เวลา 15:30 น. ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารจากสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เดินทางเข้าเยี่ยมชม Care D+ Space ศูนย์ดูแลเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ย่านปทุมวัน ซึ่งมีการใช้พื้นที่จุดให้บริการนักท่องเที่ยว (Tourist Service Center) ชั้น G เปิดเป็นศูนย์ Care D+ Space ให้บริการประชาชนในช่วงเวลา 10.00-20.00 น. ตั้งแต่ 4-11 ต.ค. นี้
โดย ชลน่าน ได้กล่าวแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลังเกิดเหตุ ตนได้เข้าเยี่ยมดูอาการผู้บาดเจ็บและญาติผู้สูญเสียแล้ว และในฐานะรัฐมนตรีว่ากระทรวงฯ ได้มอบหมายกรมสุขภาพจิต ให้จัดตั้ง “ทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต” (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team: MCATT) จากสหวิชาชีพที่ให้การช่วยเหลือ เช่น แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ นักวิชาการสาธารณสุข และทีมสุขภาพจิตสำนักงานอนามัย กทม. เพื่อประเมินสภาพจิตใจผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อม
ทั้งนี้ หลังเริ่มเปิดศูนย์ฯ ตั้งแต่วันที่ 4 ต.ค. ที่ผ่านมา ในเวลา 15:00-20:00 น. พบว่า มีผู้เข้ารับการประเมินแล้ว 23 ราย โดยเป็นผู้มีความเสี่ยงสูง 9 ราย ทุกรายได้รับคำแนะนำอย่างเหมาะสม อย่างไรก็ดี นอกจากการรับบริการที่จุด Care D+ Space สยามพารากอนแล้ว ประชาชนทั่วไปยังสามารถติดต่อขอรับคำปรึกษาทางโทรศัพท์ ผ่านสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 และ 1667 ได้อีกด้วย
สำหรับขั้นตอนขอเข้ารับการประเมินสภาพจิตใจที่ Care D+ Space เริ่มต้นจุดแรกจะเป็นการคัดกรองภาวะความเครียดและภาวะสุขภาพจิตรายบุคคล / จากนั้น จะมีการประเมินความเสี่ยง แบ่งออกเป็นกลุ่มสีเขียว สีเหลือง และสีแดง หากอยู่ในกลุ่มสีเขียว จะมีกิจกรรมเสี่ยงเซียมซีความสุข ที่มีคำทำนายเพื่อสร้างกำลังใจ พร้อมรับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพจิต / กลุ่มสีเหลือง จะได้รับคำปรึกษารายบุคคล / และผู้ที่อยู่ในกลุ่มสีแดงจะได้เข้ารับการตรวจด้วยเครื่อง Biofeedback เพื่อดูประสิทธิภาพการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติและดูระดับความเครียด หากจำเป็นต้องพบผู้เชี่ยวชาญก็ สามารถวิดีโอคอลผ่านระบบ Telemedicine ปรึกษาจิตแพทย์ที่มาจากทั้งสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา และโรงพยาบาลศรีธัญญา
ผู้สื่อข่าวถามถึงประเด็นที่สังคมตั้งคำถามว่า เด็กที่ก่อเหตุมีพฤติกรรมติดเกม ประชาชนจึงเกิดความกังวลเรื่องนี้ พญ.อัมพร กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตมีงานสุขภาพจิตโรงเรียน ซึ่งมีการดำเนินการเชิงรุก ไม่ใช่เพียงการคัดกรองและส่งต่อ แต่เด็กๆ จะต้องได้รับการดูแลพฤติกรรมเสพติด และเรียนรู้การช่วยเหลือกันเองในเบื้องต้น ทั้งนี้ ปัญหาการติดเกมที่ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับรายนี้หรือไม่ก็ตาม แต่เป็นปัญหาสำหรับเด็กที่สังคมต้องให้ความสนใจ ซึ่ง นพ.ชลน่าน ก็ให้ความสนใจอย่างยิ่ง เรื่องนี้จึงเป็นอีกหนึ่งงานสำคัญของกรมสุขภาพจิตต่อไป
เมื่อถามย้ำว่า การติดเกมเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพจิตหรือไม่ พญ.อัมพร กล่าวว่า ใช่ เพราะถ้าหากการติดเกม เด็กหมกหมุ่นกับกิจกรรมนั้นจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งการเรียน การพักผ่อน การเข้าสังคม รวมถึงสัมพันธ์ในครอบครัว เมื่อไรที่เรียกว่า ติดแล้ว ก็ถือเป็นปัญหาสุขภาพจิต แม้จะไม่ใช่โรคทางจิตเวชก็ตาม