ไม่พบผลการค้นหา
หนีไม่พ้นจากการถูกวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้ง หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กล่าวในฐานะประธานในพิธีเปิดสัมมนาวิชาการระดับชาติ  เรื่องความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 15 ในหัวข้อ “ทศวรรษใหม่ วิถีใหม่ ขับขี่ปลอดภัยต้องมาก่อน”

“วันนี้หลายอย่าง ความแออัดทางถนน มันก็มีอยู่อย่างหนึ่ง คือถนนยิ่งติด เอ้ยรถมันติด อุบัติเหตุก็น้อย ไม่ตาย อย่างน้อยก็ไม่ตาย รถวิ่งเร็วไม่ได้ แต่บางพื้นที่บ้านเรา ถนนไปดูสิครับเทียบกับถนนบ้านอื่น ถือว่าดีมากนะ ขับกันสบายโล่งแจ้ง แต่ความเร็วไม่เบรกกันสักคน เพราะฉะนั้นทุกอย่าง จิตสำนึก ถึงคนอื่น” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวท่ามกลางความมึนงงของประชาชน

พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้ย้ำอีกว่า “ผมก็อยู่มานานในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แน่นอนรู้ปัญหา วิธีการแก้ปัญหาในปัจจุบันมีอยู่ แต่ทำได้ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะความร่วมมือยังไม่เกิด นี่คือปัญหาเช่นเดียวกับทุกปัญหาของประเทศไทย ซึ่งต้องกลับมาโทษที่ตัวเองว่าผมทำไม่ได้ ผมไปโทษใครไม่ได้อยู่แล้ว แต่ก็ต้องทำต่อไป สิ่งที่พูดในวันนี้ อยากให้ทุกคนคิดในบริบทที่มันกว้างกว่าเดิม ถ้าพอยท์เป็น 1 2 3 4 5 มันก็จะกลับมาแบบเดิม…”

เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนแบ่งออกเป็นหลายฝ่าย แต่จำนวนไม่น้อยมองว่าคำพูดของนายกรัฐมนตรีไทยขาดซึ่งหลักฐานที่ชี้ชัดว่าอัตรารถติดที่มีมาก ย่อมแปรผันตามกันกับอัตราการเกิดอุบัติเหตุที่ลดต่ำลง หากพิจารณาจากงานวิจัยในต่างประเทศแล้วจะพบว่า ข้อสันนิษฐานดังกล่าวของนายกรัฐมนตรีไทยนั้นผิดถนัด

งานวิจัย ‘On the relationship between congestion and road safety in cities’ หรือที่แปลเป็นไทยว่า ‘ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างความแออัดและความปลอดภัยทางถนนในเมืองต่างๆ’ ซึ่งทำขึ้นโดยมหาวิทยาลัยบาร์เซโลน่าของสเปน ในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างรถติดใน 129 เมืองของยุโรป กับอัตราการตายจากอุบัติเหตุทางถนน ระหว่างปี 2551 ถึง 2560 ผลวิจัยพบว่า อัตราการตายจากอุบัติเหตุทางถนนนั้นมีพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อเมืองใหญ่มีระดับรถติดเกิน 30% ขึ้นไป

งานวิจัยยังพบอีกว่า อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจะพุ่งสูงขึ้นในเมืองที่มีประชากรหนาแน่น ความหนาแน่นของการจราจรในไม่กี่จุด อาจนำมาสู่ผลลัพธ์ทางความปลอดภัยที่ย่ำแย่ลง ทีมวิจัยพบว่าเมื่อนำตัวแปรของความหนาแน่นในการจราจรมาชี้วัดแล้วจะพบว่า อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุนั้นกลับพุ่งสูงขึ้นตามกันไปด้วย

งานวิจัยชี้ว่า อัตราการผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุในเมือง มีสัดส่วนที่สูงมากในบรรดากลุ่มตัวอย่างประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป เนื่องจากผู้สูงอายุมักเป็นกลุ่มเปราะบางต่อการเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ทั้งนี้ ผลลัพธ์อัตราการเสียชีวิตที่สัมพันธ์กับความหนาแน่นของการจราจรจะลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับเมืองที่มีสัดส่วนมอเตอร์เวย์ที่มีมากกว่าเมืองอื่นๆ งานวิจัยชี้ว่า คุณภาพของถนนที่ดี จะช่วยปรับปรุงความปลอดภัยบนท้องถนนได้ ขัดแย้งกันกับข้อสันนิษฐานว่าอัตรารถติดที่มีมาก จะช่วยให้อัตราการเกิดอุบัติเหตุลดลงอย่างที่นายกรัฐมนตรีไทยกล่าว

งานวิจัยของมหาวิทยาลัยบาร์เซโลน่าแนะนำว่า เมืองใหญ่ควรมีการปรับเปลี่ยนนโยบายด้านการคมนาคม ที่จะส่งผลให้เมืองเกิดการเคลื่อนตัวที่ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพโดยเร็ว เพื่อช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุจากอัตรารถติดที่มีมากได้ 

ผลลัพธ์ของงานวิจัย อาจขัดกันกับสัญชาตญาณพื้นฐาน อย่างไรก็ดี งานวิจัยชี้ว่าอัตราส่วนปริมาณการจราจรต่อความจุของถนนที่เพิ่มขึ้น ควรใช้วิธีการลดความเร็วเฉลี่ยลง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุที่น้อยลงตามไปด้วย งานวิจัยสรุปว่า ผู้บริหารเมืองและผู้ออกแบบเมืองควรบริหารการจราจรให้อัตรารถติดในเมืองมีไม่ควรเกินกว่า 30% ในระดับเวลาปกติ เพื่อลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุ ที่จะเพิ่มขึ้นเมื่อมีอัตรารถติดที่มากขึ้น


ที่มา:

http://diposit.ub.edu/dspace/bitstream/2445/183916/1/716675.pdf?fbclid=IwAR19-Gksc-Oq3yHlSEqcSxwrbLOolvCPErXvc998pBSFv9xQYtgwA4Ibr_s