ไม่พบผลการค้นหา
ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเตรียมขอรัฐบาลจัดสรรงบประมาณเข้า 'กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐากราก' เติมเงินลงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กันเงินขาดมือ เพราะต้องใช้ดูแลผู้ถือบัตรหลายล้านคนไปถึง ก.ย. 2562 พร้อมจับมือคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เก็บข้อมูลวิจัยเพิ่มประสิทธิภาพโครงการ

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค.เตรียมเสนอรัฐบาลขอจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเข้ากองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากสำหรับใช้ในโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เนื่องจากประเมินแล้วว่าจะมีงบประมาณเหลือเพียงพอใช้ในโครงการต่างๆ ผ่านบัตรถึงช่วงเดือน เม.ย.นี้เท่านั้น แต่ยังมีบางโครงการที่จะต้องอุดหนุนดูแลประชาชนไปจนถึงเดือน ก.ย. 2562 ทำให้งบประมาณไม่เพียงพอ

เนื่องจาก ขณะนี้มีการใช้งบผ่านบัตรคนจนเฉลี่ยเดือนละ 3-4 พันล้านบาท หรือปีละไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งจำนวนเงินดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อฐานะทางการคลัง

ทั้งนี้ สศค.มั่นใจว่า รัฐบาลชุดใหม่ยังสนใจที่จะเดินหน้าโครงการสวัสดิการแห่งรัฐต่อไป เพราะเท่าที่ดูจากนโยบายหลาย ๆ พรรคการเมืองแล้วก็ไม่เห็นพรรคการเมืองใดจะยกเลิก ซึ่งคาดว่าหลังการเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค.นี้จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ได้แล้วเสร็จในช่วงเดือนปลาย พ.ค.-มิ.ย. 2562 จากนั้น สศค.ก็เตรียมเสนอรัฐบาลใหม่พิจารณามาตรการต่าง ๆ ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทันที เพราะจะต้องใช้งบประมาณปี 2563 รองรับการดำเนินการ

โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบการขึ้นทะเบียนผู้มีรายได้น้อยรอบใหม่ให้มีความเหมาะสม และมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยการลงทะเบียนคนจนรอบใหม่ หากจะให้ลงทะเบียนทั้งครอบครัวนั้นทำได้ยาก ดังนั้นจำเป็นต้องลงทะเบียนเป็นรายบุคคล และให้สิทธิเป็นรายบุคคลต่อไป แต่จะต้องใช้ข้อมูลครอบครัวมาเป็นเกณฑ์ประกอบ ต้องมีการการจัดรุ่นอายุ เช่น ครอบครัวนี้มีผู้บรรลุนิติภาวะ หรืออายุเกิน 20 ปี ก็ต้องนำเกณฑ์รายได้มาพิจารณาประกอบด้วย

จับมือคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ วิจัยเพิ่มประสิทธิภาพโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

นอกจากนี้ สศค.ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมมือวิจัยเรื่องออกแบบ พัฒนา และเพิ่มประสิทธิภาพ ในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ กับ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยจะใช้เวลาวิจัยประมาณ 3-4 เดือน เพื่อเก็บเป็นข้อมูลการลงทะเบียนจากผู้ลงทะเบียนในโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 14.5 ล้านรายให้กับ สศค. ในการกำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือ ตรงจุด รายภูมิภาคมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้รัฐใช้จ่ายงบประมาณสำหรับดูแลผู้มีรายได้น้อยให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด

โดย สศค. จะนำผลลัพธ์จากการวิเคราะห์และวิจัย ไปใช้ในงานเชิงนโยบายของ สศค. ในอนาคตด้วย เพื่อให้นโยบายการลดความยากจนและช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :