ไม่พบผลการค้นหา
ภาพยนตร์หลายเรื่องซาบซึ้งสะเทือนอารมณ์ยิ่งขึ้น เมื่อมีวลีที่ว่า "สร้างมาจากเรื่องจริง" ประกอบอยู่ในคำโฆษณา
ภาพยนตร์หลายเรื่องซาบซึ้งสะเทือนอารมณ์ยิ่งขึ้น เมื่อมีวลีที่ว่า "สร้างมาจากเรื่องจริง" ประกอบอยู่ในคำโฆษณา แต่ถึงอย่างนั้นก็มีภาพยนตร์ที่อ้างว่าสร้างมาจากเรื่องจริงบางเรื่องที่ผู้เชี่ยวชาญกลับเห็นว่าเป็นการบิดเบือนประวัติศาสตร์เสียมากกว่า ภาพยนตร์ดังกล่าวเป็นเรื่องอะไรบ้าง 
 
 
ภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์มักทำให้เราคล้อยตามไปกับเนื้อหาที่เชื่อได้ว่าเคยเกิดขึ้นจริงในอดีต แต่ในมุมมองของผู้สร้างภาพยนตร์ ก็อาจให้ความสำคัญกับเนื้อเรื่องแบบที่ตลาดต้องการ มากกว่าที่จะนำเสนอตามสิ่งที่เกิดขึ้นจริง จึงมีการตั้งคำถามกับภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ ว่าความจริงแล้วนั้น อิงประวัติศาสตร์มากน้อยแค่ไหน
 
 
เริ่มกันที่ภาพยนตร์การ์ตูน "โพคาฮอนทัส" เข้าฉายเมื่อปี 2538 เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความรักระหว่าง "โพคาฮอนทัส" หญิงชาวอเมริกันพื้นเมือง กับ "จอห์น สมิธ" ชายชาวอังกฤษผู้เริ่มเข้าไปตั้งรกรากในพื้นที่ เนื้อเรื่องระบุว่า โพคาฮอนทัส ช่วยชีวิตสมิธไว้ ด้วยการเอาตัวเข้าไปขวาง เพื่อไม่ให้เขาถูกทำร้าย ซึ่งตามคำบอกเล่าของสมิธเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แต่โพคาฮอนทัสเป็นเพียงเด็กอายุ 10 ขวบ เท่านั้น และพวกเขาก็ไม่ได้รักกัน แม้ว่าสุดท้ายแล้วเธอจะแต่งงานกับชายชาวอังกฤษที่ชื่อ "จอห์น" แต่ก็ไม่ใช่จอห์น คนเดียวกับที่เธอเคยช่วยไว้ก็ตาม
 
 
หนังอิงประวัติศาสตร์อีกเรื่องที่เข้าฉายเมื่อปี 2538 เช่นกัน และประสบความสำเร็จอย่างมากคือ "เบรฟฮาร์ท" ที่กำกับและนำแสดงโดย เมล กิบสัน เกี่ยวกับการปลุกระดมชาวสกอตแลนด์ เพื่อลุกขึ้นต่อสู้ปลดแอกตนเองจากอังกฤษ ที่อยู่ภายใต้การปกครองของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 
 
 
นักประวัติศาสตร์จำนวนมากแย้งว่า สถานการณ์ระหว่างสกอตแลนด์และอังกฤษในช่วงเวลานั้น ไม่ได้รุนแรงอย่างที่ภาพยนตร์พยายามตีแผ่ อีกทั้งช่วงวัยของตัวละคร เช่น พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 และอิซาเบลล่าแห่งฝรั่งเศส ก็ไม่ตรงกับความเป็นจริงที่ทั้งสองยังเป็นเด็กอยู่เท่านั้น ไม่ใช่ผู้ใหญ่อย่างในเนื้อเรื่อง
 
 
เรื่องถัดมาคือ "เชคสเปียร์ อิน เลิฟ" ที่เข้าฉายเมื่อปี 2541 นำเสนอเรื่องราวกวีเอกแห่งยุคอย่าง "วิลเลียม เชคสเปียร์" ได้แรงบันดาลใจในการเขียน "โรมิโอกับจูเลียต" จากการตกหลุมรักหญิงสาวคนหนึ่ง แต่ความจริงแล้ว นักประวัติศาสตร์คาดว่า เชคสเปียร์น่าจะลอกพล็อตเรื่องมาจากแหล่งอื่นที่ไม่ใช่ตัวเขาคิดขึ้นเอง นอกจากนี้ ภาพยนตร์ยังไม่ได้สื่อถึงคนผิวดำเท่าที่ควร ในขณะที่ลอนดอนช่วงเวลานั้น มีประชากรคนผิวดำเป็นจำนวนมาก
 
 
"แกลดิเอเตอร์" ภาพยนตร์ชื่อดังอีกเรื่องของฮอลลีวูด เข้าฉายในปี 2543 นำแสดงโดย รัสเซล โครว์ เล่าถึงแม่ทัพโรมันที่โดนกล่าวหาว่ามีความผิด หนีการลงโทษจนไปตกอยู่ในมือนักค้าทาส และกลายเป็นแกลดิเอเตอร์ หรือทาสนักสู้ ที่ต้องแสดงการเอาชีวิตรอด เพื่อสร้างความบันเทิงแก่ผู้ชมในสนาม
 
 
นอกจากอายุและการกระทำของตัวละครที่บิดเบือนไป เช่นเดียวกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์เรื่องอื่น ๆ แล้ว ผู้เชี่ยวชาญยังติติง"แกลดิเอเตอร์" ตรงรายละเอียดที่ไม่สมจริง เช่น ในสมัยนั้นยังไม่มีสุนัขพันธุ์เยอรมันเชพเพิร์ด ส่วนอักษรละตินในหนังก็สะกดผิด และสงครามที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง เป็นต้น
 
 
ภาพยนตร์เรื่องถัดมาเกี่ยวข้องกับสงครามโลกครั้งที่ 2 และนับว่าเกี่ยวข้องกับประเทศไทยเป็นอย่างมาก ก็คือเรื่อง เดอะบริดจ์ออนเดอะริเวอร์แคว หรือ สะพานข้ามแม่น้ำแคว เข้าฉายเมื่อปี 2500 สร้างจากบทประพันธ์ฝรั่งเศสชื่อ Le Pont de la Rivière Kwai ของ Pierre Boulle ซึ่งเป็นอดีตทหารผ่านศึกชาวฝรั่งเศสที่ตกเป็นเชลยของกองทัพญี่ปุ่น และเป็นแรงงานสร้างทางรถไฟสายมรณะ ที่จังหวัดกาญจนบุรี ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นเอง
 
 
ภาพยนตร์ได้ตีแผ่เรื่องราวของผู้บังคับบัญชาชาวอังกฤษออกมาว่า เป็นผู้ควบคุมเชลยคนอื่น ๆ ให้สร้างทางรถไฟอย่างแข็งขัน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว เขาเพียงต้องการให้ทหารใต้บังคับบัญชารักษาชีวิตให้อยู่รอดได้ก็เท่านั้น ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้คุณงามความดีของผู้ บังคับบัญชาชาวอังกฤษต้องแปดเปื้อน
 
 
จะเห็นว่า ภาพยนตร์ยังคงเป็นสิ่งที่ผลิตขึ้นมาเพื่อความบันเทิงเป็นหลัก แม้ว่าจะสร้างจากเรื่องจริงสมัยไหน อิงประวัติศาสตร์มากเท่าใด แต่เราก็ไม่ควรดูภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์โดยเชื่อว่าเหตุการณ์ทุกอย่างนั้นเกิดขึ้นจริง
Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog