นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า การนำระบบเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีบนบรรจุภัณฑ์ (Direct Coding) เพื่อมาเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเบียร์กระป๋องและเบียร์ขวดในโรงงานผลิตเบียร์ทั้ง 10 แห่งทั่วประเทศ กระบวนการขณะนี้ได้ผ่านขั้นตอนการเปิดประมูลและลงนามในสัญญาร่วมกับบริษัทเอกชนที่จะเข้ามาร่วมดำเนินการบริหารจัดการพิมพ์รหัสการเสียภาษีบนกระป๋องและขวดเบียร์เรียบร้อยแล้ว โดยขั้นตอนอยู่ระหว่างดำเนินการสำรวจพื้นที่ร่วมกับบริษัทผู้ผลิตเบียร์ คาดว่าจะดำเนินการได้ภายในต้นปี 2564
สำหรับระบบ Direct Coding จะเป็นระบบแบบใหม่ที่จะนำมาใช้แทนระบบการเก็บภาษีเดิมที่เก็บจากจำนวนสินค้าออกจากหน้าโรงงาน แม้จะมีระบบ Flow meter ซึ่งติดตั้งอยู่ในสายการผลิตช่วยสอบทาน แต่ก็มีความลักลั่นของบางโรงงาน และอาจจะเกิดการรั่วไหลของภาษีอยู่ ดังนั้นจึงต้องปรับเปลี่ยนระบบ เบื้องต้นกรมสรรพสามิตเชื่อว่าจะทำให้มีรายได้จากการเก็บภาษีเบียร์สูงขึ้นประมาณ 8,000 ล้านบาทต่อปี จากปีก่อนที่จัดเก็บได้ 79,090 ล้านบาท
ทั้งนี้อธิบดีกรมสรรพสามิต ยืนยันว่า ระบบ Direct Coding กรมสรรพสามิตไม่ต้องลงทุนเอง หรือใช้งบประมาณจากรัฐแต่อย่างใด และไม่ได้เกี่ยวข้องกับการตั้งพรรคการเมืองใหม่ใดๆแน่นอน เบื้องต้นระบบใหม่จะมีต้นทุนค่าพิมพ์สแตมป์จะอยู่ที่ 25 สตางค์ต่อกระป๋อง ตลอด 7 ปี หรือประมาณ 8,000 ล้านบาท
ด้านนายพิษณุ วิเชียรสรรค์ กรรมการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทฯ มีโรงงานผลิตเบียร์อยู่ 3 แห่ง มีกำลังการผลิต 1,540 ล้านลิตรต่อปี ซึ่งทุกโรงงานพร้อมดำเนินการตาม แนวทางการจัดเก็บภาษีที่กรมสรรพสามิตพิจารณาแล้วว่าเหมาะสม เพื่อให้การเก็บภาษีตรงไปตรงมาที่สุด โดยเรื่องนี้บริษัทไม่ต้องลงทุนเอง แต่กรมสรรพสามิตจะเป็นผู้ดำเนินการให้
เช่นเดียวกับนายสุรสิทธิ์ ทองจันทร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักภาษีแลรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีความพร้อมที่จะให้โรงงานผลิตเบียร์ทั้ง 3 โรง ปฏิบัติตามนโยบายของกระทรวงการคลังเต็มที่ ในการปรับเปลี่ยนวิธีการเก็บภาษีใหม่ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่