ย่านกุฎีจีน พื้นที่ที่ 3 ศาสนาอยู่รวมกันได้ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี กำลังจะได้รับการพัฒนาใหม่ เพื่อเพื่อให้คงถึงคุณค่าแห่งมรดกทางวัฒนธรรม
ย่านแห่งประวัติศาสตร์ในกรุงเทพฯ หลายคนคงนึกถึง บางลำภู หรือ เยาวราช แต่ยังมีย่านกุฎีจีน ที่ตั้ง 6 ชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 200 ปีด้วย ซึ่งพื้นที่นี้ ยังคงความหลากหลายทางเชื้อชาติไว้ด้วย เพราะมีทั้งชาวไทย จีน โปรตุเกส แขก ที่อยู่ร่วมกันกับวิถีชีวิต 3 ศาสนา พุทธ คริสต์ อิสลาม เหมือนสมัยกรุงธนบุรี
ชุมชนกุฎีจีน หรือภาษาชาวบ้านเรียก กะดีจีน มีโบราณสถานสำคัญเช่น โบสถ์ซางตาครู้ส โบสถ์คริสต์นิกายโรมันคาทอลิกสีเหลืองครีม สร้างในสมัยกรุงธนบุรี พ.ศ.2312 สถาปัตยกรรมโดดเด่นด้วยแบบนีโอคลาสสิค ร่ายล้อมด้วยชุมชนคนไทยจีน มัสยิดบางหลวง หรือ กุฎีขาว มัสยิดแห่งเดียวที่เป็นทรงไทย สร้างสมัยรัชกาลที่ 1 ประดับด้วยลายปูนปั้น 3 ชาติคือ ไทย จีน ฝรั่ง เจดีย์องค์ใหญ่ วัดประยูรวงศาวาสวรวิหาร สร้างในปี พ.ศ. 2371 เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและอัฐิของตระกูลบุญนาค นอกจากโบราณสถานทั้ง 3 แห่งแล้ว ภายใน 6 ชุมชนย่านกุฎีจีน ยังมีบ้านเรือนที่สื่อถึงชนชาติต่าง ๆ เช่น บ้านธนูสิงห์ร้านขนมฝรั่งกุฎีจีน ที่เริ่มมาพร้อมกับกรุงธนบุรี และปัจจุบันสืบทอดมารุ่นที่ 5 แล้ว
ด้วยอายุความเก่าแก่ของสถานที่ และการเปลี่ยนแปลงของสังคม ทำให้เกิดปัญหาความเสื่อมโทรม ขาดการบูรณะถึงเอกลักษณ์ท้องถิ่น สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงทำโครงการนำร่องปรับปรุงพื้นที่สาธารณะรอบมรดกวัฒนธรรมย่านกะดีจีน โดยมีวัตถุประสงค์แก้ไขสภาพแวดล้อมพื้นที่สาธารณะรอบมรดกวัฒนธรรม
สำหรับโครงการนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนมากมาย ร่วมสนับสนุนอุปกรณ์และวัสดุก่อสร้าง ทั้งนี้เพื่อรักษาพื้นที่มรดกทางวัฒนธรรมให้มีความยั่งยืน และพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนต่อไป
Produced by VoiceTV