ไม่พบผลการค้นหา
ท่ามกลางความกังวลของประชาชนเรื่องวัคซีน องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หลายแห่งทั่วประเทศได้ประกาศเจตจำนงค์พร้อมจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ด้วยเงินสะสมของตนเองให้กับประชาชนในพื้นที่ได้สร้างความหวังให้กับประชาชนว่า แต่ไม่ใช่ อบจ. ทุก อบจ. ทั่วประเทศจะทำแบบนั้นได้ เพราะอะไร?
ท้องถิ่น.jpg

สำหรับ ผศ.ดร.อรุณี สัณฐิติวณิชย์ คณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี ผู้สนใจการบริหารงานภาครัฐและการกระจายอำนาจ เห็นว่า นี่คือการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองของผู้นำท้องถิ่นให้ประชาชนของตนเห็นว่า จะเกิดอะไรขึ้นแล้วแต่ ท้องถิ่นก็สามารถเป็นที่พึ่งให้กับประชาชนในพื้นที่ของตนเองได้ 

แต่ไม่ใช่ อบจ. ทุก อบจ. ทั่วประเทศจะทำแบบนั้นได้ เพราะอะไร? 


‘วอยซ์’ เปิด 4 วิสัยทัศน์ที่ ท้องถิ่นควรทำและควรระวังในการจัดการวัคซีนโควิด-19 โดย ผศ.ดร.อรุณี สัณฐิติวณิชย์ สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี


จัดหาวัคซีนเอง กระจายเอง ฉีดเอง

ก่อนจะพูดถึงประเด็นบทบาทหน้าที่ของ อบจ. จะช่วยจัดการวิกฤตโรคโควิด-19 อย่างไร 

อรุณีเริ่มด้วยการตอบคำถามสำคัญของสังคม ที่ถามว่า อบจ. มีอำนาจจัดหาวัคซีนหรือไม่ ว่า มีและทำได้ตามกฎหมายและต้องตามกรอบที่ส่วนกลางกำหนด

เมื่อดูกฎหมายที่กำหนดอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ พ.ร.บ. กําหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พบว่า 

กฎหมายระบุให้ อบจ. ‘การจัดให้มีโรงพยาบาลจังหวัด การรักษาพยาบาล การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ’ ไว้ใน มาตรา 17 (19) ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ พ.ศ. 2558 ตั้งแต่ 26 ก.พ. 2563

อีกทั้งเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2564 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวช่วงหนึ่งในสภาฯ ระหว่างสภากำลังอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ชี้แจงกรณีการจัดซื้อวัคซีนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ว่า สามารถซื้อวัคซีน 5 ชนิดที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รับรองได้ แต่ต้องอยู่ในแผนของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และติดต่อซื้อผ่านรัฐเท่านั้น

“ดังนั้น อบจ. จึงมีอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายที่จะสามารถจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 เพื่อสาธารณะประโยชน์แก่ประชาชนในท้องถิ่นตนเองได้” อรุณีกล่าว

โควิด วัคซีน.jpg

สำหรับอรุณี แม้การที่ อบจ. ในฐานะผู้บริหารท้องถิ่นที่ได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชน ทั่วประเทศต่างต้องการจัดหาจัดซื้อวัคซีนเองเพื่อฉีดให้กับประชาชนในจังหวัดตัวเองจะถูกมองว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคะแนนนิยมทางการเมือง หาก อบจ. ทำได้จริงสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือการเปรียบเทียบผลงาน นายก อบจ. บ้านฉันเก่ง หาวัคซีนมาฉีดให้พวกเราได้ นายกรัฐมนตรียังทำไม่ได้เลย

แต่สำหรับเรื่องนี้ถือว่าเป็นผลดีกับการเมืองท้องถิ่น อีกทั้งตรงตามเป้าหมายของการมี อปท. และหลักการกระจายอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

อรุณีกล่าวว่า เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถูกออกแบบมาเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรทรัพยากร และความไม่สอดคล้องกันระหว่างนโยบายรัฐส่วนกลาง (รัฐบาล) กับสภาพปัญหาหรือความต้องการของประชาชนในพื้นที่อันเกิดจากโครงสร้างการบริหารที่รวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง (Centralization) 

อรุณีกล่าวอีกว่า ในสภาพการณ์การแพร่กระจายของโรคติดต่อเช่นนี้ อปท. อาจเป็นกลไกที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด และเข้าใจความต้องการของประชาชนมากกว่ารัฐบาล 

“เพราะ อปท.สามารถทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมความต้องการในเข้าถึงข้อมูล การช่วยเหลือเยียวยาที่สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้กับประชาชน และสนับสนุนการกระจายวัคซีนแก่หน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่ได้” อรุณีกล่าว


อบจ.ไหนมีเงิน มีอำนาจก็ได้วัคซีน

แม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จะอนุญาตให้ อปท. โดยเฉพาะ อบจ. จัดซื้อวัคซีนที่ อย. รับรองมาฉีดประชาชนได้ 

แต่สำหรับอรุณี เห็นว่า หากรัฐไม่กำหนดเงื่อนไข หรือจำกัดจำนวนให้แต่ละ อบจ. ซื้อได้อาจเกิดปัญหาในภาพรวมระดับประเทศได้ เพราะ อบจ. แต่ละแห่งที่มีความพร้อมด้านงบประมาณจะแย่งกันซื้อวัคซีนมาให้กับประชาชนของตนเอง แต่มิใช่ทุก อบจ. จะพร้อมเหมือนกันหมด

“พูดง่ายๆ ถ้าจังหวัดไหนมีเงินมากกว่า รวมถึงมีอิทธิพลด้านการเมือง รู้จักเส้นสาย มีผู้ใหญ่ มีเครือข่ายในการสั่งจอง หรือสามารถลัดคิวจัดซื้อวัคซีนกับรัฐบาลมากกว่าก็เข้าถึงวัคซีนได้มากกว่า อบจ. ที่มีพลังน้อยกว่า สุดท้ายแล้วก็เกิดการแย่งกันแน่นอน” อรุณีกล่าว

2f866b88cf4a4055d82c4f499d1fdaab.jpg

อรุณีเสนอวิธีแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงวัคซีนของ อบจ.ว่า รัฐบาลส่วนกลางควรกำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดสรรวัคซีนว่า อบจ.ไหน พื้นที่ไหนควรได้ และไม่ควรได้ให้ชัดเจน เพราะจำนวนวัคซีนที่มีในประเทศแต่ละช่วงเวลามีปริมาณจำกัด 

“แน่นอนว่าพื้นที่ใดมีการแพร่ระบาดมาก (แดง แดงเข้ม) ก็สมควรที่จะได้รับวัคซีนก่อน ตามความเร่งด่วนของความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ไม่ควรให้หลักเกณฑ์ว่าใครมีเงินก่อน ซื้อได้ก่อน” อรุณีเสน


เงินจัดหาวัคซีนไม่ควรเป็นเงินของ อบจ.

ประเด็นสำคัญที่อรุณีเสนอแนะคือ อบจ. ไม่ควรใช้เงินเก็บสะสมของตัวเองในการซื้อวัคซีนจากหน่วยงานที่รัฐบาลส่วนกลาง เพราะควรให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านของรัฐบาลที่มีงบประมาณจำนวน 45,000 ล้านที่เตรียมไว้แก้ไขปัญหาโรคโควิด-19 นำมาจัดซื้อวัคซีนให้ท้องถิ่นนำไปฉีดจะดีกว่า 

“ควรจะใช้เงินที่กู้มาจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ดีกว่าให้ อบจ.เอาเงินเก็บไปซื้อเอง เพราะเมื่อรัฐบาลกู้มา ก็ต้องให้เกิดประโยชน์กับประชาชนทุกคน เพราะพวกเราทุกคน รวมถึงลูกหลานก็ต้องร่วมกันใช้หนี้ก้อนนี้” อรุณีกล่าว

อรุณีกล่าวอีกว่า และที่สำคัญการที่ อบจ. ไปใช้เงินเก็บของตัวเองเอามาใช้ซื้อวัคซีน ทั้งที่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลกลาง น่าจะไม่สมเหตุสมผลในกรณีนี้ เพราะประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับการที่ประชาชนได้รับวัคซีนมิได้จำกัดเฉพาะพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แต่ทุกคนทุกพื้นที่ได้รับประโยชน์หมด ดังนั้นเงินสะสมของ อบจ. จึงควรเก็บไว้เพื่อใช้ประโยชน์เฉพาะของพื้นที่ตัวเองจริงๆ 

“หากเป็นพื้นที่สีแดง แต่ไม่มีเงิน จะให้ทำอย่างไร ต้องรอรัฐบาลหรือ อบจ. สามารถทำสัญญาจัดหาได้ก่อนแล้วเบิกจ่ายจากกองกลางจากรัฐบาลแทน” อรุณีกล่าว


กระจายวัคซีนอาจมีปัญหา 

สำหรับอรุณี การให้ อบจ. จัดหาวัคซีนให้กับประชาชนในพื้นที่ก็มิได้มีหลักประกันว่าจะทำได้ดีกว่ารัฐบาล 

อรุณีกล่าวว่า เนื่องจากความพร้อมด้านสถานพยาบาล หน่วยบริการสาธารณสุขและที่สำคัญคือบุคลากรผู้เชี่ยวชาญในการฉีดอาจไม่พร้อมทุกพื้นที่ รวมถึงวัสดุอุปกรณ์ในการเก็บรักษาวัคซีนอาจมีจำกัด เมื่อเทียบกับโครงสร้างส่วนภูมิภาคที่อยู่ในพื้นที่ เช่น รพ.สต. โรงพยาบาลระดับอำเภอ เป็นต้น

นอกจากเรื่องความไม่พร้อมในเรื่องต่างๆ ข้างต้น อรุณียังบอกว่า ปัญหาการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายการเมืองในท้องถิ่นตามหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับเทศบาล ตำบล อาจเป็นอุปสรรคในการกระจายฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม 

“เช่น ถ้าพื้นที่ไหนมีนายกฯ อบต. หรือนายกเทศมนตรีคนละฝ่ายกับ นายกฯ​ อบจ. ทีม อบจ. อาจไม่ได้รับความช่วยเหลือจากฝ่ายบริหารในระดับตำบล หมู่บ้านได้” อรุณีกล่าว