ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกรายงานประเมินสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐานที่ปกคลุมพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐานกลับมาอีกครั้ง เนื่องจากสภาพภูมิอากาศนิ่งและจมตัว อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าปัญหาฝุ่นละอองที่กลับมาครั้งนี้จะมีความรุนแรงขึ้นกว่าที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2562 ซึ่งสะท้อนว่า ปริมาณฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลมีอยู่สูง และยังไม่ได้ลดระดับลงจากช่วงต้นปี
โดยจากข้อมูลดัชนีคุณภาพอากาศ ของ AQICN.ORG พบว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐาน ที่ปกคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย. 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งมีผลให้มีฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานแตะระดับที่เกิน 100 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ในบางช่วงเวลาระหว่างวัน และในวันที่ 30 ก.ย. 2562 ค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานในบางพื้นที่แตะระดับสูงถึง 202 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ในบางช่วงเวลาระหว่างวัน
สำหรับปัญหาฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานที่เคยเกิดขึ้นในหลายๆ พื้นที่ ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด เมื่อช่วงต้นปี 2562 ที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงกระทบต่อสุขภาพของประชาชนบางกลุ่มทำให้ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตประจำวันด้วยการหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน
นอกจากนี้ ปัญหาดังกล่าวยังสร้างผลกระทบด้านเศรษฐกิจในมิติต่างๆ อาทิ ผลต่อเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวโดยประชาชนอาจปรับแผนและชะลอการเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่ที่มีปัญหาฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน ผลจากค่าเสียโอกาสในการที่ประชาชนต้องมีภาระจ่ายในด้านสุขภาพ และผลต่อการที่ภาครัฐจะต้องนำงบประมาณมาใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองอย่างการปฏิบัติการฝนหลวง เป็นต้น
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมิน ผลกระทบจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐานที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้ คือ
ผลกระทบในระยะสั้น ภายใต้สถานการณ์ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานที่คาดว่าน่าจะอยู่ในกรอบระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ (ระหว่างวันที่ 28 ก.ย. - วันที่ 12 ต.ค. 2562) ซึ่งน่าจะก่อให้เกิดผลกระทบจากค่าเสียโอกาสจากประเด็นในเรื่องของสุขภาพคิดเป็นมูลค่าประมาณ 700-800 ล้านบาท ขณะที่ผลต่อเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องยังต้องติดตาม
โดยมองว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองที่กลับมาอีกครั้ง น่าจะส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพของกลุ่มผู้ป่วยโรคภูมิแพ้/ระบบทางเดินหายใจ และประชาชนบางกลุ่มที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ก็เกิดอาการเจ็บป่วยทำให้ต้องไปพบแพทย์หรือเข้ารับการรักษาพยาบาล รวมไปถึงการที่ผู้บริโภคจะต้องซื้อหน้ากากอนามัยมาสวมใส่เพื่อดูแลป้องกันสุขภาพและการซื้อสินค้าอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการดูแลสุขภาพ โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมิน ค่าเสียโอกาสจากประเด็นด้านสุขภาพทั้งการรักษาและการป้องกันในเบื้องต้น (กรอบระยะเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์) คิดเป็นเม็ดเงินราว 700-800 ล้านบาท ภายใต้สมมติฐานที่พิจารณาจากค่าสถิติดัชนีคุณภาพอากาศของ AQICN.ORG ที่บ่งชี้ว่าคุณภาพอากาศในเดือนตุลาคมน่าจะยังไม่ถึงขั้นเป็นปัญหาที่รุนแรง แต่ปัญหาฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานอาจจะกลับมาอีกครั้งในช่วงเดือนธันวาคม ต่อเนื่องถึงช่วงต้นปี
ขณะที่ผลต่อภาคการท่องเที่ยว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า น่าจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวที่ชัดเจนนัก โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วงนี้ ส่วนใหญ่จะมีการวางแผนล่วงหน้า แต่อาจจะมีการปรับกิจกรรมการท่องเที่ยวระหว่างวัน
ทั้งนี้ การประเมินผลกระทบจากปัญหาฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานต่อเศรษฐกิจเป็นการประเมินตัวเลขเบื้องต้นในกรอบระยะเวลา 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จะติดตามสถานการณ์และประเมินผลกระทบตามพัฒนาการของปัญหาฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานต่อไป
ในกรณีที่สถานการณ์ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานเกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานกว่า 2 สัปดาห์ที่ประเมินเบื้องต้น หรือกลับรุนแรงขึ้นมาอีกครั้ง นอกจากขนาดของผลกระทบด้านสุขภาพที่จะเพิ่มขึ้นแล้ว ก็อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบในส่วนของกิจกรรมเศรษฐกิจด้านอื่นๆ ตามมา อาทิ ผลต่อภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของทุกปี จะเป็นช่วงของฤดูกาลท่องเที่ยว ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลต่อภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวอาจมีการปรับเปลี่ยนจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อสุขภาพ รวมถึงกิจกรรมเศรษฐกิจอื่นๆ อันเนื่องมาจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชน เช่น ธุรกิจที่อยู่ในที่โล่งแจ้งอย่างร้านอาหารและสวนอาหาร เป็นต้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ประเด็นเรื่องคุณภาพอากาศหรือปัญหาฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน เป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งมีผลต่อเนื่องไปยังหลายๆ ภาคส่วน ทั้งด้านสุขภาพของประชาชนในประเทศระยะยาว ผลต่อเศรษฐกิจในหลายๆ ด้าน ทั้งด้านการท่องเที่ยว งบประมาณภาครัฐที่ต้องมาใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหา และค่าใช้จ่ายในด้านสุขภาพของประชาชน เป็นต้น
ทั้งนี้ปัญหาฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานกลายเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและเกิดขึ้นทุกปีอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลก ซึ่งเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม เพื่อบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นและการจัดการสาเหตุของปัญหาฝุ่นละอองในประเทศไทยให้ได้อย่างยั่งยืน หน่วยงานภาครัฐควรมีการดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องเป็นรูปธรรม อย่างมาตรการเฉพาะหน้าที่ควรมีความต่อเนื่อง อาทิ การตรวจจับควันดำ การตรวจสอบการปล่อยมลพิษโรงงานอุตสาหกรรม และการห้ามเผาในที่โล่งแจ้ง เป็นต้น รวมถึงมาตรการระยะกลางและยาวตามที่รัฐบาลได้วางแผนไว้
อีกทั้ง การปลูกฝังพฤติกรรมที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ก็จะช่วยบรรเทาปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้ในระยะยาว
หากค่าฝุ่นเกิน 75-100 ไมโครกรัม ผู้ว่าฯ กทม. ออกคำสั่งหยุดงาน ปิดเรียนได้ทันที
นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรีเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน ว่า ที่ประชุมได้พิจารณา 3 มาตรการหลัก ก่อนเสนอสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมีมาตรการเร่งด่วนในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นละอองเยอะ เช่น กรุงเทพฯ หากค่าฝุ่นละอองเกิน 50-75 ไมโครกรัม จะมีมาตรการดักจับรถที่ปล่อยควันดำ และเพิ่มการจัดโซนนิ่ง แต่หากค่าฝุ่นละอองเกิน 75 ถึง 100 ไมโครกรัม ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครสามารถออกคำสั่งได้ทันที เช่น สั่งปิดโรงเรียนชั่วคราว
ขณะนี้ สถานีวัดค่าฝุ่นละออง 33 สถานนี ในกทม. เช่น คลองเตย ปทุมวัน บางเขน รวมถึง อ.เมือง และ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ และบางพื้นที่ใน จ.สระบุรี มีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน แต่ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงบ่ายวันที่ 30 ก.ย. จึงยืนยันว่า ค่าฝุ่นละอองที่สูงขึ้นยังไม่ถึงขั้นเป็นอันตราย แต่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดฝุ่นละออง PM 2.5 นั้น ร้อยละ 53 มาจากยานพาหนะที่ใช้น้ำดีเซล อีกร้อยละ 35 มาจากการเผากลางแจ้ง และอีกร้อยละ 3-7 มาจากปัจจัยอื่น ซึ่งรวมถึงโรงงานอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยที่เกิดจากสภาพอากาศในช่วงที่มีความกดอากาศต่ำ ซึ่งกรมอุตุฯ คาดว่า วันที่ 1 ต.ค. หรืออย่างช้าไม่เกิน 2 วันนี้ จะมีฝนตกลงมาทำให้สถานการณ์ฝุ่นละอองคลี่คลาย พร้อมขอให้ประชาชนอย่าตืนตระหนกกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และสามารถติดตามข้อมูล สภาพอากาศจากแอปพลิเคชันแอร์โฟร์ไทย ที่จะมีการอัปเดตเป็นรายชั่วโมง และทุก 24 ชั่วโมง ที่จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าจะมีอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนหรือไม่ และหลังจากนี้ จะนำแนวทางแก้ไขปัญหาที่ได้หารือ แล้วเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :