การเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลในไทย ที่ใช้นกหวีดเป็นสัญลักษณ์ สวนทางกับกระแสการปฏิวัติประชาชนทั่วโลก ในประวัติศาสตร์สากลร่วมสมัย ฝ่ายเสียงข้างมากของสังคมได้ลุกฮือขึ้นเรียกร้องรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ตามกติกาประชาธิปไตย
'การเมืองสีเสื้อ' ในประเทศไทย ได้เข้าสู่วิกฤตอีกครั้ง เมื่อขบวนการมวลชนที่ประกาศจะ "โค่นระบอบทักษิณ" นัดหมายรวมตัวบนถนนราชดำเนิน ในวันที่ 24 พฤศจิกายน ความเคลื่อนไหวนี้นับว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะตัว หาที่ใดในโลกไม่มีเหมือน ทั้งในแง่เป้าหมายและวิธีการ
ขบวนการโค่นระบอบทักษิณ ประกาศเป้าหมายที่จะ "ปฏิรูปประเทศไทย" แต่ไม่มีการออกคำประกาศที่ชัดเจนถึงพิมพ์เขียวการปฏิรูป ว่า หน้าตาของระบอบการเมืองยุคปฏิรูป หรือหลังจากนั้น จะเป็นอย่างไร
กลุ่มที่เรียกโดยรวมๆว่า ม็อบนกหวีด นี้ ใช้วิธีการระดมมวลชนที่ต่อต้านรัฐบาลเข้าร่วมการชุมนุม ในขณะที่รัฐบาลเองนั้นก็มีมวลชนสนับสนุนจำนวนมาก ในการขับไล่รัฐบาลที่ฝ่ายตนไม่ชอบ ม็อบนกหวีดไม่ได้เรียกร้องโอกาสแก่ผู้คนทั้งสังคม ที่จะร่วมใช้สิทธิวินิจฉัยผ่านการเลือกตั้งครั้งใหม่
ม็อบนกหวีดจึงเป็นการเมืองมวลชนที่แปลกต่างในโลก หลังจากในหลายประเทศเคยเกิดการลุกฮือของมวลชน พร้อมสัญลักษณ์การต่อสู้ที่ใช้สีสันต่างๆนับแต่คริศต์ศตวรรษ 1980 เป็นต้นมา ซึ่งเรียกกันว่า พลังประชาชน ('people power') หรือ การปฏิวัติรหัสสี ('color revolutions')
ที่ผ่านมา ในทางสากล การปฏิวัติประชาชน ล้วนมุ่งเป้าโค่นล้มเผด็จการทหาร, เผด็จการคอมมิวนิสต์, หรือผู้นำรัฐบาลพลเรือนที่ฉ้อฉลระบบเลือกตั้ง เพื่อสร้างหลักประกันว่า เจตจำนงของเสียงส่วนใหญ่ จะได้รับการเคารพ
การเมืองรหัสสี หรือ color-coded politics หรือการเมืองที่ใช้สัญลักษณ์บางอย่างเป็นแรงบันดาลใจ ระดมความสนับสนุนจากคนส่วนใหญ่ในสังคม ได้เริ่มปรากฏขึ้นที่ฟิลิปปินส์เมื่อปี 2529 ด้วยการใช้สีเหลือง
จากนั้นก็มี "การปฏิวัติกำมะหยี่" ในเชคโกสโลวะเกียเมื่อปี 2532, "การปฏิวัติดอกกุหลาบ" ในจอร์เจียเมื่อปี 2546, การลุกฮือที่ใช้สัญลักษ์ณ์ริบบิ้นสีส้มในยูเครนเมื่อปี 2547, และกรณีอื่นๆ เช่น "การปฏิวัติดอกทิวลิป" ในคีร์กิซสถานเมื่อปี 2548
ใน ฟิลิปปินส์ ประชาชนทั่วประเทศราว 1-3 ล้านคน ได้ลุกฮือขึ้นใน "การปฏิวัติสีเหลือง" เพื่อขับไล่จอมเผด็จการ เฟอร์ดินันด์ มาร์กอส ที่ปกครองประเทศยาวนาน 20 ปี หลังถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังการลอบสังหารนักการเมืองฝ่ายค้าน นินอย อาคีโน เขาต้องหนีออกนอกประเทศไปพำนักที่มลรัฐฮาวาย จากนั้น ฟิลิปปินส์ก็เข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยจนถึงปัจจุบัน
ใน เชคโกสโลวะเกีย ประชาชนได้ลุกฮือขึ้นใน "การปฏิวัติกำมะหยี่" ในปี 2532 เพื่อโค่นล้มระบอบการปกครองโดยพรรคเดียวของพรรคคอมมิวนิสต์ ชัยชนะของประชาชนได้ปิดฉากระบอบคอมมิวนิสต์ที่ดำเนินมานาน 41 ปี โดยในเดือนมิถุนายน 2532 ประเทศได้จัดการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเป็นครั้งแรกนับแต่ปี 2489
การลุกฮือครั้งนี้ถูกเรียกว่า การปฏิวัติกำมะหยี่ (Velvet Revolution) เพราะเป็นการดื้อแพ่งโดยสงบและสันติของมวลชน บางครั้งเรียกว่า การปฏิวัติโดยสุภาพ (Gentle Revolution) มวลชนที่เข้าร่วมใช้การเขย่าพวงกุญแจให้เกิดเสียงดังกรุ๊งกริ๊ง สื่อความหมายถึงการเปิดประตูที่ถูกปิดล็อคมานาน และ "เชิญพรรคคอมมิวนิสต์กลับบ้านได้แล้ว"
ใน จอร์เจีย ประชาชนได้ลุกฮือขับไล่ประธานาธิบดี เอดูอาร์ด เชวาร์ดนัดเซ ในปี 2546 ใน "การปฏิวัติดอกกุหลาบ" หลังจากเขาถูกกล่าวหาว่าโกงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การประท้วงในกรุงทบิลิซีได้ปิดฉากการปกครองนานกว่า 30 ปีของเขา ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน มิคาอิล ซาคาชวิลี ยืนยันตามผลเอ็กซิตโพลล์ว่า ตนเป็นฝ่ายชนะเลือกตั้ง
เมื่อเชวาร์ดนัดเซกล่าวสุนทรพจน์ในสภา ซาคาชวิลีได้นำมวลชนไปที่สภา โดยถือดอกกุหลาบไปด้วย แล้วประกาศขับไล่เชวาร์ดนัดเซว่า "ลาออกไป!" ทำให้เชวาร์ดนัดเซต้องหนีกลับไปที่บ้านพัก แล้วออกคำสั่งให้ทหารปราบปรามผู้ประท้วง แต่กองทัพไม่ร่วมมือ เขาจึงต้องลาออก
@ ผู้ประท้วงใช้สัญลักษณ์สีส้ม ในการชุมนุมที่จัตุรัสเอกราช ในกรุงเคียฟ เมื่อ 22 พฤศจิกายน 2547
(ภาพ : Wikipedia)
ใน ยูเครน ภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบสองในปี 2547 ประชาชนได้ลุกฮือใน "การปฏิวัติสีส้ม" ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2547 ถึงเดือนมกราคม 2548 เพราะไม่พอใจที่มีรายงานว่าทางการได้เล่นตุกติก ทำให้วิกเตอร์ ยานูโควิช มีชัยเหนือวิกเตอร์ ยุชเชนโก เมื่อศาลฎีกาสั่งให้จัดการเลือกตั้งขึ้นใหม่ ปรากฎว่า ยุชเชนโกชนะขาด ด้วยสัดส่วนคะแนน 52% ต่อ 44 %
การปฏิวัติสีส้ม ซึ่งใช้ริบบิ้นสีส้มในการรณรงค์ ทำให้เจตจำนงของประชาชนฝ่ายเสียงข้างมากได้รับการยอมรับ.
ที่มา : Goldstone, Jack A. (2011). Comparative revolutions. In G. T. Kurian (Ed.), Encyclopedia of political science (Vol. 5, pp. 1477-1478). Washington, DC.: CQ Press.
: Wikipedia.org