หากพูดถึงวรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่ของรัสเซีย หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้นเรื่อง "แม่" ซึ่งประพันธ์โดยแมกซิม กอร์กี และมีนักเขียนชื่อดังของไทย เคยนำมาแปลกันแล้วหลายคน งานเขียนชิ้นนี้มีฉากหลังเป็นการต่อสู้ของตัวละครในช่วงก่อนการปฏิวัติรัสเซีย วรรณกรรมดังกล่าวน่าสนใจอย่างไร และสัมพันธ์อย่างไรกับการปฏิวัติรัสเซีย
วรรณกรรมรัสเซียแม้ไม่เป็นที่แพร่หลายนัก เมื่อเทียบกับวรรณกรรมชั้นยอดของกวีชาวอังกฤษอย่าง เชกสเปียร์ เนื่องจากเนื้อหาที่มักอิงกับการต่อสู้ทางสังคม การเมือง ทำให้วรรณกรรมรัสเซียได้รับความนิยมในวงแคบ โดยมีวรรณกรรมไม่กี่เรื่องที่ขึ้นชื่ออย่าง "สงครามเเละสันติภาพ" ของเลียฟ หรือ เลโอ ตอลสตอย กวีผู้ยิ่งใหญ่ของรัสเซีย หรือ "อาชญากรรมและการลงทัณฑ์" ของ ฟีโอดอร์ ดอสโตเยียฟสกี
ก่อนการปฏิวัติรัสเซียจะมาถึงในปีคริสตศักราช 1917 งานวรรณกรรมรัสเซียในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 หลายงานสะท้อนถึงสภาพความเป็นอยู่อันยากลำบาก และเศร้าหมองของประชาชนในช่วงปลายราชวงศ์โรมานอฟ ราชวงศ์สุดท้ายของจักรวรรดิรัสเซีย ขณะที่แนวคิดสังคมนิยมปรากฏตัว และมีอิทธิพลต่อชนชั้นกรรมาชีพอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น
วรรณกรรมเรื่อง"แม่" ของ มักซิม หรือ แมกซิม กอร์กี เขียนระหว่างปี พ.ศ. 2449 ถึง 2450 ถือเป็นวรรณกรรมรัสเซียที่ยิ่งใหญ่เล่มหนึ่งเมื่อเทียบกับตอลสตอย หรือ ดอสโตเยียฟสกี งานเขียนเชิงอัตถนิยมสังคมนิยมชิ้นนี้ นำเสนอภาพกรรมาชีพรัสเซีย ที่ถูกนายทุนขูดรีด ท่ามกลางความอยุติธรรมของสังคม ทั้งยังต้องต่อกรกับรัฐบาลของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ที่ทำการปราบปรามอย่างหนัก จนนำไปสู่การจัดตั้งพรรคบอลเชวิค และปฏิวัติรัสเซียสำเร็จในปี 2460
กอร์กี เลือกตัวละครที่มีชีวิตในโลกเก่าภายใต้อำนาจของราชวงศ์อย่าง "แม่" เป็นตัวละครหลัก ท่ามกลางสังคมที่บีบคั้น ทำให้แม่ต้องการชีวิตที่ดีกว่าจึงเปลี่ยนความคิด เข้าร่วมและสนับสนุนขบวนการปฏิวัติ ทั้งยังมีลูกชาย หนึ่งในผู้ร่วมขบวนให้การสนับสนุน ท้ายที่สุดแล้ว เธอจึงกลายเป็นหญิงที่องอาจ และปราศจากความกลัวต่ออำนาจเหล่านั้น
วลาดิเมียร์ เลนิน หัวขบวนการปฏิวัติรัสเซีย ในปี 2460 และสหายคนสำคัญของกอร์กี ได้ยกย่องเรื่อง "แม่" ให้เป็นวรรณกรรมที่ดีที่สุด เนื่องจากแสดงให้เห็นถึงภาพการกดขี่ ที่แปรเปลี่ยนเป็นพลังการต่อสู้ และเป็นประโยชน์ต่อแรงงานชาวรัสเซียเพื่อสู้รบปรบมือกับระบอบอัตตาธิปไตยของพระเจ้าซาร์ อย่างไรก็ตาม กอร์กีไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เลนินพูด เพราะงานเขียนชิ้นนี้ ไม่อาจเป็นคำประกาศเรียกร้องให้ประชาชนลุกขึ้นสู้ต่อระบอบเก่า เพราะไม่เหมาะสมเลย
"แม่" เคยเป็นหนึ่งในหนังสือต้องห้ามในรัสเซียสมัยราชวงศ์โรมานอฟ ขณะที่ประเทศไทยเคยสั่งขึ้นบัญชีเป็นหนังสือต้องห้าม หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
ปัจจุบัน วรรณกรรมเรื่องนี้มีการแปลเป็นภาษาต่างๆกว่า 127 ภาษา รวมทั้งภาษาไทยที่มีถึง 3 สำนวน โดยผู้แปลเป็นนักคิดนักเขียนฝ่ายซ้าย ได้แก่ กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ ศรีบูรพา รวมถึง จิตร ภูมิศักดิ์ และวิริยาภา