“21 เมษา มีรายงานผู้ติดเชื้อคนแรกของชุมชน ช่วงนั้นต้องรอคิว รพ.สนามหลายวัน มันอาจเป็นเรื่องเล็กสำหรับคนที่บ้านมีหลายห้อง แต่คนในชุมชนแออัด ห้อง 3x4 ตารางเมตร อยู่กัน 5-10 คน ยากมากที่จะป้องกันการแพร่ต่อ มันทำให้คนติดเชื้อคนนี้ไม่ยอมเข้าบ้าน แต่มาพักและใช้ชีวิตในรถกระบะ แล้วชาวบ้านก็ไปช่วยดูแล”
นั่นคือเรื่องเล่าจากแพทย์ในสนามที่อาจเปลี่ยนทัศนคติต่อคนชายขอบตามชุมชนแออัดที่สังคมมักคิดว่า ไร้วินัย ไม่มีความรู้ ไม่มีระบบระเบียบ และน่าจะไม่มีการช่วยเหลือกัน ฯลฯ
คลองเตยแบ่งเป็น 43 ชุมชน (ขึ้นทะเบียนกับกรุงเทพฯ 39 ชุมชน) มีประชากรที่รวมประชากรแฝงด้วยราว 120,000 คน ทำงานหลากหลายอาชีพรับจ้างทั่วกรุงเทพฯ
นับตั้งแต่วันนั้นจนวันนี้ กรุงเทพมหานครเปิดเผยข้อมูลการตรวจเชิงรุกชุมชนคลองเตยตั้งแต่ 27 เม.ย.-12 พ.ค. ว่า ตรวจไปแแล้วรวม 26,799 คน พบติดเชื้อ 1,146 คน คิดเป็นร้อยละ 5.34 โดย กทม.จะตรวจหาเชื้อเชิงรุกให้มากที่สุด และเร่งฉีดวัคซีนเพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดในชุมชุมให้เร็วที่สุด
เมื่อเกิดข่าวโควิดระบาดที่นั่นมันก็เหมือนฝันร้าย ผู้คนพากันหวาดกลัวและนึกไม่ออกว่าจะจัดการกับพื้นที่แออัดเช่นนั้นได้อย่างไร แต่โชคดียังเป็นของรัฐบาลเพราะผลลัพธ์การจัดการของชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน วัด และหน่วยงานอื่นๆ ที่ได้พาให้แนวโน้มการระบาดไม่เลวร้ายไปกว่าที่เป็นอยู่ (ซึ่งเป็นเรื่องง่ายมากที่จะเกิดขึ้น) และยังพอซื้อเวลาได้อีกพักใหญ่
ดร.นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท ผอ.สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.) หน่วยงานภายใต้สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข บอกเล่าเรื่องราวการทำงานกับ ‘คลองเตย’ ที่น่าสนใจ นอกจากจะเป็น ‘โมเดล’ การจัดการการแพร่ระบาดในชุมชนที่อาจนำไปใช้กับที่พื้นที่อื่นๆ มันยังทำให้ความเข้าใจต่อผู้คนในสลัมอันดับหนึ่งของกรุงเทพฯ เปลี่ยนแปลงไปด้วยไม่มากก็น้อย
“จริงๆ แล้วชุมชนเขามีระบบของเขาดีมาก นั่นคือ อะไรที่จะทำให้เขาอยู่รอด เขาจะลุกขึ้นมาช่วยกัน” นพ.วิรุฬกล่าว
หลังรู้ว่ามีคนติดเชื้อ คนในชุมนุมไม่ได้หวาดกลัวขับไล่ไสส่งใคร แต่รู้ทันทีโดยไม่ต้องมีใครบอกว่าการระบาดน่าจะไปไกลแล้ว พวกเขาเรียกร้องให้มีสถานที่สักแห่งที่จะแยกตัวออกจากคนที่บ้านได้ การประสานงานกับหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่ให้ร่วมมือกับชุมชนเริ่มต้นขึ้นอย่างรวดเร็ว
ฟังดูเหมือนง่ายแต่ไม่ง่าย เนื่องจากสายตาของรัฐย่อมมองไม่เห็นศักยภาพว่าชุมชนจะมีส่วนช่วยเหลือดูแลจัดการเรื่องการระบาดได้ แต่หมอวิรุฬซึ่งจบปริญญาเอกด้านมานุษยวิทยาและเคยทำงานกับคลองเตยมาก่อนหน้านี้แล้วกลับ ‘เชื่อมั่น’ ว่าทำได้ และเป็นหนทางเดียวที่จะรอดด้วยภายใต้ระบบราชการอันใหญ่โตเทอะทะ ไม่ทันการณ์
ดอกผลจากการวิจัยตอนโควิดระลอกแรกที่ไม่รุนแรงถูกนำมาใช้ คณะกรรมการต่อต้านโควิดชุมชน (คตช.) ถูกตั้งขึ้น มีอาสาสมัครของสาธารณสุข ผู้นำชุมชน อพปร. วัยรุ่นในชุมชน แม้กระทั่งพระ เข้ามาเป็นหัวหอก
วัดสะพาน ถูกเลือกเป็น ‘จุดพักคอย’ ตามความต้องการของชาวบ้าน เป็นการนำผู้ที่ติดเชื้อออกมาจากบ้านของเขาเพื่อตัดวงจรการแพร่กระจาย แต่เรื่องนี้ก็ทำได้ไม่ง่ายเพราะโควิดเป็นโรคระบาดร้ายแรง การเอาผู้ติดเชื้อมารวมกันเอง ณ จุดใดจุดหนึ่งเป็นเรื่องผิดกฎหมาย กระทั่งได้ประชุมกับผู้ว่าฯ อธิบายกันทั้งข้อมูลเชิงวิชาการและสร้างความเชื่อมั่นในระบบของชุมชน จึงมีการผ่อนปรนทางนโยบายให้ทำได้ โดยผู้ว่าฯ อนุญาตให้พักได้ 24 ชม.ระหว่างหา รพ.สนามเพื่อส่งตัวต่อ นั่นทำให้ปัจจุบันคลองเตยมีจุดพักคอย 2 จุดหลักคือ ที่วัดสะพาน และศูนย์บริการสาธารณสุขที่ 41 ในชุมชนพัฒนาใหม่
ตึก 8 ชั้น ศูนย์ฝึกวิปัสสนาของวัดสะพานที่กำลังก่อสร้าง ถูกแปลงเป็น ‘จุดพักคอย’ นักวิชาการจากกรมควบคุมโรคเข้ามาช่วยประเมินพื้นที่ กรมอนามัยของกรุงเทพฯ เข้ามาช่วยดูระบบบำบัดของเสีย เพราะหัวใจสำคัญคือ ต้องมีอากาศถ่ายเท และของเสียจากห้องน้ำต้องผ่านการฆ่าเชื้อด้วยคลอรีน ส่วนที่เหลือ คือ แรงงานที่คอยดูแลคนติดเชื้อซึ่งล้วนเป็นพระลูกวัดและอาสาสมัคร ทรัพยากรในการจัดตั้งก็มาจากการบริจาคทั้งบริจาคเพื่อวัดโดยตรงหรือจากการระดมทุนของโครงการดีจังคลองเตย รวมแล้วมีเงินตั้งต้นทำโครงการ 3 ล้านกว่าบาทในเวลาอันรวดเร็ว ส่วนมูลนิธิดวงประทีปก็ดูแลอาหารสำหรับทั้งผู้ป่วยและผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่ต้องกักตัวที่บ้าน
“27 เมษา ตรวจคัดกรองเชิงรุกกลุ่มแรก 1,000 คน ติดเชื้อ 50 คน รู้ผลวันที่ 29 เม.ย. ก็ใช้ศูนย์พักคอยที่วัดเลย ตึกยังไม่เสร็จก็ใช้เต๊นท์หลังคาใหญ่ก่อน ซึ่งมันเห็นผลว่ามีประโยชน์ แทนที่คน 50 คนจะกระจายไปอยู่ตามบ้านตนเอง ก็มารวมตรงนี้ และเวลารถ รพ.มารับก็มารับได้ทีละเยอะๆ” นพ.วิรุฬกล่าว ปัจจุบันยังคงมีการตรวจเชิงรุกอยู่โดยตลอดในชุมชนต่างๆ ของคลองเตย
สำหรับผู้กำหนดนโยบาย การตัดสินใจจัดการกับคลองเตยอยู่บนทาง 2 แพร่งว่าจะล็อคดาวน์หรือจะให้เกิดการร่วมมือกันจัดการ ในท้ายที่สุด ผู้ที่รู้จักคลองเตยอย่างดีพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ล็อคดาวน์ไม่มีทางได้ผลหากไม่มีการชดเชยรายได้ คนหาเช้ากินค่ำจะหนีออกจากพื้นที่ในที่สุด ขณะที่การแจกเงินผู้ถูกกักตัวก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับรัฐ เนื่องจากหากมาตรฐานนี้เกิดกับคลองเตย แปลว่าต้องใช้เงินจำนวนมากในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และทุกช่วงเวลา ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นการตัดสินใจเร่งตรวจเชิงรุกให้ได้มากที่สุด เพื่อแยกผู้ป่วยออกจากชุมชนแล้วเร่งฉีดวัคซีน
ปัจจุบัน ศูนย์พักคอยที่วัดสะพานจากเดิมมีอยู่ราว 50 เตียงเดิมใช้ 2 ชั้น ขณะนี้ต้องขยายเป็น 4 ชั้นรองรับ 150-200 เตียง เนื่องจากแม้สถานการณ์การระบาดในชุมชนจะลดลง แต่การระบาดในตลาดคลองเตยกลับหนักขึ้น เนื่องจากมีแรงงานต่างประเทศติดโควิดกันหลักร้อยและต้องใช้ศูนย์พักคอยเช่นกัน
“ส่วนใหญ่คนพักคอยที่นี่จะอยู่ประมาณ 1-2 วันก็สามารถหา รพ.ส่งต่อได้ ส่วนใครจะมาเจ้าอาวาสเปิดรับหมดทั้งที่ตรวจเจอจากการตรวจเชิงรุกของภาครัฐ หรือไปตรวจเองที่แล็ปเอกชน แล้วไม่สามารถกักตัวที่บ้านได้”
นพ.วิรุฬ สรุปโมเดลคลองเตยว่ามนคือ community quarantine ปัจจุบันเขตทวีวัฒนาเริ่มมีชุมชนเล็กๆ ที่มีการระบาดก็เริ่มนำโมเดลนี้ไปใช้ และคาดว่าจะสามารถใช้ได้ในเมืองใหญ่อย่างขอนแก่น สงขลา เชียงใหม่ สมุทรสาคร
“community quarantine คือ การกักกันในระดับชุมชน โดยที่เราใช้ชุมชนเป็นคนทำงานหลักในการมาช่วยกันดูแลระบบนี้ร่วมกับหน่วยงานภายนอก โดยดูแลคนครบทั้ง 4 กลุ่ม ครบทั้ง 3 ด้าน”
4 กลุ่ม 3 ด้าน ได้แก่
1. ผู้ติดเชื้อ เมื่อพบแล้วต้องรีบเอาออกมาอยู่ในพื้นที่พักคอยเพื่อรอส่งออกไปรับการรักษา
2.ผู้ที่สัมผัสเสี่ยงสูง ตรงนี้กลไกของชุมชน โดยกรรมการชุมชน หรืออาสาสมัครชุมชนต้องดูแลคนที่กักตัวกลุ่มนี้ที่กักตัวอยู่บ้านให้ครบ 3 ด้าน คือ ด้านการแพทย์ เขาควรต้องได้ตรวจคัดกรองเมื่อไหร่ มีอาการเจ็บป่วยไหม อาการรุนแรงขึ้นไหม ด้านอาหาร ต้องมีการส่งอาหารให้ ด้านอาชีพและรายได้ ต้องคอยช่วยดูว่ามีค่าใช้จ่ายอะไร ค่าเช่าบ้าน และจะจัดการอย่างไร
3.กลุ่มที่กลับจากไปรักษาที่ รพ. กลุ่มเหล่านี้ต้องกลับมากักตัวต่ออีก 4-10 วัน
4.กลุ่มเสี่ยงที่เป็นกลุ่มเปราะบางไหม ซึ่งต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ
“เรื่องแบบนี้รัฐไม่สามารถทำได้เพราะใช้ทรัพยากรเยอะมาก และต้องให้ภาคสังคมเข้ามามีส่วนร่วม เพราะเขารู้จักพื้นที่ดีที่สุด และระดมทรัพยากรได้รวดเร็ว”
“คนคลองเตยคือ เส้นเลือดฝอยของกรุงเทพฯ ที่ทำให้เรายังมีชีวิตได้ในภาวะปกติ เขาทำอาชีพบริการพื้นฐานทั้งหลาย ขับรถสาธารณะ พนักงานทำความสะอาด ยาม มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ฯลฯ และอีกมากมายกระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ มันเป็นโอกาสให้เราได้เห็นว่าภาวะวิกฤต เราต้องมองข้ามเรื่องความแตกต่าง ทั้งเชื้อชาติ ฐานะ สิ่งที่เราดูแลกันตอนนี้ เราใช้มุมมองของ สิทธิในการเข้าถึงการดูแลสุขภาพ”
“คนมักไปสนับสนุนอะไรที่คลองเตยโดยมุมมองของการสงเคราะห์เสียเยอะ ช่วยเหลือคนที่น่าสงสาร แต่เราน่าจะถอยมาสักนิดแล้วมองว่า เขาคือมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรี เป็นสมาชิกหนึ่งของเมืองใหญ่ สิ่งที่เขาควรจะได้คือสิทธิของเขาในความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกับเรา การดูแลทุกชีวิตจึงไม่ใช่การสงเคราะห์ แต่เป็นการปกป้องสิทธิของเขาซึ่งมันเชื่อมโยงกับสิทธิของเราด้วย เพราะถ้าเราปกป้องเขา ทุกคนถึงจะปลอดภัย มันจะเป็นโอกาสที่ทำให้เรามองเห็นโลกอีกแบบ ในเมืองใหญ่เราต้องการทุกคนที่ทำหน้าที่ต่างๆ กัน เราต้องการผู้จัดการบริษัทพอๆ กับที่เราต้องการ รปภ. สถานการณ์นี้ช่วยให้เราได้มองเห็นมิติใหม่ๆ ของสังคมที่มันจะมีผลให้โอกาสแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ความเหลื่อมล้ำทางสังคมน่าจะดีมากขึ้น” นพ.วิรุฬกล่าว