ไม่พบผลการค้นหา
รายงานของเวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรั่ม ประจำปีนี้ระบุว่า ประเทศไทยมีศักยภาพการแข่งขันในเวทีเศรษฐกิจโลกโดยรวม ดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี โดยขยับขึ้น 1 อันดับ มาอยู่ที่ 38

รายงานของเวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรั่ม ประจำปีนี้ระบุว่า ประเทศไทยมีศักยภาพการแข่งขันในเวทีเศรษฐกิจโลกโดยรวม ดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี โดยขยับขึ้น 1 อันดับ มาอยู่ที่ 38 ช่วงนี้ เราจะพาไปเจาะลึกรายละเอียดว่า อะไรคือจุดอ่อน-จุดแข็งของไทย และชาติเพื่อนบ้านในอาเซียน มีพัฒนาการมากน้อยเพียงใด

เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรั่ม องค์กรอิสระที่ส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ เปิดเผยรายงานประจำปีเกี่ยวกับศักยภาพการแข่งขันเชิงเศรษฐกิจของประเทศต่างๆทั่วโลกระหว่างปี 2555-2556 ระบุว่า ประเทศไทยมีปัจจัยที่เอื้อต่อการแข่งขันทางเศรษฐกิจดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี โดยล่าสุด ไทยขยับจากอันดับที่ 39 มาอยู่ที่ 38 จากทั้งหมด 144 ประเทศ และเขตเศรษฐกิจที่มีการสำรวจทั่วโลกในปีนี้

รายงานชิ้นนี้แบ่งปัจจัยหลักสำหรับชี้วัดการแข่งขันในแต่ละประเทศออกเป็น 12 ปัจจัย ได้แก่
1. สถาบันที่เกี่ยวกับกฎหมาย และการบริหารจัดการ
2. ระบบสาธารณูปโภค
3. สภาพเศรษฐกิจเชิงมหภาค
4. สาธารณสุข และการศึกษาขั้นพื้นฐาน
5. การฝึกอบรม และการศึกษาขั้นสูง
6. ประสิทธิภาพของตลาดซื้อขายสินค้า
7. ประสิทธิภาพของตลาดแรงงาน
8. การพัฒนาตลาดการเงิน
9. ความพร้อมด้านเทคโนโลยี
10. ขนาดของตลาดที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการผลิต
11. ความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจ
12. นวัตกรรมทางเทคโนโลยี

จากปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมา ไทยยังคงมีปัญหาใหญ่อยู่ในปัจจัยแรก คือ สถาบันด้านกฎหมาย และการบริหารจัดการ เนื่องจากปัจจัยนี้ ไทยมีอันดับลดลงจากปีก่อนถึง 10 อันดับ มาอยู่ที่ 77 โดยสาเหตุหลักเกิดจากความไร้เสถียรภาพของรัฐบาล อันเนื่องมาจากการปฏิวัติรัฐประหาร ตลอดจนระบบราชการที่เชื่องช้า การคอรัปชั่นอย่างแพร่หลาย รวมทั้งความวิตกด้านความปลอดภัย และความไม่แน่นอนด้านการปกป้องสิทธิในการถือครองทรัพย์สิน

นอกจากนี้ ระบบสาธารณสุข และมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ย่ำแย่ ก็เป็นอีกสองปัจจัยหลักที่ขัดขวางศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจของไทย และจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ส่วนปัจจัยที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น อย่างการพัฒนาด้านเทคโนโลยี ก็เป็นอีกด้านที่ไทยยังทำได้ไม่ดีนัก โดยรายงานระบุว่า ปัจจุบันมีคนไทยไม่ถึง 1 ใน 4 ที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตาม ไทยยังคงมีจุดแข็ง โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจมหภาค ที่ขยับขึ้น 1 ขั้น มาอยู่ที่อันดับ 27 อันเป็นผลมาจากตัวเลขขาดดุลงบประมาณลดลงต่ำกว่าร้อยละ 2 ของจีดีพี และสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพี ลดลงร้อยละ 42 ในปี 2554

หากเปรียบเทียบกับชาติเพื่อนบ้านในกลุ่มประชาคมอาเซียน พบว่า ประเทศไทย จัดอยู่ในอันดับ 4 จากทั้งหมด 8 ประเทศ ยกเว้น เมียนมาร์ และลาว ซึ่งไม่ปรากฏข้อมูลในการวิจัยของเวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรั่ม ในครั้งนี้

สำหรับ 3 ประเทศอาเซียน ที่มีอันดับเหนือไทย ได้แก่ สิงคโปร์ อยู่ในอันดับ 1 ของอาเซียน และอันดับ 2 ของโลก ไม่เปลี่ยนแปลงจากปีที่แล้ว ตามด้วยมาเลเซีย อยู่อันดับ 25 ของโลก ตกจากอันดับที่ 21 เมื่อหนึ่งปีก่อน ส่วนอันดับ 3 ของอาเซียน คือ บรูไน อยู่ในอันดับที่ 28 ของโลก ไม่ขยับจากหนึ่งปีก่อนหน้านั้น

นอกจากนี้ รายงานของ เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรั่ม ยังแบ่งระดับขั้นของการพัฒนาในประเทศต่างๆ ออกเป็น 3 ขั้น อ้างอิงจากปัจจัย 12 ข้อ ที่ใช้ในดัชนีชี้วัดศักยภาพการแข่งขัน โดยกลุ่มแรก คือ ประเทศที่เศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยปัจจัยพื้นฐานอย่างทรัพยากรธรรมชาติ และแรงงานไร้ฝีมือ ก่อนพัฒนาไปสู่กลุ่มที่สอง คือ ชาติที่เศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยประสิทธิภาพการผลิต และกลุ่มสุดท้าย ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจสูงสุด โดยเศรษฐกิจของชาติกลุ่มนี้จะขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

สำหรับประเทศไทย ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่สอง คือ ชาติที่เศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยประสิทธิภาพการผลิต โดยศักยภาพการแข่งขันของชาติกลุ่มนี้ เน้นที่ปัจจัยด้านการศึกษาขั้นสูง ประสิทธิภาพของตลาดสินค้า ตลาดแรงงาน และตลาดเงินทุน ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และการมีตลาดขนาดใหญ่ทั้งใน และต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม หากไทยยังคงต้องการพัฒนาศักยภาพด้านการแข่งขันให้ดีขึ้น และก้าวไปสู่อันดับต้นๆของโลกในอนาคต ไทยจำเป็นต้องเน้นพัฒนา และคิดค้นนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ตลอดจนยกระดับความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการธุรกิจให้ดีขึ้น

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
185Article
76559Video
0Blog