เบื้องหลังการ์ตูนอนิเมชั่นสุดน่ารัก "ไฟน์ดิ้ง นีโม่" มีความจริงทางวิทยาศาสตร์ที่หลายๆ คนอาจจะไม่รู้ซ่อนอยู่
เด็กๆ และผู้ปกครองแทบทุกคนต้องรู้จักภาพยนตร์อนิเมชั่นสุดน่ารักเรื่อง Finding Nemo ที่เล่าเรื่องการผจญภัยของปลาการ์ตูนพ่อหม้าย "มาร์ลิน" ที่ต้องออกผจญภัยโลกกว้าง เพื่อตามหาลูกน้อย "นีโม" ที่โดนมนุษย์จับตัวไปเลี้ยง ในภาพยนตร์นั้นช่างสนุก และน่ารักเสียจนครองใจทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ แต่จะมีใครรู้ความจริงเบื้องหลังการ์ตูนบ้างว่าแท้จริงแล้ว ปลาการ์ตูนตัวผู้เหล่านี้ สามารถเปลี่ยนเพศได้ เมื่อถูกเร้าจากสภาวะแวดล้อมภายนอก
ตามธรรมชาติของปลาการ์ตูน จะอยู่กันเป็นกลุ่ม และในกลุ่มของปลาการ์ตูน จะมีปลาการ์ตูนเพศเมียเพียงตัวเดียว ซึ่งจะเป็นปลา ตัวใหญ่ที่สุด มักจะมีสีสันไม่ค่อยสวยงามเท่าตัวปลาการ์ตูนเพศผู้สักเท่าไหร่
และจากการทดลองพบว่า ถ้าเราลองเอาปลาตัวเมียประจำกลุ่มนั้นออกไป ปลาการ์ตูนตัวผู้ ขนาดใหญ่ที่สุด ก็จะเปลี่ยนสภาพกลายเป็นปลาการ์ตูนตัวเมียที่หายไปได้ภายใน 4 สัปดาห์ และสีสันที่เคยสดใส ก็หายตามไปด้วย
สภาวะทางเพศที่เกิดขึ้นนี้ เรียกว่า ซีเควนเทียล เฮอร์มาโฟรไดท์ (Sequential Hermaphrodite) หรือ สภาวะการเปลี่ยนเพศได้
นั่นหมาย ความว่า ตามเนื้อเรื่อง Finding Nemo ถ้าตัวนีโมเองได้กลับมาเจอกับ มาร์ลิน ที่เป็นพ่อตัวของเองอีกครั้ง ใครคนใดคนหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็นพ่อของนีโม่ ที่มีตัวใหญ่กว่า จะต้องเกิดการเปลี่ยนเพศภายใน 4 สัปดาห์
อย่างไรก็ ตาม เรื่องการเปลี่ยนเพศของสัตว์นั้นไม่ใช่เรื่องผิดแปลกธรรมชาติ เพราะยังมีสัตว์ และพืชอีกหลายชนิดที่มีสภาวะการเปลี่ยนเพศได้ หรือมีสองเพศในตัวเดียวกัน เช่น ในดอกไม้สมบูรณ์เพศอย่าง ชบา, กุหลาบ, มะลิ หรือสัตว์จำพวก ปลานกแก้ว, ไส้เดือน และหอยทาก เพราะ เหตุผลทางวิวัฒนาการ และการดำรงรักษาเผ่าพันธุ์นั่นเอง