ไม่พบผลการค้นหา
วอยซ์ออนไลน์ชวนคุยกับ 'ตูน' นักกิจกรรมไทยในเกาหลีใต้เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองที่กรุงโซล หลังจากจัดม็อบต้านรัฐบาลไทยในเกาหลีใต้และได้รับผลตอบรับเกินคาด

เมื่อวันที่ 25 ต.ค. กลุ่มนักกิจกรรมไทยในเกาหลีเพื่อประชาธิปไตย - Thai Activists for Democracy in Korea (TADK) จัดกิจกรรม ‘บุก...แทกุก ลุกมาซัดเผด็จการ’ เพื่อร่วมชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในไทย โดยจัดขึ้นที่ลานหน้าทงแดมุน ดีไซน์พลาซ่า ในกรุงโซล เมืองหลวงของประเทศเกาหลีใ้ต้ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวมีคนไทยในเกาหลีใต้เข้าร่วมกว่า 150 คน  

ม็อบเกาหลี.jpeg

'ตูน' ชนกนันท์ รวมทรัพย์ นักกิจกรรมไทยผู้ลี้ภัยทางการเมืองและหนึ่งในผู้จัดกิจกรรมฯ กล่าวกับ 'วอยซ์ออนไลน์' ว่า จำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุมในโซลเกินความคาดหมาย เนื่องจากตามกฎของเกาหลีใต้ในช่วงนี้ (ตามมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมในช่วงโควิด-19) ห้ามมีการจัดชุมนุมเกิน 100 คน ดังนั้นทางผู้จัดงานเลยจัดพื้นที่ชุมนุมไว้เพียง 99 ที่เท่านั้น

ตูนเล่าว่า การจัดการชุมนุมหรือกิจกรรมทางการเมืองที่เกาหลีใต้มีขั้นตอนคล้ายกับที่ไทย คือ ผู้จัดงานต้องไปแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า จะมีการจัดชุมนุม หรือ จัดกิจกรรมในพื้นที่หรือสถานที่ไหน โดยตำรวจจะซักถามรายละเอียดเกี่ยวกับการชุมนุม เพื่ออำนวยความสะดวกและจัดสถานที่ชุมนุมให้ ซึ่งจะแตกต่างกับที่ไทยเล็กน้อยในขั้นตอนนี้

ม็อบเกาหลี.jpeg
  • ผู้ร่วมชุมนุมต้องนั่งตามจุดที่ตำรวจจัดไว้ตามมาตรการช่วงโควิด-19

“ในช่วงที่จัดกิจกรรมทางการเมืองในไทยช่วงหลังรัฐประหารนั้น เมื่อไปแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว ตำรวจไทยจะขอรายละเอียดต่างๆ รวมถึงกำหนดการและรายชื่อผู้ขึ้นปราศรัยทั้งหมด และก่อนหน้าวันงาน ตำรวจไทยมักจะไปเยี่ยมบ้าน หรือไปเจรจาไม่ให้จัดกิจกรรมชุมนุม ซึ่งผิดกับที่เกาหลีใต้ ตำรวจไม่มีการซักถามถึงรายละเอียดกิจกรรมใดๆ” ตูนกล่าว

นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจเกาหลีใต้ จะคอยอำนวยความสะดวกในการจัดพื้นที่ในการชุมนุมให้กับการจัดกิจกรรมตั้งแต่การกั้นพื้นที่ให้กับผู้ชุมนุม ไปจนถึงการวางจุดที่นั่งให้กับผู้ชุมนุมตามมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงยังคอยตรวจตราและรักษาความปลอดภัยให้กับกิจกรรมการชุมนุม ไม่ให้เกิดม็อบชนม็อบหรือการกระทำที่เป็นอันตรายแก่ผู้เข้าร่วมชุมนุมอีกด้วย

ม็อบเกาหลี.jpeg

ตูนยังเปรียบเทียบประสบการ์จัดการชุมนุมในไทยว่า การจัดชุมนุมในเกาหลีใต้นั้นไม่จำเป็นต้องมี Plan B เลย แต่ที่ไทย ผู้จัดชุมนุมต้องเตรียมสถานที่ชุมนุมหรือจัดกิจกรรมสำรองไว้เลย เพราะเมื่อถึงวันจริง เจ้าหน้าที่ตำรวจมักจะนำแผงเหล็ก หรือสิ่งกีดขวางอื่นๆ มากั้น เพื่อไม่ให้ใช้สถานที่ในการจัดการชุมนุม

‘ตอนนี้ม็อบในไทยก้าวหน้ากว่าเมื่อก่อน’

เกาหลีใต้เป็นประเทศหนึ่งที่มีการจัดการชุมนุมประท้วงกันอยู่เนื่องๆ และมีการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ เป็นประจำทุกวัน ‘ตูน’ เล่าว่า ช่วงที่มาอยู่เกาหลีใต้ใหม่ๆ ค่อนข้างตกใจกับการจัดการชุมนุมของคนเกาหลี เพราะที่เกาหลีใต้มีการชุมนุมกันทุกวัน โดยเฉพาะ ม็อบโบสถ์ หรือ ม็อบศาสนาที่มีประท้วงระหว่างโบสถ์กันเป็นประจำ และประท้วงกันในเกือบทุกๆ เรื่อง ซึ่งแต่ละโบสถ์สามารถระดมคนได้หลักร้อยถึงพันคนในเวลารวดเร็ว

ที่ผ่านมาในประเทศไทยการชุมนุมส่วนใหญ่มักเป็นประเด็นทางการเมืองเป็นหลัก ขณะที่ประเด็นปัญหาทางสังคมอื่นๆ ไม่มีการออกมาชุมนุมหรือกล่าวถึงในที่สาธารณะมากนัก อดีตผู้จัดกิจกรรมทางการเมืองในไทย มองว่า ตอนนี้การชุมนุมในไทยมีความก้าวหน้ากว่าช่วงหลังรัฐประหารมาก ซึ่งการชุมนุมมีการพัฒนารูปแบบและเนื้อหาที่พูดถึงในการชุมนุมแตกต่างไปจากเมื่อก่อน 

“เมื่อเทียบกับช่วงที่ตนจัดการชุมนุมหลังรัฐประหารนั้น เมื่อก่อนหากผู้ชุมนุม หรือ แกนนำถูกจับ พวกเรามักจะไปชุมนุมหน้าเรือนจำเพื่อกดดันให้มีการปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับ แต่ตอนนี้ หากแกนนำในการชุมนุมถูกจับ ม็อบก็ยังคงจัดต่อไปได้และหลากหลายมากขึ้น ซึ่งตอนนี้การจับแกนนำไม่ได้ทำให้คนไปร่วมชุมนุมน้อยลงเลย”

ม็อบเกาหลี.jpeg

‘ชุมนุมไปจนกว่ารัฐบาลจะลาออก’

สำหรับการชุมนุมในเกาหลีใต้นั้น ตูนเล่าว่า การประท้วงหรือชุมนุมในเกาหลีใต้ คนเกาหลีจะร่วมชุมนุมเพื่อกดดันรัฐบาลจนกว่าจะมีการลาออก หรือ มีการเปลี่ยนแแปลงตามข้อเรียกร้องของการชุมนุม และการชุมนุมนั้นๆ ก็จะจบลงด้วยดี

ที่ผ่านมา เกาหลีใต้มีชุมนุมใหญ่หลายครั้ง และสามารถกดดันประธานาธิบดีให้ลาออก หรือกดดันมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลได้ ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ชาวเกาหลีใต้ก็ร่วมกดดันให้ประธานาธิบดีพักกึนเฮลาออกจากตำแหน่ง หลังจากพบว่ามีการทุจริตและบริหารงานประเทศไม่โปร่งใส เอื้อผลประโยชน์ให้พวกพ้อง ผลจากการชุมนุมในครั้งนั้น ปธน.พักกึนเฮ จำต้องลาออกจากตำแหน่ง และถูกดำเนินคดีทางกฎหมายร่วมด้วย

แต่สำหรับการชุมนุมในไทยตอนนี้ ตูนมีความเห็นว่า ไม่รู้จะจบลงตรงไหน เพราะ 'ประยุทธ์ จันทร์โอชา' ประกาศว่าไม่ยอมลาออกแน่นอน และหากเป็นเช่นนั้นก็เป็นห่วงเรื่องความรุนแรง เพราะที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยใช้วิธีการที่ประนีประนอมต่อผู้ชุมนุม ดังนั้น ทางออกของรัฐบาลในการยุติการชุมนุมนั้นอาจเกิดความรุนแรงได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง