เอสวาตินี (Eswatini) หรือชื่อเดิมว่า ราชอาณาจักรสวาซิแลนด์ (Swaziland) กำลังเผชิญการสั่นคลอนทางการเมือง จากการที่มีกลุ่มผู้ประท้วงซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่เคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศ จนมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่รัฐบาลได้เข้าปราบปรามการชุมนุมเคลื่อนไหวดังกล่าวอย่างรุนแรง พร้อมประกาศเคอร์ฟิวเพื่อควบคุมสถานการณ์
ราชอาณาจักรขนาดเล็กซึ่งถูกห้อมล้อมด้วยประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งมีประชากรเพียง 1.3 ล้านคน เป็นเพียงชาติเดียวในทวีปแอฟริกาที่ยังคงใช้การปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ภายใต้สมเด็จพระราชาธิบดีอึมสวาตีที่ 3 พระองค์มีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี, สมาชิกของคณะรัฐมนตรี และตุลาการ โดยกระแสการเรียกร้องประชาธิปไตยในเอสวาตินีเริ่มเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ตลอดช่วงหลายเดือนก่อนหน้านี้ ทว่าความไม่พอใจของประชาชนเริ่มปะทุขึ้นตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จากการกลุ่มผู้ประท้วงโจมตีรัฐบาลของกษัตริย์อึมสวาตีที่ 3 ว่าใช้พระราชอำนาจในทางมิชอบหาผลประโยชน์ กลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องได้โจมตีทั้งคณะรัฐบาล และกษัตริย์อึมสวาติที่ 3 ซึ่งมีพระมเหสีและสนมรวมกัน 15 พระองค์ ใช้ชีวิตบนความอู้ฟู่หรูหรา ท่ามกลางประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่ยังประกอบอาชีพเกษตรกรรม และมีชีวิตอยู่อย่างแร้นแค้น
ความเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยให้มีการปฏิรูปรัฐบาลที่มีมาตรการกดขี่มาเนิ่นนานแล้ว แต่การประท้วงดังกล่าวมักเกิดขึ้นได้ยากในเอสวาตินี ประเทศที่แม้จะมีรัฐสภาและผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่สมาชิกสภาและนายกรัฐมนตรีที่ส่วนใหญ่ มาจากการแต่งตั้งโดยกษัตริย์
รายงานระบุว่าที่ อัมบาบาเน เมืองหลวง และมาซินี เมืองที่ใหญ่สุดของประเทศ กลุ่มผู้ประท้วงได้แสดงความไม่พอใจกษัตริย์ด้วยการปิดถนนและจุดไฟเผาร้านค้าต่างๆ ของเมือง โดยเฉพาะหากธุรกิจนั้นเชื่อมโยงหรือมีราชวงศ์เป็นเจ้าของ
ซาคิเล อึนซูมาโล ตัวแทนจากสภาเยาวชนสวาซิแลนด์ ได้กล่าวว่า ผู้ชุมนุมได้เรียกร้องเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนทุกคน "เราทุกคนต้องการประชาธิปไตย ต้องการเลือกผู้นำด้วยตัวเอง เราต้องการสาธารณรัฐภายใต้ระบบประธานาธิบดี" ทั้งยังกล่าวว่า กลุ่มผู้ชุมนุมจะเดินหน้ายึดและทำลายเครือข่ายธุรกิจของกษัตริย์ เช่นเดียวกับ ซอนเค ดูเบ ประธานสภาเยาวชนสวาซิแลนด์ ได้เรียกร้องให้สหประชาชาติ และกลุ่มสหภาพแอฟริกาทั้ง 16 ชาติดำเนินการแทรกแซง
ลัคกี้ ลูเคเล โฆษกเครือข่ายแนวร่วมเรียกร้องประชาธิปไตยของสวาซิแลนด์ กล่าวกับสื่อต่างชาติว่า ขณะนี้รัฐบาลส่งกองกำลังทหารลงท้องถนน มีรายงานการใช้ความรุนแรงในหลายพื้นที่ของประเทศสืบเนื่องจากความพยายามปราบปรามประชาชน
มีรายงานภาพถ่ายและวิดีโอบนโซเชียลมีเดียที่แสดงให้เห็นว่าทหารกำลังทำร้ายผู้คนที่เชื่อว่าเป็นผู้ประท้วงตามท้องถนน มีรายงานการยิงกระสุนปืนและแก๊สน้ำตาในการสลายผู้ชุมนุม กลุ่มนักเคลื่อนไหวกล่าวว่าทหารและตำรวจได้สังหารผู้ประท้วงมากกว่า 20 คน นับตั้งแต่การประท้วงเริ่มต้นขึ้นในสัปดาห์นี้ แต่ยังไม่สามารถยืนยันตัวเลขดังกล่าวได้ รัฐบาลเอสวาตีนีได้กำหนดเคอร์ฟิวทุกคืนตั้งแต่เวลา 18.00 น. ถึง 05.00 น. เพื่อพยายามสกัดการประท้วง ท่ามกลางกระแสข่าวลือว่ากษัตริย์อึมสวาตีที่ 3 เสด็จไปประทับยังแอฟริกาใต้เพื่อความปลอดภัย
เทมบ มาสุกุ (Themba Masuku) รักษาการนายกรัฐมนตรีเอสวาตินียืนยันว่า พระองค์ไม่ได้เสด็จลี้ภัยต่างแดนตามที่ร่ำลือ โดยยังคงประทับในประเทศและเฝ้าจับตาสถาการณ์ มาสุกุ ยังระบุในแถลงการณ์ว่า รัฐบาลขอเรียกร้องให้ประชาชนอยู่ในความสงบ และมีความยับยั้งชั่งใจ
สำหรับสมเด็จพระราชาธิบดีอึมสวาตีที่ 3 ทรงครองราชย์เมื่อ 2529 ขณะมีพระชนมายุเพียง 18 พรรษา พระองค์มักถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสาธารณะในเรื่องรสนิยมอันหรูหราและการใช้จ่ายอย่างอู้ฟู่ ท่ามกลางประชาชนของประเทศที่ส่วนใหญ่มีชีวิตและรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน กรณีที่เห็นชัดที่สุดคือการซื้อเครื่องบินส่วนพระองค์รุ่น แอร์บัส เอ-340 เมื่อปี 2561 และในปีเดียวกันนี้ เอสวาตินี ได้กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก จากการที่กษัตริย์มสวาตีที่ 3 ประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศจาก "สวาซิแลนด์" ด้วยเหตุผลที่ว่าสวาซิแลนด์มักสร้างความสับสนต่อนานาชาติเนื่องจากชื่อคล้ายกับ "สวิตเซอร์แลนด์" การเปลี่ยนชื่อครั้งนั้นสร้างความไม่พอใจให้กับหลายฝ่ายเนื่องจากมองว่า กษัตริย์ผู้มีพระชนมายุ 53 พรรษา ควรใส่ใจในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน มากกว่าแค่เปลี่ยนชื่อประเทศ
ความรุนแรงจากการเมืองภายในเอสวาตินี ส่งผลให้รัฐบาลแอฟริกาใต้ประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิด และเป็นที่พึงพิงทางเศรษฐกิจให้เอสวาตินี ออกคำเตือนพลเมืองหลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าเอสวาตินี พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายอดกลั้นและหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง
Menzi Ndhlovu นักวิเคราะห์การเมืองแอฟริกา ให้มุมมองต่ออัลจาซีราว่า "ความรู้สึกสนับสนุนประชาธิปไตยในเอสวาตินีไม่ใช่เรื่องใหม่ นี่เป็นสิ่งที่ประชาชนเรียกร้องมานานหลายทศวรรษแล้ว แต่สถาบันกษัตริย์ก็สามารถจัดการได้ ผ่านกลไกรูปแบบต่างๆ ในกรณีความไม่สงบที่เกิดขึ้น สถาบันกษัตริย์มีแนวโน้มที่จะนิ่งเฉยจนกว่าทุกอย่างจะเรียบร้อย และปล่อยให้บรรดานายพลและตำรวจของพระองค์ ใช้กำลังปราบปรามประชาชนให้สงบลง และเมื่อสถานการณ์เริ่มบรรเทาลงแม้เพียงเล็กน้อย พระองค์อาจจะแสดงความเคลื่อนไหวออกมา"
ที่มา: VOA , Theguardian , Aljazeera