วันที่ 10 มิ.ย. 2566 อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่าจากกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของ “ลิซ่า” วง BLACKPINK หรือนางสาวลลิษา มโนบาล ที่เป็นกระแสบนโลกออนไลน์ ด้วยการแต่งกายสวมผ้าไทย “ผ้ามัดหมี่ย้อมครามหมักโคลน” ซึ่งเป็นผ้าทอลายโบราณจากร้านชานเรือน ตลาดผ้านาข่า อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี ไปเที่ยววัดที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กับกลุ่มเพื่อน จนเป็นการปลุกกระแสผ้าไทยและสถานที่ท่องเที่ยวของไทยโด่งดังไกลเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก รวมทั้งทำให้การท่องเที่ยวในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทยมีความคึกคักมากขึ้น โดยเฉพาะในสถานที่ท่องเที่ยวที่ลิซ่าได้เดินทางไปท่องเที่ยว ส่งผลให้รายได้ของร้านค้าต่างๆ ในพื้นที่เพิ่มขึ้นนั้น
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชื่นชมลิซ่า ที่ได้มีการแสดงออกถึงความรักและภาคภูมิใจในความเป็นไทยมาโดยตลอด โดยการแต่งกายสวมใส่ผ้าไทยหรือชุดไทยตามโอกาสที่เหมาะสม รวมถึงการพูดถึงความเป็นไทยต่าง ๆ ผ่านรายการหรือกิจกรรมที่เข้าร่วม เช่น กรณีการแต่งชุดไทยและสวมชฎาในเอ็มวีของลิซ่า ทำให้สามารถสร้างกระแสให้คนให้ความสนใจชุดไทย เอกลักษณ์และวัฒนธรรมของชาติไทยให้เป็นที่รู้จักในสายตาชาวต่างชาติมากยิ่งขึ้น
"ซึ่งเป็นความคิดสร้างสรรค์ ที่นำมาผสมผสานเป็นความร่วมสมัยทางวัฒนธรรม นำไปเผยแพร่ในระดับโลก รวมถึงผลส่งให้คนไทยในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุน หรือคนรุ่นใหม่ หันมาสนใจในการสวมใส่ผ้าไทยและภาคภูมิใจในความเป็นไทยเพิ่มขึ้น" อนุชากล่าว
อนุชา กล่าวต่อไปว่า จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีและชื่นชมต่อการแสดงออกดังกล่าว เพราะถือเป็นอีกหนึ่งแรงสนับสนุนที่ดีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศด้วย Soft Power ด้านต่าง ๆ ที่ไทยมีศักยภาพ รวมถึง Soft Power ด้านเครื่องแต่งกายและสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ของไทย ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญขับเคลื่อนอย่างจริงจังมาอย่างต่อเนื่องผ่านการดำเนินงานของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชนเพื่อร่วมกันพัฒนาขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย ทั้งระดับพื้นที่และภาพรวมของประเทศไปสู่เป้าหมายที่กำหนดร่วมกัน คือ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
“ลิซ่าได้แต่งกายด้วยชุดไทยประยุกต์ เสื้อผ้าฝ้ายแขนตุ๊กตากับผ้าซิ่นสีน้ำเงินลายขาว ซึ่งเป็นผ้าฝ้ายมัดหมี่ย้อมครามหมักโคลน ลายขอนาค ลายโบราณเอกลักษณ์ของชาวอีสาน และเป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านขึ้นชื่อของจังหวัดอุดรธานี ถือเป็นต้นแบบของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่ Soft Power ด้านวัฒนธรรมความเป็นไทยผ่านเครื่องแต่งกายได้เป็นอย่างดี พร้อมกับนำมาประสานเข้ากับการท่องเที่ยวเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยใช้วัฒนธรรมและสถานที่ท่องเที่ยวของไทยมาสร้างมูลค่าให้กับประเทศ ช่วยเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเป็นการกระจายรายได้ไปในพื้นที่ โดยขณะนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ยังได้เชิญชวนประชาชนที่สนใจเที่ยวตามรอยลิซ่สามารถปักหมุดเตรียมเช็กอินวัดโบราณ 3 แห่ง ได้แก่ วัดหาน้าพระเมรุ วัดมหาธาตุ และวัดแม่นางปลื้ม” อนุชา กล่าว