครัวจะมารวมตัวกันและตั้งโต๊ะไหว้เจ้าขนาดใหญ่แตกต่างจากปัจจุบันที่ตั้โต๊ะเล็กๆหน้าบ้านตัวเอง ใช้เทียนขนาดใหญ่จุดทั้งคืนตั้งแต่ 20.00-23.00 น. ส่วนของไหว้สะท้อนรายละเอียดของความรัก อาทิ ดอกไม้ โคมไฟ ขนมหวาน ซุ้มต้นอ้อย ของเจ ผลไม้ เครื่องสำอาง และของหอม เป็นต้น สำหรับขนมไหว้พระจันทร์นั้น ในชุมชนสมัยก่อนทำขนมไหว้พระจันทร์เอง ด้วยการซื้อถั่วมาอบ และบดด้วยพิมพ์ไม้เก่าแก่ ลูกหลานจะมาช่วยกันทำขนมเป็นบรรยากาศที่อบอุ่นและสนุกสนาน

​ภายหลังจากการแสวนาได้เสร็จสิ้นลง ผู้เข้าร่วมเสวนาได้เดินชมพิธีไหว้พระจันทร์วิถีชุมชนจีนเจริญกรุง-เยาวราช ตามเส้นทาง- ชมโคม ชมความงดงามของซุ้มไหว้พระจันทร์ บริเวณชุมชนเจริญไชยพร้อมรับการบรรยายจากผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ชุมชนอย่างเต็มอิ่ม 

​นอกจากนี้ ที่ร้านเอี๊ยะเซ้ง กงษี ถนนเจริญกรุง ยังได้จัดนิทรรศการแสดงผลงานของคณะอาจารย์และนักศึกษาภาควิชาต่าง ๆ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ภายใต้โครงการวิจัยการพัฒนาเมืองวัฒนธรรมอัจฉริยะ กรณีศึกษาย่านเยาวราช - เจริญกรุง

A35E679A-D79D-4FF4-B060-D33CDECFDE38.jpeg

​โดยแบ่งเป็น 4 ห้องนิทรรศการ อาทิ ผลงานผังเมืองทางสถาปัตยกรรมย่านไชน่าทาวน์เยาวราช- เจริญกรุง, ผลงานทางโบราณคดีในย่านชุมชนชาวจีน, เครื่องประดับเงิน โคมไฟไหว้พระจันทร์ ซึ่งแสดงออกถึงความสัมพันธ์ของชาวไทยเชื้อสายจีนที่อาศัยในละแวกดังกล่าว รวมถึงการจัดแสดงผลงานภาพเคลื่อนไหวเป็นต้น 

​ทั้งนี้ นิทรรศการดังกล่าวจะจัดต่อเนื่อง ตั้งแต่วันนี้ ไปจนถึงวันที่ 22 กันยายน 2562 โดยจัดแสดงระหว่างเวลา 9.00 - 16.00 น. ทุกวัน (ยกเว้นวันอาทิตย์) ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย