มาตรการนี้ถูกรับรองโดย ซานดอร์ พินเตอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยฮังการี และมีเนื้อหาที่ระบุให้ผู้หญิงที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ ว่าจะต้องขอเอกสารรับรองจากสูตินรีแพทย์ที่ระบุว่า พวกเธอได้รับฟังเสียงสัญญาณชีพที่ชัดเจนของทารกในครรภ์ก่อน
ดอรา ดูโร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายขวาจัด ที่ได้ผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการทำแท้ง ได้โพสต์ข้อความลงเฟสบุ๊กเพื่อแสดงความยินดีในโอกาสที่กฎหมายฉบับนี้ผ่านการรับรอง
“รัฐบาลได้ลงมือออกนโยบายเพื่อปกป้องทารกในครรภ์จากการทำแท้ง มันจะมีช่วงเวลาไม่กี่วินาทีที่ทารกในครรภ์สามารถสื่อสารกับแม่ของพวกเขาได้ ก่อนที่จะเริ่มต้นกระบวนการทำแท้ง” ดูโรโพสต์ข้อความ “กฎหมายเกี่ยวกับการทำแท้งจะต้องไม่เป็นอะไรที่แก้ไขไม่ได้ในประเทศของชาวคริสต์ที่ดี เรามาร่วมเขียนประวัติศาสตร์กัน”
การทำแท้งในประเทศฮังการีถูกกฎหมายมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1950 โดยในกรณีทั่วไป ผู้หญิงสามารถเข้ากระบวนการทำแท้งได้จนถึงสัปดาห์ที่ 12 ของการตั้งครรภ์ แต่ก็มีบางกรณีที่สามารถทำได้จนถึงสัปดาห์ที่ 24
ทั้งนี้ มีนักการเมือง กลุ่มประชาสังคม และ ส.ส.ฮังการีบางคนได้ออกมาโจมตีมาตรการใหม่ของรัฐบาล
“รัฐบาลฮังการีกำลังค่อยๆ แบนการทำแท้งอย่างเงียบๆ โดยไม่ถามความยินยอมจากผู้หญิง” ทิเมอา ซาโบ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านกล่าว “นี่เป็นอีกครั้งที่ผู้ชายตัดสินชะตากรรมของผู้หญิง”
“ไม่มีใครอยากทำแท้งเป็นงานอดิเรก การปฏิเสธความช่วยเหลือแก่ผู้หญิงโดยไม่ถามความเห็นจากพวกเขานั้นป่าเถื่อน ขี้โกง และน่าขยะแขยง” ซาโบกล่าวเสริม พร้อมกับเรียกร้องให้กระทรวงมหาดไทยถอนมาตรการดังกล่าวโดยทันที
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกกฎหมายฉบับนี้ว่าเป็น “การเดินถอยหลังที่น่ากังวลใจ”
“การตัดสินใจที่ปราศจากการปรึกษาจะทำให้การเข้าถึงการทำแท้งยากขึ้น และจะสร้างบาดแผลในใจให้กับผู้หญิงที่เผชิญสถานการณ์ความยากลำบากอยู่แล้ว” อารอน ดิมีเทอร์ โฆษกของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว
กระทรวงมหาดไทยกล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันจันทร์ (12 ก.ย.) ว่า เกือบ 2 ใน 3 ของคนฮังการีเชื่อมโยงการเริ่มต้นชีวิตของเด็กกับการเต้นของหัวใจครั้งแรก และยังกล่าวอีกว่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ในปัจจุบันสามารถตรวจจับสัญญาณชีพของทารกได้ในช่วงสัปดาห์แรกๆ ของการตั้งครรภ์ ซึ่งจะสามารถให้ข้อมูลที่ครบถ้วนแก่สตรีมีครรภ์ได้มากกว่าเดิม
รัฐบาลชาตินิยมของฮังการี ซึ่งนำโดย วิกเตอร์ ออร์บาน นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน มักแสดงท่าทีว่าตนเองเป็นผู้ปกป้องคุณค่าความเป็นครอบครัวแบบดั้งเดิม และได้ออกนโยบายลดหย่อนภาษีและให้เงินสนับสนุนแก่ครอบครัวที่มีลูกมากกว่าหนึ่งคน
ตั้งแต่ออร์บานขึ้นสู่อำนาจอีกครั้งในปี 2553 เขาก็ได้วางมาตรการเกี่ยวกับการคุมกำเนิดเพิ่มขึ้นมากมาย ทำให้ฮังการีอยู่ภายใต้ระบอบการปกครองที่เป็นอนุรักษนิยมและเคร่งศาสนามากขึ้น โดยในปี 2554 รัฐบาลฮังการีได้ใช้ทุนของสหภาพยุโรปในการทำแคมเปญต่อต้านการทำแท้ง ซึ่งทำให้คณะกรรมาธิการยุโรปไม่พอใจอย่างมาก
“เป็นผู้หญิงเสมอที่ต้องทนทุกข์กับรัฐบาลฝ่ายขวา เพราะอิสรภาพเหนือร่างกายของพวกเขาจะต้องถูกท้าทาย พวกเขาถูกบอกว่าต้องใช้ชีวิตยังไงและต้องทำอะไรกับร่างกายของตัวเอง” สกา เคลเลอร์ ส.ส.จากเยอรมนีกล่าว “ดิฉันคิดว่ามันเป็นเรื่องเลวร้ายที่รัฐบาลคิดว่าพวกเขาสามารถควบคุมร่างกายของผู้หญิงได้ แต่มันก็เกิดขึ้นทุกที่”
ที่มา: