การเมืองไทยหลังวันที่ 7 มีนาคม คือการขีดเส้นแบ่งที่ชัดเจนในหลายเรื่อง โดยเฉพาะที่ปรากฎในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
“หลักการพื้นฐานว่าด้วยการดำรงอยู่เหนือการเมือง และความเป็นกลางทางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามนัยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 6/2543 ข้างต้น สอดคล้องกับหลักการว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ครองราชย์ มิใช่ผู้ปกครอง เป็นหลักการของหลักประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐ กล่าวคือ สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นบ่อเกิดแห่งความชอบธรรมของระบบการเมือง เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติ และรวมกันเป็นปึกแผ่นของคนในชาติ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ ใช้อำนาจอธิปไตยทางการเมืองแบบสภาผู้แทนราษฎร”
“การกระทำของพรรค ทษช. ที่เสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ ในนามพรรคการเมืองเพื่อแข่งขันกับพรรคอื่น ในการรณรงค์หาเสียง และกระบวนการให้ความเห็นชอบบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการกระทำที่เล็งเห็นได้ว่า ส่งผลให้ระบอบการเมือง การปกครองไทย แปรเปลี่ยนไปสู่ระบอบพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีพระบรมวงศานุวงศ์ทำหน้าที่ใช้อำนาจทางการเมืองปกครองประเทศ สภาพการณ์เช่นนี้ทำให้หลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงครองราชย์ มิใช่ปกครอง ถูกเซาะบ่อนทำลาย หรือเกิดความเสื่อมทรามให้ถูกทำลาย”
จึงมีมติเอกฉันท์ให้ยุบพรรค ทษช. และจึงให้เพิกถอนสิทธิกรรมการบริหารพรรค ทษช. ที่ดำรงตำแหน่งในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 อันเป็นวันที่มีการกระทำผิด มีกำหนด 10 ปี มีผลนับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรค ทษช.
สำหรับตุลาการเสียงข้างมาก 6 เสียง เห็นว่า ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคมีกำหนดเวลา 10 ปี ส่วนตุลาการฝ่ายข้างน้อย 3 เสียง เห็นว่าให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคมีกำหนดเวลาตลอดชีพ กรณีนี้จึงถือเอากำหนดเวลา 10 ปี ตามมติของตุลาการเสียงข้างมาก 6 เสียง
อีกหนึ่งควันหลงของการเมืองหลัง 7 มีนาคม คือกำลังใจจากคนการเมืองไปยังกรรมการบริหารพรรค ทษช.
เช่นที่ “อนุทิน” แห่ง “พรรคภูมิใจไทย” กล่าวว่า “คุณปรีชาพล พงษ์พานิช คุณมิตติ ติยะไพรัช อายุนิดเดียวเอง ยังมีโอกาสทำงานอีกมาก ผ่านพ้นไป 10 ปี ท่านกลับมาใหม่ ยังอายุน้อยกว่าผมตอนนี้อีก อารมณ์แบบนี้ ผมเคยเจอมาแล้ว ห่างหายการเมืองไป 5 ปี ก็กลับมาใหม่ได้ ส่วนตัวรู้สึกเห็นใจ และเป็นกำลังใจให้”
เช่นที่ “กัญจนา ศิลปอาชา” แห่ง “พรรคชาติไทยพัฒนา” กล่าวว่า “เรื่องนี้ไม่ขอก้าวล่วงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ในฐานะนักการเมือง และพรรคการเมืองด้วยกัน เข้าใจความรู้สึกที่อาจเกิดขึ้นได้ดี”
อีกหนึ่งควันหลงที่กล่าวถึงกันมาก คือ แถลงการณ์ของพรรคอนาคตใหม่หลังยุบพรรค ทษช. โดย “ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ยืนแถลงด้วยตัวเอง เป็นการยิงตรงไปที่ ปัญหา “ตุลาการภิวัฒน์” ซึ่งสั่งสม ทับถม สร้างความเสียหายให้สังคมไทย ต่อเนื่องทศวรรษเศษ
“ขบวนการตุลาการภิวัตน์ หรือการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมืองตลอดกว่าทศวรรษ ไม่ได้ช่วยให้ความขัดแย้งทางการเมืองลดลง แต่กลับทำให้ระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจถูกตั้งคำถาม จนกลายเป็นว่า ฝ่ายหนึ่ง ก็มองว่ารัฐบาลเสียงข้างมากใช้อำนาจโดยมิชอบ อีกฝ่ายหนึ่ง ก็มองว่าองค์กรตุลาการและองค์กรอิสระต้องการทำลายฝ่ายเสียงข้างมาก สภาพการณ์เช่นนี้ นำมาซึ่งการแตกขั้วทางการเมืองจนถึงที่สุด จนสังคมไทยไม่อาจหาฉันทามติได้”
ด้วยเหตุดังนี้ “พรรคอนาคตใหม่เห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อออกแบบความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการเมืองต่างๆ ให้ได้ดุลยภาพ เคารพเสียงข้างมากพร้อมกับคุ้มครองเสียงข้างน้อย สร้างระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ องค์กรตุลาการ และองค์กรอิสระที่ได้มาตรฐานตามแบบประชาธิปไตยสากลและสามารถควบคุมมิให้เสียงข้างมากใช้อำนาจโดยมิชอบได้ โดยต้องไม่ตกเป็น “เครื่องมือ” ในการกวาดล้างทางการเมือง”
แต่ที่จับใจอย่างยิ่ง คือคำกล่าวขอบคุณ และคำกล่าวอำลาของ “ปรีชาพล พงษ์พานิช” ในฐานะหัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ
"จากที่ได้รับฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ผมและกรรมการบริหารพรรคในฐานนะ ทษช. ยืนยันว่า เราได้น้อมรับพระราชโองการเมื่อวันที่ 8 ก.พ. ไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม ด้วยความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงค์ทุกพระองค์ ซึ่งคำวินิจฉัยเป็นไปตามที่สื่อมวลชนได้รับทราบแล้ว ผมและคณะกรรมการบริหารพรรครู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ่ง
การยุบพรรคส่งผลกระทบต่อสิทธิ และเสรีภาพทางการเมืองขั้นพื้นฐาน อย่างน้อยก็กระทบต่อผู้สมัครของพรรค และพี่น้องประชาชนที่มุ่งหน้าจะไปสู่การเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคมนี้ ผมขอขอบคุณทุกกำลังใจจากพี่น้องประชาชนพรรคการเมือง แม้พรรคทษช. จะมีอายุที่ไม่ยาวเพียง 4 เดือนเท่านั้นที่เริ่มก่อร่างสร้างตัว แต่ก็ได้รับความเมตตาจากพี่น้องประชาชน จำนวนมาก เราพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด อยากเห็นบ้านเมืองไปในทิศทางที่ดี และอยากทำสิ่งดีๆให้กับบ้านเมือง โดยมีเจตนาบริสุทธิ์ตลอดระยะเวลาที่ทำงานมา
ผมเรียนว่า ผมขอขอบคุณผู้สมัครและพี่น้องประชาชนที่เดินเคียงข้างกันมาตลอด ถึงแม้ว่ามันจะไปไม่ถึงสิ่งที่เราปรารถนา แต่ผมก็ขอขอบคุณทุกๆคน ปัญหาบ้านเมืองมีมาก คนที่อยู่ก็ต้องทำงานกันต่อไป
สำหรับผมและกรรมการบริหารพรรค ไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานะอะไรก็ตาม เราจะทำให้เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง เราทุกคนปรารถนาดีต่อบ้านเมือง ไม่มีใครคิดร้าย ผมอยากให้พวกเราทุกๆคนทำหน้าที่ของตนเอง แม้ว่ากรรมการบริหารพรรคจะถูกเพิกถอนสิทธิ์ทางการเมือง ผมเชื่อว่าในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่งสามารถทำประโยชน์ให้บ้านเมืองได้ไม่ว่าทางใดทางหนึ่งก็ตาม ในฐานะคนไทยผมขอขอบคุณพี่น้องประชาชนอีกครั้งหนึ่ง
ขอบคุณมากๆ สำหรับกำลังใจ
เราคงได้พบกันใหม่เมื่อมีโอกาส"
เกมส์การเมืองหลัง 7 มีนาคม จึงยิ่งเต็มไปด้วยสัญญาณลบต่อพรรคการเมืองฝั่งประชาธิปไตยที่เหลืออยู่ เฉพาะหน้า เห็นได้จาก “ธนาธร/พรรคอนาคตใหม่” ที่ได้รับการโจมตีอย่างหนักจากสื่อฝ่ายขวา ในระดับที่พร้อมสาดโคลน ป้ายสีทุกรูปแบบ เห็นได้จาก “พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์/พรรคเสรีรวมไทย” ได้รับการส่งสัญญาณแรงจากกองทัพ โดยเฉพาะที่ผ่านพิธีกรรมเมื่อวันก่อน และขึ้นป้ายประจานยังป้ายโฆษณาจอแอลอีดี ภายในกองทัพภาคที่ 1 ขณะที่พรรคแม่อย่าง “พรรคเพื่อไทย” ก็เผชิญกับปัญหาคณิตศาสตร์การเมืองที่ไม่นิ่ง อันเป็นผลกระทบจากการยุบพรรค ทษช. รวมถึงความสุ่มเสี่ยงทางข้อกฎหมาย ซึ่งบางฝ่ายพร้อมหยิบยกมาเล่นงานทั้งก่อนและหลังเลือกตั้ง!!