นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนใหม่ ซึ่งได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่พรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2564 ให้เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พรรคการเมืองที่มีเสียง ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร มากที่สุด 132 เสียง และเป็นพรรคการเมืองแกนนำพรรคฝ่ายค้าน บอกกับ 'วอยซ์' หากการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นมีชื่อ 'พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา' เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง
เมื่อนำความคิดเห็นของผู้ที่แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก VoiceTV ที่พิมพ์ว่า "แบบนี้เตรียมนับถอยหลังลุงตู่"
นพ.ชลน่าน บอกทันทีว่า "ใช่...ขอบคุณเลย ขอบคุณเลยครับ เราต้องช่วยกันทำให้ลุงตู่นับถอยหลัง พอเปิดตัวหกคะมำ หัวคะมำเลย อันนั้นก็เป็นสัญญาณนะ ไม่ได้กล่าวให้ร้ายท่าน แต่เป็นสัญญาณว่า มันหมดเวลาท่านแล้ว ท่านควรคืนอำนาจให้ประชาชน ให้ประชาชนตัดสินใจ"
หัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนใหม่ ในวัย 60 ปี ชี้ถึงจุดอ่อนของผู้นำฝ่ายบริหารคนปัจจุบันว่า ถ้าส่งแคนดิเดตนายกฯ เขามั่นใจว่าจะได้คะแนนแต่เรากลับเห็นจุดอ่อนของเขา ถ้าส่ง พล.อ.ประยุทธ์ มา เราไม่หนักใจเลย ตัวบุคคล เราถือว่าเราได้เปรียบ คือเขาขายของที่ใช้ไม่ได้แล้ว ประชาชนไม่ใช้ แต่เอาไปยัดเยียดให้ประชาชนด้วยกลไกที่บังคับเขา อันนี้คือจุดอ่อน ที่เราสามารถเจาะจุดอ่อนตรงนี้ได้
การปรับเปลี่ยนโครงสร้างคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยครั้งใหญ่ ด้วยการผสมผสานคนรุ่นใหม่ โดยได้หัวหน้าพรรควัย 60 ปี และกรรมการบริหารพรรคที่มีอายุน้อยที่สุด 34 ปี คือหมุุดหมายสำคัญที่จะสื่อไปยังประชาชนถึงการเลือกตั้งทั่วไปในอนาคต
"ถ้าเพื่อไทยไม่ปรับตัว เพื่อไทยจะตกขบวน เอาแค่การเปลี่ยนแปลง ระดับปัจจุบันก่อนนะครับ แต่สิ่งที่มันเกิดขึ้นขณะนี้ในบริบทของโลกาภิวัฒน์ ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับโลกส่งผลกระทบต่อประเทศและพรรคการเมืองมาก"
นพ.ชลน่าน ระบุถึงสโลแกนใหม่ของพรรคเพื่อไทย "พรุ่งนี้เพื่อไทย เพื่อชีวิตใหม่ของประชาชน" ภายใต้ตัวอักษรที่ทันสมัย สีขาวตัดพื้นสีแดง โดยหัวหน้าพรรคเพื่อไทยบอกว่า "สีแดง คือความฮึกเหิม สีของชาติเพื่อขับเคลื่อนนโยบายและทิศทางของประเทศไปสู่ข้างหน้า ส่วนสีขาว คือสีแห่งความเด็ดเดี่ยว ห้าวหาญ บริสุทธิ์ สันติภาพ และความดี"
โดยเฉพาะการได้ 'แพทองธาร ชินวัตร' บุตรสาวคนเล็กของ 'ทักษิณ ชินวัตร' หรือ โทนี่ วู้ดซัม อดีตนายกรัฐมนตรี เข้ามานั่งในตำแหน่งประธานที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรมพรรคเพื่อไทย ซึ่งคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยจะต้องทำงานเชื่อมโยงประสานกับคณะที่ปรึกษาด้านต่างๆ และต้องรับส่งทิศทางทางการเมืองจากกคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองของพรรคด้วย
"เอาคนรุ่นเก่ามารวมกับคนรุ่นใหม่ เอาคนรุ่นเก่า รุ่นใหม่เข้ามา รุ่นเก่าเป็นเสมือนประสบการณ์การเรียนรู้ คนรุ่นใหม่เหมือนพลัง พรุ่งนี้คือพลัง รุ่นใหม่พลัง คือความหวังในอนาคต มาสร้างเป็นการขับเคลื่อน"
'วอยซ์' เริ่มคำถามที่ว่า "พรรคเพื่อไทยกำลังแย่งชิงคะแนนคนรุ่นใหม่จากพรรคการเมืองที่เป็นขั้วเดียวกันหรือไม่?
นพ.ชลน่านรีบออกตัวทันทีว่า "ผมขออภัยที่ผมจะไม่ใช้แย่งชิงนะ เพราะว่าเราคงไปแย่งชิงมาไม่ได้ ถ้าเขาไม่ตัดสินใจเลือกเรา เพราะอำนาจอยู่ที่พี่น้องประชาชน เราเพียงแต่เป็นตัวเลือกหนึ่ง ให้คนรุ่นใหม่ได้ตัดสินใจว่าเขาจะเลือกมอบอำนาจให้เราไปใช้ในการบริหารประเทศ"
ถ้าเราขายสิ่งที่เป็นอุดมการณ์ นโยบายแล้วก็สิ่งที่เขาจับต้องได้ แล้วเขามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง อันนี้จะทำให้เขายั่งยืนและตัดสินใจได้
สำหรับเป้าหมายของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้ง คือจะเน้นทุกกลุ่ม ไม่ได้ทอดทิ้งกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่พรรคเพื่อไทยจะต้องดูผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือโหวตเตอร์ แบ่งเป็นกลุ่มๆ 4 กลุ่มใหญ่ ซึ่งกลุ่มที่มีอายุ ตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปไปถึง 25 ปี ส่วนใหญ่เรียกว่า Gen Z ในกลุ่มนี้จะมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งใหม่เข้ามาประมาณ 7 ล้านเป็นฐานที่เราดูทั้งหมดไม่ได้มุ่งฐานใดฐานหนึ่งเป็นหลัก เพราะระบบเสียงข้างมาก ต้องอาศัยเสียงข้างมากจริงๆ ถ้าเราไปเจาะฐานใดฐานหนึ่ง ไม่คำนึงทุกกลุ่มเราก็อาจจะมีโอกาสสูญเสีย โดยเฉพาะฐาน เพื่อไทยเรามีทุกกลุ่ม ฐานหลักเราก็มีเฉพาะด้วย
ปรากฏการณ์หลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 ทำให้คนรุ่นใหม่เริ่มตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น ซึ่ง นพ.ชลน่าน มองว่าเพราะผลจากการทำรัฐประหารของกองทัพ ทำให้คนรุ่นใหม่ต้องออกมาแสดงความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย
"ถ้าคณะรัฐประหารยึดอำนาจไปแล้วทำความดีตอบสนองต่อประชาชนปรากฏการณ์นี้จะไม่เกิดขึ้น แต่ผลพวงที่เขายึดไป ปุ๊บ เขาเห็นเมื่อแย่งอำนาจฉันไปแล้วยังทำให้ฉันทุกข์ยากแก้ปัญหาวิกฤตอะไรไม่ได้มองไปอนาคตไม่เห็นเลย มันก็เลยเกิดกระแสการตื่นตัวว่าเขาเองอยู่ไม่ได้แล้วนะเขาต้องเข้ามามีบทบาทในการบอกกล่าวว่าฉันต้องการอะไร"
กฎหมาย 112 มีไว้เพื่ออะไรครับ มีไว้เพื่อปกป้องคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ องค์พระมหากษัตริย์จะละเมิดมิได้ อันนี้รัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัด ฟ้องร้องมิได้ เหมือนกับประเทศอื่นที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่ภาพขณะนี้คนที่บังคับใช้กฎหมาย 112 เป็นเครื่องมือในการจะทำลายคนที่มีความคิดต่าง มันก็เลยเกิดความแตกแยก เมื่อสังคมแตกแยก ผลกระทบเหมือนนำเอาสถาบันมาเกี่ยวข้อง เป็นยุคที่คนพูดถึงสถาบันมากที่สุด ต้องยอมรับว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันเอาสถาบันมายุ่งเกี่ยวกับการเมืองอย่างโจ่งแจ้ง แทนที่จะปกป้องคุ้มครองสถาบัน
พวกเราต้องช่วยกันปกป้องสถาบัน ด้วยการให้กฎหมายมันชอบ เป็นธรรม เป็นไปตามหลักนิติธรรม ไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือ
ระบบรัฐสภาในสภาเสียงข้างมาก แก้ขนาดนี้อาจสู้เสียงข้างมากไม่ได้ ที่ทำได้สิ่งที่ประชาชนลุกฮือมาต้องทำนะ ถึงจะทำได้ แต่เงื่อนไขนี้ทำได้ยากมาก เพราะเสียงข้างมากไม่ค่อยฟังเสียงประชาชน อาจจะใช้กลไกยังไงก็ได้ เพื่อให้องค์ประชุมไม่ครบให้กฎหมายตกไป เหมือนแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ) สุดท้ายวาระที่ 3 ไม่ได้โหวต เทคนิคในสภา เสียงข้างมากทำได้หมดเพื่อให้กฎหมายไม่บังคับใช้ แต่ฝ่ายค้านต้องแสดงเจตนารมณ์ชัดเจนบอกว่าอันนี้เป็นประโยชน์ เพื่อปกป้องคุ้มครองสถาบัน กระบวนการศาลยุติธรรมต่างๆ ต้องตรวจสอบได้
ดูที่กระบวนการบังคับใช้กฎหมายว่าเป็นความผิดของใคร ของตำรวจ ของอัยการ ของศาลไหม ที่ออกมามุมนี้ ทำไมลูกหลานเยาวชนถึงถูกจับคุณตีความอย่างไร ทำไมไม่มีการปล่อยตัว ไม่ให้ประกัน กลไกเหล่านี้ เหยื่อลูกหลานเยาวชนตกเป็นนักโทษทางความคิดไปจับกุมคุมขังเขา เราต้องการช่วยเหลือกระบวนการก่อน
เรื่องที่สอง เป็นเรื่องผู้ถูกกระทำต้องได้รับสิทธิเป็นอิสระทำยังไงให้เขาได้รับการปปล่อยตัว เรื่องที่สามเรื่องเล็ก คือตัวบทกฎหมาย ระเบียบกฎหมายอะไรที่มันไปมีผลทำให้เกิดการละเมิดสิทธิ อันนี้ไปพิจารณากันปรับแก้ ไม่ใช่เฉพาะ มาตรา 112 มาตรา 116 กฎหมายคอมพิวเตอร์ ไปเสนอในสภาฯ เข้ามาพูดคุยกัน
"เป้าหมายอันนี้คือเป้าหมายแลนด์สไลด์จากประชาชนอย่างน้อย เกินกึ่งหนึ่งขึ้นไป เพื่อปิดกั้นกลไกเดิม (ส.ว. 250คน)"
ขณะเดียวกัน 'วอยซ์' ได้นำความเห็นของผู้ที่เข้ามาโพสต์ในข่าวของพรรคเพื่อไทย ผ่านเฟซบุ๊ก 'วอยซ์ทีวี' โดยระบุว่า "ถ้ามีนโยบายแก้มาตรา 112 ก็อาจจะเลือกพรรคเพื่อไทย"
นพ.ชลน่าน ระบุว่า ไม่มุ่งเฉพาะแก้ที่ตัวกฎหมาย แต่จะแก้เชิงระบบทั้งหมดให้กฎหมายได้ถูกใช้บังคับอย่างเป็นธรรมตามหลักนิติธรรม คุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของพี่น้องประชาชน ป้องกันให้คนมีจิตไม่บริสุทธิ์ ไม่สุจริต เอากฎหมายเป็นเครื่องมือ
‘วอยซ์’ ระบุมีผู้โพสต์ว่า "ตอนแรกใจไปก้าวไกลแล้วแต่มาสะดุดที่คุณหมอนี่แหละ"
นพ.ชลน่าน หัวเราะทันทีก่อนตอบว่า "อันนี้ ผมเองก็ไม่เข้าใจนะ ว่าหมายถึงอะไรก็อาจจะ ดูว่า เพื่อไทยเราเองไม่ได้แสดงอะไร จริงๆ เพื่อไทยแสดงมาตลอด มุมการส่งเสริมสิทธิ เสรีภาพ ในการเรียกร้องสิทธิ เราส่งเสริมมาตลอด แต่เราไม่ได้ไปใช้เรื่องมาตรา 112 เป็นเครื่องมือทางการเมือง เครื่องมือทางการเมืองมี 2 ลักษณะนะ
หนึ่ง คนที่บังคับใช้กฎหมาย ใช้กฎหมาย 112 เป็นเครื่องมือ เพื่ออำนาจของตัวเอง แต่ฝ่ายการเมืองกลับไปหลงประเด็นเอา 112 มาเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมืองอีก มันก็เลยทำให้ภาพ 112 แทนที่จะ เป็นหนึ่ง ปกป้องสิทธิเสรีภาพพี่น้องประชาชน สองปกป้องคุ้มครองสถาบัน กลับเกิดการแตกแยก เราต้องผสานตรงนี้ให้เป็นหนึ่งให้ได้"
นพ.ชลน่าน ย้ำว่า ฝากฝ่ายการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ถ้าเอาเรื่องนี้มาเป็นประเด็นทางการเมืองจะทำให้สังคมแตกแยก ต้องระมัดระวัง มันได้ไม่คุ้มเสีย ถามจริงๆ ไม่มุ่งแก้เชิงระบบทั้งหมด แม้ไปแก้ 112 คนใช้กฎหมายก็ยังสามารถเอามาใช้ได้อีก เพราะคนไทยเราเองต้องยอมรับว่าเรามีระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข องค์ประมุขของเรา ต้องได้รับการเทิดทูน เคารพ เป็นที่สักการะตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญอยูู่แล้ว
"อะไรที่มันหนักไปไม่สอดคล้องก็ต้องไปปรับแก้ เช่น ระวางโทษ กระบวนการบังคับใช้ การแจ้งความต่างๆ และมาปกป้องคุ้มครองพี่น้องประชาชนไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือการบังคับใช้กฎหมายนี้ด้วย"
'วอยซ์' นำความเห็นของผู้พิมพ์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กวอยซ์ทีวี บอกกับหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนใหม่ว่า "เลือกพรรคก้าวไกล ไม่ชอบ กาสู้ไป...แล้วเมื่อย"
นพ.ชลน่าน หัวเราะอีกครั้งก่อนตอบทันทีว่า "จริงๆ อยากถามกลับเหมือนกันว่า หลายคนบอกว่าเราสู้ไปกราบไปเนี่ย อยากจะถามเหมือนกันว่า เอ๊ะ ท่านเข้าใจไหมล่ะว่า เราสู้กับใคร ท่านพูดอย่างนี้หมายถึงเรากราบใคร"
"ขณะนี้เราสู้กับอำนาจเผด็จการนะ อำนาจเผด็จการที่มันยึดอำนาจอย่างตรงไปตรงมา และแฝงเร้นในการสืบทอดอำนาจ เป็นเผด็จการซ่อนรูปในคราบประชาธิปไตย นี่แหละครับ คือ เพื่อไทยสู้ ถ้าเราสู้กับเผด็จการ เราก็ย่อมไม่กราบเผด็จการหรอกครับ อย่าเอาหลายเรื่องมาปนกันเป็นเรื่องเดียว"
ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัติรย์ทรงเป็นประมุขต้องแยกให้ชัด ใครที่มาแอบอิงใช้ประชาธิปไตยมาเป็น เหมือนเครื่องฟอกขาวแล้วแฝงเร้นด้วยอำนาจเผด็จการมาปกครองบ้านเมือง อันนี้เราต้องสู้ และแกะออกให้ได้ อย่าเอาประชาธิปไตยเราไปปนเปื้อน
ประชาชนรายหนึ่งบอกย้ำผ่านเฟซบุ๊กวอยซ์ทีวี ถึงการที่พรรคเพื่อไทยออกคำแถลงการณ์ของประธานกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง โดยรับข้อเสนอจากภาคประชาชนเพื่อแก้ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายที่มีการนำมาใช้เป็นเครื่องมือทำลายล้างทางการเมืองกับผู้เห็นต่างว่า "ยังไงก็ก้าวไกลอ่ะ เพื่อไทยตอนนี้ความกล้าไม่มี ไม่กล้าพอ"
นพ.ชลน่าน ระบุว่า "ก็ไม่เป็นไรครับ คือ สิทธิ เสรีภาพแต่ละบุคคลก็ต้องยอมรับ ทุกคนล้วนมีเหตุมีผล แต่ว่าเราเองพร้อมที่จะเสนอในสิ่งดีๆ ให้ทุกท่านได้ช่วยพิจารณาในการตัดสินใจ การสู้ไปข้างหน้ามันต้องจับต้องได้ จับต้องได้ เพ้อฝันไม่ได้"
"คงหวังตัดคะแนนพรรคก้าวไกลในพื้นที่ภาคอีสาน" ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งระบุถึงการปรับโครงสร้างของพรรคเพื่อไทยที่เน้นคนรุ่นใหม่มากขึ้นกว่าเดิม
นพ.ชลน่าน ระบุว่า "คิดผิด และก็มีมุมคับแคบมาก สำหรับคนคิดแบบนี้นะ คะแนนที่มาจากพี่น้องประชาชน เขาจะตัดสินใจเลือกใคร เราเป็นคู่แข่งทางการเมืองเท่านั้น ใครที่ทำให้เจ้าของอำนาจ ประชาชนตัดสินใจเลือก เราต้องยอมรับนะครับ จะเลือกพรรคไหนไม่ว่า อย่าคิดว่าเป็นการตัดคะแนนกัน"
'วอยซ์' ถามถึงการภิจของ นพ.ชลน่าน ในฐานะว่าที่ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งรับไม้ต่อจาก 'สมพงษ์ อมรวิวัฒน์' ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทยที่ประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทย
นพ.ชลน่าน บอกว่า หน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านฯ จะเปรียบเสมือนผู้นำของเสียงข้างน้อยในการตรวจสอบควบคุมรัฐบาลในการบริหารราชการแผ่นดิน เราตรวจสอบเพื่อมุ่งต่อประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก อะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนเราไม่คัดค้านแน่ แต่ถ้าคุณใช้ประโยชน์ประชาชนและแอบแฝง เพื่อแสวงหาเข้ากลุ่มเข้าพวก เราคัดค้านเต็มที่ หรือที่เรียกว่าทุจริตเชิงนโยบาย
ฝ่ายค้านจะดูแลผลประโยชน์ประชาชนด้วยการตรวจสอบเข้มข้น เช่นตรวจสอบให้รัฐบาลมาแถลงข้อเท็จจริงสำหรับปัญหาต่างๆ วิกฤตเศรษฐกิจ ปัญหาโควิด-19 ปัญหาสิทธิเสรีภาพของประชาชน ปัญหาน้ำมันแพง รัฐบาลต้องมาแถลงข้อเท็จจริงจะแก้ไขปัญหาอย่างไร นี่คือเรื่องแรกที่ผมจะทำเมื่อเข้าไป คือมาตรา 152 ยื่นญัตติอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ
เรื่องที่สอง คือ กฎหมายที่ใช้โดยไม่เป็นธรรม ใช้เป็นเครื่องมือฝ่ายรัฐทำลายประชาชน เราจะเข้าไปดูรายละเอียดจะใช้กลไกในสภาได้อย่างไร ไม่ใช่เฉพาะแก้กฎหมาย แต่จะเป็นกระทู้ ญัตติ ตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อไปพิจารณาศึกษา หรือส่งให้คณะกรรมาธิการสามัญในสภาฯ พิจารณาเรื่องนั้นๆ กลไกสภามีเยอะ อย่าคิดเฉพาะแก้กฎหมาย เพราะแก้กฎหมายไม่ทัน
อย่างเช่น กลไกการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งสามารถเรียกไปตรวจสอบได้เลย ว่าชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายหรือไม่ ใช้เกินจำเป็นหรือไม่ หรือใช้ตามอำเภอใจหรือไม่ ซึ่งใช้ได้ทันที ส่วนการแก้ไขกฎหมายเป็นอีกกลไกหนึ่ง
เรื่องสำคัญของฝ่ายค้านยังต้องติดตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับที่้ค้างอยู่ รอกฎหมายประชามติ เมื่อกฎหมายผ่านก็จะใช้กลไก สภาฯ เสนอไปยังรัฐบาลให้ทำประชามติว่าสมควรจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ เมื่อผ่านประชามติก็จะเข้าสู่เรื่องนั้น เป็นเรื่องใหญ่ที่รออยู่
"เพื่อไทยสู้ ถ้าเราสู้กับเผด็จการ เราก็ย่อมไม่กราบเผด็จการหรอกครับ อย่าเอาหลายเรื่องมาปนกันเป็นเรื่องเดียว"
ถามถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยใช้ระบบเลือกตั้งแบบบัตรเลือกตั้ง ส.ส. 2 ใบ บัตรแบบแบ่งเขต และบัตรแบบบัญชีรายชื่อ คือเป้าหมายที่พรรรคเพื่อไทยต้องแลนด์สไลด์เหมือนในอดีตหรือไม่
"ถ้าเรามีเสียงน้อย เหมือนเลือกตั้งที่ผ่านมา สู้กลไกที่เขาวางไว้ไม่ได้ ส.ว. 250 มาเลือนายกฯ ได้เหมือนเดิม เขามีเสียงน้อยกว่าเรา เขาก็เป็นรัฐบาลได้ ปิดโอกาสปิดกั้นพวกเราที่จะไปแก้ปัญหา คำว่าแลนด์สไลด์ได้คะแนนอย่างท้วมท้นเป็นหมุดหมายสำคัญบอกกล่าวพี่น้องประชาชนในการรณรงค์"
นพ.ชลน่าน ย้ำว่า คำว่าแลนด์สไลด์ได้คะแนนอย่างท่วมท้น เป็นหมุดหมายสำคัญบอกกับพี่น้องประชาชน จะใช้เป็นวิธีการรณรงค์ เป้าหมายอันนี้คือเป้าหมายแลนด์สไลด์จากประชาชนอย่างน้อย เกินกึ่งหนึ่งขึ้นไป เพื่อปิดกั้นกลไกเดิม (ส.ว. 250คน) ที่จะมีอำนาจมาครอบงำเรา ไม่ให้เราจัดตั้งรัฐบาล วิธีการเรื่องแลนด์สไลด์ เมื่อมีการปลี่ยนระบบเลือกตั้งเป็นบัตรสองใบ ทำให้เพื่อไทยมีโอกาสสื่อสารพี่น้องประชาชนมากขึ้น เอาสิ่งที่จะเป็นหัวใจสำคัญ
ทำไมต้องเลือกเพื่อไทยไปบอกกับประชาชนให้มากขึ้น วิธีการเลือกตั้ง บัตรสองใบเปิดโอกาสให้ใกล้ชิดประชาชน ในแง่ เขตเลือกตั้ง 400 เขต ผสมกับจุดแข็งของเราทำยังไงให้รักษาฐานเขตของเราให้เข็มแข็งแล้วเติมเต็ม เราส่งทั้งหมด 400เขตแน่ บัตรบัญชีรายชื่อ แยก 100 คน กา 1 ใบ ถ้าจะแลนด์สไลด์ไม่พอต้องกาบัญชีรายชื่อด้วย ถ้ากาบัญชีรายชื่อด้วย สิ่งที่เรานำเสนอให้ท่านไปไม่ว่าจะเป็นนโยบายที่จับต้องได้ ชุดผู้บริหาร ว่าที่แคนดิเดตนายกฯ คณะผู้บริหารที่เราจะฉายภาพให้เห็นทั้งหมด ผลงาน
'วอยซ์' เข้าไปดูความคิดเห็นของผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งบอกผ่านเฟซบุ๊ก 'วอยซ์ทีวี' ว่า "ชอบอภิปรายคุณหมอชลน่านมาก อภิปรายหนักแน่น"
นพ.ชลน่าน ยิ้มรับและบอกว่า "ขอบคุณมาก ผมพยายามทำการบ้านหนักนะ ทำการบ้าน เพื่อจะทำหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุด"
จากนั้น นพ.ชลน่านได้ตอบคำถามว่า "พรุ่งนี้เพื่อไทยเพื่อชีวิตใหม่ของประชาชน แล้วพรุ่งนี้ของพล.อ.ประยุทธ์ คืออะไร"
"กลับไปอยู่บ้านเถอะ ไปเลี้ยงหลานตามสภาพของท่าน ท่านจะได้ชื่อว่าอยู่ในประเทศไทยได้ มันเป็นพรุ่งนี้ของคนรุ่นใหม่ ของคนที่อยากสร้างสิ่งที่ดีให้กับประเทศชาติบ้านเมือง ถ้าท่านเห็นสภาพบ้านเมืองอย่างนี้จากกระทำของท่าน ขอโทษที ท่านตายไปแล้ว ท่านจะนอนตายตาหลับเหรอ ทำร้ายบ้านเมือง ทำร้ายลูกหลานขนาดนี้"
ถามเป็นคำถามสุดท้ายก่อนที่ นพ.ชลน่านจะเดินหน้าไปสู่บทบาทใหม่ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ว่า "พรุ่งนี้พรรคเพื่อไทย แล้วพรุ่งนี้ของ นพ.ชลน่าน คืออะไร"
"ไม่ใช่ของผมครับ แต่ผมเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยกันขับเคลื่อนให้พรุ่งนี้มันเป็นสิ่งที่ดีกับพี่น้องประชาชนครับ"
นพ.ชลน่าน อดีต รมช.สาธารณสุข และอดีตดาวสภาเมื่อปี 2552 ที่ถูกสื่อมวลชนประจำรัฐสภา เคยยกย่องให้จากการใช้ข้อมูลการอภิปรายที่หนักแน่นมากกว่าการใช้คำอภิปรายที่มุ่งทำลายล้างทางการเมือง ระบุกับ 'วอยซ์'
ภาพ - เสกสรร โรจนเมธากุล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง