นักวิชาการกฎหมาย ผิดหวังที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยังยอมรับอำนาจปฏิวัติในการวินิจฉัยคดี ทุจริตจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงของกทม.
นักวิชาการกฎหมาย ผิดหวังที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยังยอมรับอำนาจปฏิวัติในการวินิจฉัยคดี ทุจริตจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงของกทม. หลังพิพากษาจำคุก ประชา มาลีนนท์ 12 ปี ในคดีและจำคุก 10 ปี อดีตผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. ส่วนจำเลยคนอื่นยกฟ้อง เพราะทำตามหน้าที่ไม่เกี่ยวกับการทุจริต
องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีมติเสียงข้างมาก จำคุกนายประชา มาลีนนท์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย จำเลยที่ 2 เป็นเวลา 12 ปี ในความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือฮั้วประมูล 2542 มาตรา 12 และ 13 ซึ่งเป็นบทลงโทษหนักที่สุด และจำคุก 10 ปี พลตำรวจตรีอธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีต ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 4 ในความผิด เดียวกัน
จากกรณีที่ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ผลักดันมีการให้เร่งรัดสั่งซื้ออุปกรณ์ครุภัณฑ์บรรเทาสาธารณภัยตามโครงการพัฒนาระบบและบริหารการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2547 ฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรี ข้อบัญญัติของการบริหารราชการกรุงเทพมหานคร และระเบียบการจัดซื้อ จนทำให้การสั่งซื้อสินค้าเอื้อประโยชน์กับ บริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จำกัด จำเลยที่ 5 ในคดีนี้ ให้ได้รับประโยชน์ร้อยละ 48.77 จากงบประมาณจัดซื้อกว่า 6 พัน 6 ร้อยล้านบาท โดยไม่มีการเปรียบเทียบราคา
ส่วนนายโภคิน พลกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จำเลยที่ 1 , นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จำเลยที่ 3 และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 6 ศาลพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิด
ขณะเดียวกันศาลมีคำสั่งให้ออกหมายจับจำเลยที่ 2 เพื่อติดตามตัวมาบังคับคดีรับโทษ และให้ออกหมายจับจำเลยที่ 4 ที่วันนี้ไม่ได้มาศาลฟังคำพิพากษา โดยให้ติดตามตัวมารับฟังคำพิพากษาในวันที่ 16 ตุลาคมนี้ เวลา 09.30 น. พร้อมปรับนายประกัน 2,000,000 บาท
ส่วนจำเลยที่ 5 คือ บริษัท สไตเออร์ ศาลสั่งจำหน่ายชั่วคราวเนื่องจากมีที่ตั้งอยู่ที่ประเทศออสเตรีย
คดีนี้ นับเป็นคดีแรกที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องเอง โดยไม่ผ่านอัยการ ฟ้องจำเลยทั้ง 6 คน ซึ่งเริ่มกระบวนการจากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส.จากการแต่งตั้งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หลังการปฏิวัติรัฐประหาร 19 กันายน 2549 ที่มีนายนาม ยิ้มแย้ม เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวน
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รับคดีไว้และตั้งองค์คณะพิจารณาคดี มีการนัดพิจารณาคดีครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน 2554 เรื่อยมากระทั่งวันที่ 30 พฤษภาคมปีนี้ ศาลฯ ได้นัดไต่สวนพยานนัดสุดท้าย และให้คู่ความแถลงปิดคดี
และคำพิพากษาในวันนี้(10 ก.ย.) ส่งผลให้กรุงเทพมหานคร ได้เปรียบในกระบวนการพิจารณาคดีของคณะอนุญาโตตุลาการที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เรื่องสัญญามิชอบและอาจจะได้รับเงินที่จ่ายไปทั้ง 9 งวดคืน