พรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อประชาชน เรียกประชุมหัวหน้าพรรค และตัวแทนพรรค เพื่อติดตามและประเมินสถานการณ์และการแก้ปัญหาของรัฐบาล โดยพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง เลขาธิการ พรรคประชาชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมการพรรคร่วม ฝ่ายค้านและการมีส่วนร่วมของประชาชน เปิดเผยภายหลังการประชุม ว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านมีข้อห่วงใยถึงการดำเนินงานของรัฐบาล หลังพบข้อมูลเกี่ยวกับการทุจริต การไม่มีธรรมาภิบาลของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับพระราชกำหนดด้านการเงิน เพื่อแก้ปัญหาผู้ที่ได้ระบผลกระทบจากโรคโควิด-19 รวม 3 ฉบับ และพระราชบัญญัติโอนงบประมาณ โดยเฉพาะงบอุดหนุนที่ถูกโอนมาใช้เป็นงบกลาง จึงเป็นห่วงว่าการใช้งบประมาณจะถึงประชาชนรากหญ้าหรือไม่ การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจน ที่เห็นว่ารัฐบาลควรกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ด้วยการเร่งให้จัดเลือกตั้งท้องถิ่น การใช้ พรก. ฉุกเฉิน ที่อยู่เหนือความมั่นคงของประชาชน จึงมองว่าจำเป็นที่ต้องยกเลิกการบังคับใช้อย่างเร่งด่วน
นายสุรเชษฐ์ ปวีณวงศ์วุฒิ รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวเพิ่มเติมถึงการตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่นของรัฐบาล โดยเฉพาะพระราชกำหนดเกี่ยวกับการเงินเพื่อแก้ปัญหาผู้ที่ได้ระบผลกระทบจากโรคโควิด-19 และพระราชบัญญัติโอนงบประมาณ รวมถึงการบังคับใช้พระราชกำหนดฉุกเฉิน ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องติดตามและตรวจสอบร่วมกับประชาชน เนื่องจากกังวลว่าการใช้งบประมาณจะไม่มีประสิทธิภาพ หรือใช้เพื่อเอื้อประโยชน์ในอนาคต พร้อมยืนยันจะทำหน้าที่อย่างดีที่สุดเพื่อให้เกิดความโปร่งใส
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการเลือกตั้งท้องถิ่น ว่า ประเทศไทยว่างเว้นจากการเลือกตั้งท้องถิ่นมานาน ตั้งแต่ปี 2557 หลังเกิดการรัฐประหารและมีการออกประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ให้งดการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น แต่ให้มีการสรรหาคัดเลือกบุคคลที่จะมาทำหน้าบริหารท้องถิ่นโดยให้เป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี ซึ่งการออกกฎหมายเช่นนี้เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ดังนั้น จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งรัดจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นโดยเร็ว เนื่องจากการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นหัวใจสำคัญในการการกระจายอำนาจการปกครองให้ท้องถิ่นได้บริหารจัดการด้วยตัวเอง
นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย กล่าวถึงการบังคับใช้พระราชกำหนดฉุกเฉินของรัฐบาล โดยมองว่า รัฐบาลมีการใช้กฎหมายเกินความจำเป็นหรือไม่ เพราะมีการประกาศบังคับใช้พระราชกำหนดฉุกเฉินมาตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึงปัจจุบัน และยังไม่มีท่าทีที่จะยกเลิก ทั้งที่สถานการณ์ของโรคโควิด-19 ดีขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งการที่รัฐบาลยังคงใช้พระราชกำหนดฉุกเฉินนี้คิดว่าที่เป็นการคงอำนาจการบริหารไว้ที่รัฐบาลหรือไม่