ไม่พบผลการค้นหา
เลขาธิการสทนช. ยอมรับมีความกังวลประเทศไทยยังอยู่ในสถานการณ์ภัยแล้งแม้จะได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อน "มูน" แต่จะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ตั้งแต่กลางเดือนนี้ (ก.ค.) ไปจนถึงเดือน ส.ค.

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. เปิดเผยถึงสถานการณ์พายุโซนร้อน "มูน" ที่ส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักโดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ในขณะนี้ว่า เบื้องต้นในภาพรวมพายุดังกล่าวไม่ส่งผลทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน

ขณะเดียวกัน ปริมาณน้ำฝนที่ไหลเข้าสู่อ่างเก็บน้ำในแม่น้ำลำคลองในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนในจังหวัดสกลนคร นครพนม บึงกาฬ และพื้นที่ภาคเหนือที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ก็มีไม่เกิน 300 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมถึงปริมาณฝนจากอิทธิพลมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ส่งผลให้ปริมาณน้ำทุกแห่งในอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 7-8 แห่งจาก 19 แห่งของโครงการอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่

ทั้งนี้ ยอมรับว่าช่วงกลางเดือน ก.ค. นี้สถานการณ์ภัยแล้งยังน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน แพร่ ลำปาง เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และ 8 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่กาฬสินธ์ นครราชสีมา ขอนแก่น ชัยภูมิ มหาสารคาม บุรีรัมย์ สุรินทร์ อุบลราชธานีที่จะมีฝนทิ้งช่วง

อย่างไรก็ตามคาดว่าหลังจากวันที่ 15 ก.ค. ไปจนถึงเดือน ส.ค. นี้จะมีฝนตกลงมาเพิ่มขึ้นช่วยเติมปริมาณน้ำในแหล่งน้ำได้ ส่วนสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคกลางมีแนวโน้มไม่ดีเช่นกัน การทำนาปลูกข้าวยังไม่เป็นไปตามแผน โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทานเนื่องจากปริมาณน้ำมีไม่เพียงพอ ซึ่งได้ประสานงานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หาแนวทางให้ความช่วยเหลือเกษตรที่จะได้รับความเดือนร้อนจากกรณีดังกล่าวแล้ว

สำหรับมาตรการรับมือในล่วงหน้าแล้งระหว่างเดือน พ.ย. นี้ถึงเดือน ม.ค. 2563 ทาง สทนช. คาดว่าจะมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำน้อยกว่าค่าเฉลี่ย โดยภาพรวมพื้นที่ภาคเหนือปริมาณน้ำทั้งหมดน้อยกว่าปีที่ผ่านมาประมาณ 4,000 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร มีการใช้น้ำมากกว่าแผนที่วางไว้เกือบ 1,000 ลูกบาศก์เมตร ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาและหน่วยงานที่เกี่ยวที่ออกมาระบุว่าระหว่างวันที่ 5-15 ก.ค.นี้จะเกิดฝนทิ้งช่วง ดังนั้นหากบริหารจัดการน้ำไม่ดีหรือมีการใช้น้ำมากขึ้นอาจส่งผลกระทบช่วงปลายฤดูฝนต่อหน้าแล้งได้

ซึ่งอาจจะมีการยกระดับศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจเพื่อการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง หลังจากรัฐบาลอนุมัติงบประมาณกว่า 1,200 ล้านบาท ในการดำเนินการขุดลอกหาแหล่งกักเก็บน้ำเพิ่มเติม ทั้งแหล่งเก็บน้ำจากหนองน้ำธรรมชาติทั้ง 32 จังหวัด คาดว่าภายใน 2-3 เดือนนี้จะสามารถกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝนได้รวมถึงการจัดทำฝายชะลอน้ำกว่า 30,000 แห่งเพื่อเพิ่มความชุ่มชื่นในดิน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง