ไม่พบผลการค้นหา
เทศกาลกินเจเริ่มต้นขึ้นแล้วทั้งในไทย และหลายประเทศทั่วโลก โชคดีที่ยุคนี้ อาหารเจมีสีสันกว่าแต่ก่อนหลายเท่า ด้วยการประดิษฐ์เนื้อสัตว์เจหลากรูปแบบที่หน้าตาแทบไม่ต่างจากเนื้อจริงๆ

culture corner ประจำวันที่ 4 ตุลาคม 2556

เทศกาลกินเจเริ่มต้นขึ้นแล้วทั้งในไทย และหลายประเทศทั่วโลก โชคดีที่ยุคนี้ อาหารเจมีสีสันกว่าแต่ก่อนหลายเท่า ด้วยการประดิษฐ์เนื้อสัตว์เจหลากรูปแบบที่หน้าตาแทบไม่ต่างจากเนื้อจริงๆ เนื้อเจที่ว่านี้ มีที่มาอย่างไร และการกินเนื้อเจ ขัดกับหลักการของการถือศีลกินเจหรือไม่  

อาหารเจหน้าตาจืดชืด เต็มไปด้วยแป้ง ผัก และเต้าหู้ขาวซีด กลายเป็นอดีตของการกินเจที่ไม่ค่อยมีผู้นิยมไปแล้ว เพราะสมัยนี้ คุณอาจเข้าไปนั่งในร้านอาหารในฮ่องกงหรือสิงคโปร์ และสั่งหมูกรอบ เป็ดย่าง หมูหัน ก่อนที่จะรู้ตัวเมื่อตักอาหารเข้าปากว่ามันทำจากเต้าหู้ หรือเนื้อสัตว์เจ ที่หน้าตาเหมือนเนื้อสัตว์จริงๆอย่างน่ามหัศจรรย์

เนื้อสัตว์เทียม มีที่มาจากประเทศไหน เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่มีใครทราบแน่ชัด แต่ว่ากันว่าผู้ที่คิดค้นเนื้อเทียมไม่ใช่พระหรือผู้ถือศีลกินเจที่ไหน แต่เกิดจากพ่อค้าเนื้อที่ประดิษฐ์เนื้อเทียมขึ้นจากแป้งและถั่วเหลือง เพื่อขายแทนเนื้อสัตว์ที่มีราคาแพง ไปๆมาปรากฏว่าเนื้อเทียมมีรสชาติดีจนลูกค้าติดอกติดใจ และได้รับการตอบรับที่ดีในหมู่นักกินมังสวิรัติ จนในที่สุดก็มีการผลิตเนื้อเทียมกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน และพัฒนาให้รูปร่าง สีสัน รสชาติ และเนื้อสัมผัส ใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อย่างเช่นเบคอนเทียม ที่มีชั้นไขมันและชั้นเนื้อเป็นเริ้วเหมือนของจริง หรือเป็ดเจ ที่มีหนังบางกรอบสีน้ำตาลน่ากิน หรือกุ้งเจ ที่ทำริ้วลายเป็นสีส้มเหมือนกุ้งต้มสุกจริงๆ

เนื้อสัตว์เทียมในท้องตลาดทุกวันนี้ มีมากมายหลากหลายจนแทบจะแทนที่เนื้อสัตว์ทุกชนิดได้หมด ทำให้อาหารเจที่ขายกันอยู่ในท้องตลาดทุกวันนี้ ไม่ต่างอะไรกับอาหารทั่วไป โดยเฉพาะในฮ่องกง ที่ได้ชื่อว่าเป็นสวรรค์ของนักกินเจและมังสวิรัติ ร้านอาหารเจในฮ่องกง มีแตั้งแต่เมนูขึ้นเหลาอย่างเป๋าฮื้อเจ เป็ดปักกิ่งเจ เป็ดย่างเจ หูฉลามเจ ไปจนถึงติ่มซำหลายร้อยชนิดที่ล้วนแล้วแต่ทำจากเนื้อสัตว์เทียม เต้าหู้ และผัก

อาหารเจแสนอร่อยเหล่านี้ ทำให้การกินเจไม่ซ้ำซากจำเจอีกต่อไป และทำให้คนรุ่นใหม่หันมากินเจกันมากขึ้น แต่ก็มีหลายๆคนเกิดความรู้สึกว่าเนื้อสัตว์เจ ทำให้การกินเจเสื่อมเสียไป

เหตุผลแรก ก็คืออาหารเจ ไม่ได้มีข้อบังคับแค่การห้ามกินเนื้อสัตว์เท่านั้น แต่ยังห้ามการกินรสหวาน เค็ม เผ็ด หรือมีการปรุงแต่งมากเกินไปอีกด้วย การที่อาหารเจเหล่านี้ปรุงแต่งรสชาติอย่างวิจิตรพิศดาร จึงถือว่าผิดหลักการกิจเจตามธรรมเนียมดั้งเดิม เป็นเพียงการกินอาหารมังสวิรัติ หรือไม่กินเนื้อสัตว์เท่านั้น

ที่สำคัญ มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าในเมื่อการถือศีลกินเจ คือการทำให้ร่างกายและจิตใจบริสุทธิ์ผ่องใส ลดละกิเลศ ไม่ติดในรูปรสของอาหาร การแสวงหาเนื้อสัต์เจ ที่เลียนแบบเนื้อจริงๆมากิน จะถือเป็นการกินเจได้อย่างไร เพราะผู้กินยังคงต้องการกินอาหารที่หน้าตาเหมือนเนื้อสัตว์ ถือว่ายังติดในรูปรสของเนื้ออยู่ดี

สุดท้ายแล้ว ดูเหมือนว่าการถกเถียงเรื่องเนื้อสัตว์เจ กลายเป็นสัญลักษณ์ของความแตกต่างระหว่างคนกินเจรุ่นเก่า กับคนรุ่นใหม่ ขณะที่คนรุ่นเก่ายังคงยึดติดกับธรรมเนียมการกินเจแบบครบสูตร ที่ต้องถือศีล นุ่งขาวห่มขาว และกินอาหารแบบพระ ไม่ติดในรสชาติ หนุ่มสาวรุ่นใหม่กลับเห็นการกินเจเป็นเพียงโอกาสในการงดกินเนื้อสัตว์ งดการเบียดเบียนเพื่อนร่วมโลก และยังได้สุขภาพที่ดีแถมมาอีกด้วย ซึ่งคนกลุ่มนี้เห็นว่าการกินเนื้อสัตว์เทียมไม่ใช่ปัญหา เพราะไม่ได้ได้มาจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต แถมยังได้รสชาติอร่อยใกล้เคียงอาหารปกติ สิ่งที่ต้องกัววล ก็มีเพียงเรื่องของสุขภาพ เพราะเนื้อสัตว์เทียมที่ทำจากแป้งปรุงรส คงไม่ตอบโจทย์ผู้ต้องการกินเจเพื่อรักษาสุขภาพอย่างแน่นอน

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
185Article
76559Video
0Blog