นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และกฏหมาย ชี้ ฝ่ายชนชั้นนำ มีการผูกขาดโครงสร้างทางเศรษฐกิจ-การเมืองมาเป็นเวลานานแล้ว
สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย หรือ สนนท. จัดงานเสวนาทางวิชาการ "6 ปีรัฐธรรมนูญ 7 ปีรัฐประหาร 8 ทศวรรษประชาธิปไตยไทย" โดยมีนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และกฏหมายร่วมกันอภิปราย โดยชี้ให้เห็นว่าฝ่ายชนชั้นนำ มีการผูกขาดโครงสร้างทางเศรษฐกิจ-การเมืองมาเป็นเวลานานแล้ว
รองศาสตราจารย์พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในวิทยากร กล่าวถึงความเป็นมาของชนชั้นนำไทย ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย ในแง่มุมทางด้านเศรษฐกิจ โดยระบุว่า มีการผูกขาดและครอบครองเศรษฐกิจเอาไว้กับพวกพ้อง และพ่อค้าชาวจีนบางส่วน มาตั้งแต่สมัยศักดินา และยังคงมีบทบาทผูกขาดระบบเศรษฐกิจ จนถึงยุคทุนนิยมในปัจจุบัน โดยสร้างเครือข่ายทางเศรษฐกิจและการเมืองของตนเองขึ้นมา ผ่านระบบการสวามิภักดิ์
แต่กลุ่มทุนใหม่ ที่มีตัวแทนคือพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจการเมือง ผ่านช่องทางการยอมรับของคนส่วนใหญ่ของประเทศ และไม่ได้สวามิภักดิ์คล้อยตามชนชั้นนำเก่า จึงนำไปสู่การโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากเลือกตั้ง ด้วยการรัฐประหารในปี 2549 และสร้างรัฐธรมนูญปี 2550 ขึ้นมา เพื่อสกัดการกลับมาของกลุ่มทุนใหม่อีกครั้ง ซึ่งเป็นการต่อสู้ที่สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ทางด้านนายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวในแง่ปัญหาความเป็นมาของตุลาการไทย ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพื่อการปกครองของฝ่ายเจ้านาย ซึ่งการอภิวัฒน์ในปี 2475 ยังไม่ทันได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างดังกล่าว
จึงทำให้โครงสร้างตุลาการไทย มีประเพณีของการรับใช้เจ้านายมากกว่าประชาธิปไตย มีประเพณีการยอมรับการรัฐประหาร โดยอ้างความเป็นรัฐถาธิปัตย์ของผู้ก่อการ ยอมเป็นเครื่องมือของฝ่ายชนชั้นนำ และทำให้ฝ่ายตุลาการกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของอุปสรรคในการพัฒนาประชาธิปไตยของไทยในปัจจุบันด้วย
งานเสวนาในวันนี้(1ต.ค.) เป็นส่วนหนึ่งของงาน "มหกรรมสืบสานอุดมการณ์เดือนตุลา" ซึ่งจัดขึ้นโดย สนนท. เพื่อเตรียมความพร้อมนักศึกษาและนักกิจกรรม สู่การรำลึก เฉลิมฉลอง และเคลื่อนไหวสืบสานอุดมการณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในปัจจุบัน โดยจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 ถึง 28 กันยายนนี้ ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง