ไม่พบผลการค้นหา
นักมานุษยวิทยาพบว่า นิทานหนูน้อยหมวกแดง มีต้นกำเนิดเมื่อ 2,000 ปีที่แล้ว ก่อนแพร่หลายตามการย้ายถิ่นฐานของผู้คนสู่แอฟริกาและเอเชีย กลายเป็นเรื่องเล่าพื้นบ้านในจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี

นักมานุษยวิทยาพบว่า นิทานหนูน้อยหมวกแดง มีต้นกำเนิดเมื่อ 2,000 ปีที่แล้ว ก่อนแพร่หลายตามการย้ายถิ่นฐานของผู้คนสู่แอฟริกาและเอเชีย กลายเป็นเรื่องเล่าพื้นบ้านในจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี

 

ดร.จัมชิด เตหะรานี แห่งมหาวิทยาลัยเดอร์แฮม ในอังกฤษ บอกในวารสารวิชาการ PLoS ONE ว่า นิทานหนูน้อยหมวกแดง มีต้นเค้าจากนิทานมุขปาฐะ เรื่อง หมาป่ากับเด็กน้อย ซึ่งยังคงมีการเล่ากันแบบปากต่อปากในบางประเทศจนถึงปัจจุบัน

 

เตหะรานีได้อาศัยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ของนักชีววิทยาวิวัฒนาการ สืบสาแหรกของนิทานหมาป่ากับเด็กน้อย (The Wolf and the Kids) ซึ่งเริ่มแพร่หลายในยุโรปในช่วงคริสต์ศตวรรษแรก

 

เขาพบว่า นิทานหนูน้อยหมวกแดงเริ่มแตกแขนงออกมาจากเรื่องหมาป่ากับเด็กน้อยเมื่อประมาณ 1,000 ปีก่อน โดยได้กลายเป็นนิทานแบบเล่าจากปากสู่ปาก เรื่อง หนูน้อยหมวกแดง ในฝรั่งเศส ออสเตรีย และตอนเหนือของอิตาลี

 

เรื่องเล่าหนูน้อยหมวกแดง (Little Red Riding Hood) ได้กลายเป็นนิทานลายลักษณ์อักษร โดยนักเขียนชาวฝรั่งเศส ชาร์ลส์ แปร์โรต์ ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1600 ก่อนที่จะกลายเป็นนิทานกริมม์อย่างที่เราคุ้นเคยกันเมื่อ 200 ปีก่อน

 

ขณะที่หมาป่ากับเด็กน้อย ได้มีวิวัฒนาการจากการเป็นเรื่องเล่าสู่การเป็นนิทานลายลักษณ์อักษรในชื่อ หนูน้อยหมวกแดง ในยุโรปนั้น หมาป่ากับเด็กน้อยได้ถูกผู้คนที่โยกย้ายถิ่นนำไปเล่ากันในแอฟริกาและเอเชีย

 

ในจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีนั้น หมาป่ากับเด็กน้อยได้กลายเป็นนิทานเรื่อง คุณยายเสือ (The Tiger Grandmother)

 

@  นิทาน หนูน้อยหมวกแดง มีต้นกำเนิดจากวรรณกรรมมุขปาฐะ หมาป่ากับเด็กน้อย ซึ่งเริ่มเล่ากันในยุโรปเมื่อช่วงคริสต์ศตวรรษแรก

 

ดร.เตหะรานี โต้แย้งทฤษฎีที่ว่า คุณยายเสือเป็นต้นเค้าของหมาป่ากับเด็กน้อย และหนูน้อยหมวกแดง โดยบอกว่า แบบจำลองที่เรียกว่า phylogenetics ที่เขายืมมาจากสาขาวิชาชีววิทยาวิวัฒนาการ ได้ให้ผลเป็นตรงกันข้าม

 

เรื่องเล่า หมาป่ากับเด็กน้อย ซึ่งได้กลายเป็นนิทานกริมม์ของเยอรมันในชื่อ หนูน้อยหมวกแดง นั้น เป็นเรื่องราวของแม่แพะที่ปล่อยลูกๆอยู่กับบ้านขณะแม่ออกไปข้างนอก พร้อมกำชับไว้ว่า อย่าได้เปิดประตูรับใครจนกว่าแม่จะกลับ

 

แต่หมาป่าได้เลียนเสียงแม่แพะ และเอาแป้งมาทาที่เท้าให้เป็นสีขาวเหมือนแม่แพะ ทำให้ลูกแพะหลงเชื่อ เปิดประตูรับ หมาป่าจึงเข้าไปกินลูกแพะ เหลือตัวสุดท้องรอดไปได้ตัวเดียว แม่แพะได้ตามหาหมาป่าจนพบ ใช้กรรไกรตัดหน้าท้อง ช่วยลูกๆออกมาได้ จากนั้น เอาก้อนหินใส่ในท้องแล้วเย็บปิดไว้ พอหมาป่าไปกินน้ำที่ลำธารก็ตกน้ำตายเพราะหินถ่วง

 

นิทาน คุณยายเสือ ก็มีเนื้อเรื่องคล้ายกัน คือ มุ่งเตือนเด็กๆไม่ให้ไว้วางใจคนแปลกหน้า.

 

ที่มา : Daily Mail

 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
182Article
76558Video
0Blog