วันที่ 24 มิ.ย. 2566 ที่พรรคเพื่อไทย มีการจัดกิจกรรมพรรคเพื่อไทยชวนจิบมินต์ช็อคนอนดูหนังเสวนาเดือน Pride โดย เศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย กล่าวในงานเสวนาแลกเปลี่ยนความหลากหลายทางเพศเนื่องในเดือนไพรด์ ว่า การที่เราเรียกร้องให้สิทธิเท่าเทียมกับกระแสหลัก หลายภาคส่วนเข้าใจผิดคิดว่ามีสิทธิมากกว่า ทำให้หลายคนที่ไม่เข้าใจ และยังต่อต้าน
ในส่วนของพรรคเพื่อไทย เรื่องความหลากหลายทางเพศนั้น ให้โอกาสตรงนี้อย่างมาก ไม่ใช่แค่พูด แต่เราทำด้วย เช่น สมรสเท่าเทียม ที่เราให้ความสำคัญอย่างมาก แต่ไม่ได้หมายว่าทำแล้วจะง่าย เพราะต้องผ่านการถกเถียงในพรรคอยู่มาก สิ่งที่สำคัญคือต้องให้มันเกิดก่อน แต่ในเรื่องการปฏิบัตินั้น กฎหมายลูกจะตามมา เช่น การเลือกใช้คำนำหน้า เราต้องมองข้ามประเด็นเล็กๆ ไปก่อน เราต้องให้เรื่องใหญ่มันผ่านไปก่อน เพื่อทำให้สังคมที่อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
ในส่วนของภาคการเมือง เศรษฐา กล่าวว่า แรงกดดันทางสังคมด้านการขับเคลื่อนเรื่องเพศนั้นเป็นแรงที่ดี เพื่อให้รัฐบาลได้ทำในสิ่งที่เคยหาเสียงไว้ และตอนนี้ LGBTQ+ เป็นคนกลุ่มใหญ่แล้ว และมันจะไม่หวนกลับไปเหมือนตอนที่ถูกสังคมกีดกัน
ขณะที่ภาคธุรกิจของภาพยนตร์ LGBTQ+ เศรษฐา มองว่า ต้องทำให้มันเป็นกระแสนิยม อย่างเช่น การบินไทยจะมีภาพยนตร์ที่ฉายบนเครื่องบิน ถ้าเราผลักดันให้ภาพยนตร์ไทยที่เกี่ยวกับ LGBTQ+ เข้าไปฉายในการบินไทยได้ และสื่อสารอย่างชัดเจนเพื่อความเท่าเทียม ไม่ใช่สิทธิพิเศษ ก็จะทำให้สารไม่ถูกบิดเบือน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในงานเสวนาดังกล่าวยังมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ ชานันท์ ยอดหงษ์ ผู้รับผิดชอบนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลาย ภาวิน มาลัยวงศ์ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง "6 ทศวรรษของเควียร์ในภาพยนตร์" ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ กรรมการสมาคมเพศวิถีศึกษา-กรรมการมูลนิธิพิทักษ์สตรี อีกทั้งยังมีการฉายภาพยนตร์เรื่อง Little Girl อีกด้วย
ทั้งนี้ Thinklab ร่วมกับคณะนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลาย พรรคเพื่อไทย ได้จัดกิจกรรมชวนจิบมินต์ช็อค นอนดูหนัง ฟังเสวนาในกิจกรรม ‘ในนามของความรัก’ ฉลองเดือนไพรด์เอย ไพรด์ใจ ที่ ThinklLab พรรคเพื่อไทยวันที่ 24, 25 มิ.ย. และวันที่ 1, 2 ก.ค.นี้ ตั้งแต่เวลา 13.30 น. เป็นต้นไป ดูหนังสั้น หนังสารคดี ว่าด้วยความรักที่หลากหลาย แล้วเสวนาแลกเปลี่ยนกับคนทำหนัง ไม่ว่าจะเรื่อง เพศ ความรัก ความเหงา ซอฟต์พาวเวอร์
โดยมี ชานันท์ ยอดหงษ์ ผู้รับผิดชอบนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลาย เป็นวิทยากรร่วมเสวนากับผู้กำกับภาพยนตร์
สำหรับโปรแกรมหนังและผู้ร่วมเเสวนา
วันเสาร์ที่ 24 มิ.ย. 2566
- Little Girl (Documentary: บรรยายไทย)
วันอาทิตย์ที่ 25 มิ.ย. 2566
- Rt,call (Fiction: ไม่มีบรรยายไทย)
- ยามตะวันลับ (Fiction)
- Me Myself, mrs.Orrachon (Documentary: ไม่มีบรรยายไทย)
ร่วมเสวนากับ อธิพัฒน์ เลิศกรกิจจา ผกก. เรื่อง ”ยามตะวันลับ” และ เนติพงษ์ สิงหะ ผกก. เรื่อง “Me Myself, mrs.Orrachon”
วันเสาร์ที่ 1 ก.ค. 2566
- คะนึงถึงทุกครา (Fiction) ร่วมเสวนากับผู้กำกับ ธนภัทร งามเงินวรรณ หลังฉายหนัง
วันอาทิตย์ที่ 2 ก.ค. 2566
- Concrete Wall (Fiction)
- ในนามของความรัก (Fiction)
ร่วมเสวนากับเพชรรัตน์ กลิ่นเทศผู้กำกับเรื่อง “Concrete Wall” หลังฉายหนัง
สามารถ ลงทะเบียนได้