ไม่พบผลการค้นหา
อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพแจงแนวคิดออก พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดชอบบุคลากร สธ.เพื่อคุ้มครองผู้ทำงานในช่วงภัยพิบัติโควิด-19 ไม่คุ้มครองกรณีประมาทเลินเล่อ ย้ำถ้าเกิดความเสียหายกับประชาชนยังไม่ตัดสิทธิเยียวยา ด้านเลขาธิการแพทยสภา ย้ำรัฐยังต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น

วันที่ 9 ส.ค. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข  นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวถึงแนวคิดการออก พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดชอบสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)ว่า โรคโควิด-19 เป็นโรคอันตราย และประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นภัยพิบัติต่อสาธารณะ การระดมสรรพกำลังทุกภาคส่วนมาดูแลประชาชนให้พ้นจากภาวะภัยพิบัติเป็นเรื่องสำคัญ แต่โรคนี้ใหม่มาก แนวทางการรักษาวิธีการเมื่อจำนวนมากขึ้นจากการระบาดมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ เรื่องวัสดุอุปกรณ์ ห้องต่างๆไม่พอจึงต้องเปิดโรงพยาบาลสนาม โดยเบื้องต้นกระทรวงสาธารณสุขมอบหมายให้ตั้งคณะทำงาน โดยให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพเป็นหน่วยงานหลัก มีผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆมาช่วยดูแลเพื่อคุ้มครองผู้ทำงานช่วงภัยพิบัตินี้

พ.ร.ก.ดังกล่าวจะคุ้มครองบุคลากรด้านสาธารณสุข ผู้ประกอบการด้านวิชาชีพสาธารณสุข ประกอบศิลปะโรคต่างๆ อาสาสมัครสาธารณสุขต่างๆ และคณะบุคคลที่มีส่วนในการช่วยจัดหาวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยา วัคซีน เรามองว่ากระบวนการรักษาตั้งแต่ต้นทาง การเตรียมสถานที่บุคลาการรักษาด้วยยา ในสถานที่ใดจะคุ้มครองนั้น คือสถานพยาบาลรัฐและเอกชน รวมทั้งปฏิบัติงานนอกสถานที่ โรงพยาบาลสนาม การรับผู้ป่วย การดูแลการคุ้มครองบุุคลากรด้านสาธารณสุขที่กล่าวอ้างถึงนั้นต้องทำให้สถานพยาบาลหรือนอกสถานพยาบาล การดูแลรักษาเพื่อประโยชน์สาธารณะทำภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน

รวมทั้งการดูแลคุ้มครองไม่ใช่ทุกกรณี ทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้กรอบใหญ่ต้องกระทำโดยสุจริต ถ้าการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงก็มีกรอบจำกัด แต่ถ้ามีประชาชนได้รับความเสียหาย ก็เขียนไว้ว่าไม่ตัดสิทธิเยียวยาตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

เลขาฯแพทยสภา ชี้ไว้คุ้มครองบุคลากรด่านหน้า

ด้าน พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา ระบุว่า การมีกฎหมายคุ้มครองผู้ปฏิบัติงานสาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า บางครั้งเครื่องไม้เครื่องมือไม่พอจะช่วยประชาชน ถ้ามีกฎหมายคุ้มครองให้บุคลากรเหล่านี้ ก็จะทำให้การทำงานสะดวกขึ้นไม่ติดขัดและเป็นขวัญกำลังใจ ผู้ประกอบวิชาชีพก็เห็นด้วยยทุกคน และมาตรฐานการปฏิบัติงานมาตรฐานสาธารณสุขยังเหมือนเดิม โดยภาครัฐยังดูแลและรับผิดชอบประชาชนเหมือนเดิม เพียงแต่กฎหมายไว้คุ้มครองและปกป้องบุคลากรทางการแพทย์

เมื่อถามว่าจะยกตัวอย่างบุคลากรไม่ต้องรับผิดชอบตาม พ.ร.ก.นี้ นพ.ธเรศ ระบุว่าการปฏิบัติโรงพยาบาลสนาม บางครั้งเครื่องมือ บุคลากรที่เตรียมไว้ มีข้อกำหนดอยูู่บ้าง เรื่องสถานที่แน่นอนไม่เหมือนโรงพยาบาล 100% นี่เป็นตัวอย่างเกี่ยวกับสถานที่ และอีกเรื่องแนวทางการรักษาเป็นเรื่องใหม่ ทั้งนี้การประกอบวิชาชีพยังทำงานเต็มที่ให้ประชาชนได้รับความปลอดภัยที่สุด ส่วนเรื่องวัคซีนนั้นต้องฉีด 2 เข็ม แต่ต่อมาฉีดวัคซีนไขว้กันได้ การปรับเปลี่ยนรักษามีความจำเป็นมาก ถ้ามีประเด็นยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนวิธีรักษาก็จะทำให้ผู้ปฏิบัติการหรือผู้ประกอบวิชาชีพจะดูแลอย่างเต็มความสามารถในขณะนั้นได้

พล.อ.ต.นพ.อิทธพร ระบุว่า แม้ชื่อ พ.ร.ก.จะบอกว่าไม่ต้องรับผิด แต่บุคลากรยังมีความรับผิดชอบเหมือนทุกคนอยู่เช่นเดิม และรัฐต้องรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย

"ในภาวะสงครามครั้งนี้พวกเราต้องร่วมมือร่วมใจต่อสู้ด้วยกัน" พล.อ.ต.นพ.อิทธิพรระบุ

ธเรศ พระราชกำหนด -F000-447A-B14F-0F171E099D95.jpeg

ภท.ลั่นอย่าขวาง กม.ปกป้องคนทำงาน

ด้าน ศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า อย่าขวางกฎหมายปกป้องคนทำงาน อคติทางการเมืองบังตาจนน่ารังเกียจ กับกลุ่มที่ตั้งป้อมโจมตี 'พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาพยาบาลผู้ป่วย COVID-19' 

โดยฝ่ายการเมืองตั้งชื่อให้ใหม่ว่าเป็น “กฎหมายนิรโทษกรรมวัคซีน”ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะคำว่า “นิรโทษกรรม” แปลว่า การยกเลิกโทษแก่ผู้กระทำความผิด แต่ ณ ปัจจุบัน ในการบริหารจัดการปัญหาโควิด-19 นั้น ยังไม่มีใครต้องโทษแม้แต่คนเดียวอันที่จริง กฎหมายที่กำลังเป็นที่ถกเถียงอยู่นี้ มีเจตนาที่ดีมากๆ คือ “ปกป้องคนทำงาน” ทั้งฝ่ายปฏิบัติ และฝ่ายบริหาร

โดยสาระสำคัญของของกฎหมายดังกล่าว ซึ่งเปิดเผยโดย นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วมกับ พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา ระบุว่า เจตนารมณ์ที่ทำร่างพรก.ฉบับนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ และเพื่อให้บุคลากรทุกภาคส่วนของสาธารณสุขสามารถทำงานได้อย่างมั่นใจ มีขวัญและกำลังใจที่จะดูแลประชาชนอย่างเต็มที่มากยิ่งขึ้น

โดยบุคคลที่จะได้รับความคุ้มครอง คือบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานในสถานบริการทั้งภาครัฐและเอกชน และคุ้มครองการทำงานในสถานพยาบาล โรงพยาบาลสนามหรือสถานที่จัดตั้งในสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19

ทั้งนี้ พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 เป็นกฎหมายที่มีจุดประสงค์ควบคุมการกระทำของบุคลากรสาธารณสุขให้เป็นไปด้วยความสุจริต และเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้บุคลากรปฏิบัติงานอย่างเต็มความสามารถในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

เนื้อหาสาระของกฎหมาย เป็นไปเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคนทำงานด้านสาธารณสุข ทุกหมู่เหล่า มิใช่ว่า ทำงานไป กลัวถูกเล่นงานไป 

ประเด็นคือ กฎหมายฉบับนี้ ไม่ใช่กฎหมายที่ออกมาปกป้องคนชั่ว ปกป้องคนเลว เพราะมีข้อยกเว้น ให้การกระทำต่อไปนี้ ต้องรับผิดทางกฎหมาย 

- การกระทำโดยไม่สุจริต

- การกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

- การกระทำเกิดจากการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม

แน่นอนว่า กฎหมายนี้ ไม่ได้ปิดกั้นการฟ้องร้อง หากฝ่ายการเมืองคิดว่าที่ผ่านมา การจัดหาวัคซีนนั้น มีข้อไหนที่ขัดต่อกฎหมาย ก็ไปฟ้องเอาผิดได้เลย หากว่าผู้ถูกฟ้องร้องมีพฤติกรรมเข้าเงื่อนไขด้านบน คือ กระทำโดยทุจริต ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมก็ย่อมถูกลงโทษ

ศุภชัย ระบุว่า การออกกฎหมายเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้กับคนทำงานนั้น ไม่ใช่เรืองที่ควรขัดขวางแต่ควรส่งเสริมให้เดินหน้าต่อด้วยซ้ำ ทุกวันนี้ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่ร้อนแรงแบบสุดๆ ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนทำงานด้วยความบริสุทธิ์ใจ ล้วนมีความหวาดระแวง ในการปฏิบัติหน้าที่ อย่าปฏิเสธ ว่า ไม่มีการจับผิดคนทำงาน ทุกอย่างปรากฏให้เห็นแล้ว ทั้งเรื่อง การวิพากษ์ตำรวจด่านหน้ารับเข็ม 3การวิพากษ์ แพทย์จังหวัดเลย ที่ได้รับไฟเซอร์

ศุภชัย ระบุว่า อีกสารพัดกรณีตัวอย่างที่ทำให้คนทำงานรู้สึกกังวล เรื่องดราม่าเหล่านี้เกิดขึ้นทุกวัน เช่นเดียวกับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ก็เกิดขึ้นทุกวัน ซึ่งหมอ และพยาบาล ต่างก็ลุ้นว่า ในการรักษาผู้ป่วยวันละ 1.5 – 2 หมื่น เคส อาจจะมีผู้ป่วย “ฉลาดแกมโกง” งัดกฎหมายมาเอาผิดหมอ 

“หมอทำงานทุกวันด้วยใจสั่นระรัว นี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ กฎหมายนี้ ต้องออกมาเป็น พรก. เพราะ ต้องลัดขั้นตอนสภา ให้ออกมาบังคับใช้ให้เร็วที่สุดเหล่านี้คือภาพสะท้อนความจำเป็น และตอบคำถามว่า ทำไม 'พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาพยาบาลผู้ป่วย COVID-19' จึงไม่ควรถูกขัดขวาง #ปกป้องคนทำงาน”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง