10 ก.พ.2564 เพจราษฎรนัดหมายกันที่สกายวอล์ค แยกปทุมวัน เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 และปล่อยแกนนำ 4 คนที่ศาลสั่งขังหลังจากอัยการยื่นฟ้องคดีมาตรา 112 ไปเมื่อวานนี้ (9 ก.พ.) คือ อานนท์ นำภา พริษฐ์ ชิวารักษ์ สมยศ พฤกษาเกษมสุข ปฏิวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ทั้งนี้เพจราษฎรนัดหมายรวมตัวมาก่อนแล้วในธีม 'รวมพลคนไม่มีจะกิน ตีหม้อไล่เผด็จการ' แต่ประเด็นได้เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ที่เข้มข้นขึ้น
เวลา 16.00 มีประชาชนมายังจุดนัดหมายราว 200 คน มีทั้งกลุ่มคนรุ่นใหม่และ กลุ่มคนเสื้อแดง ทำกิจกรรมของตนเองอย่างหลากหลาย อาทิ อาเล็ก ศิลปินเสื้อแดงนำกีต้าร์มาแสดงดนตรีสด โดยมีคนเสื้อแดงนำหมอกระทะมาเคาะประกอบจังหวะ กลุ่มคนรุ่นใหม่นำกล่องมาตีอยู่อีกจุดหนึ่ง
สำหรับการเตรียมการรับมือการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น พบว่า มีรถฉีดน้ำแรงดันสูงอย่างน้อย 3 คัน พร้อมเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนประมาณ 300 นาย ประจำการอยู่ที่สนามกีฬาเทพหัสดิน เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งจุดตรวจค้นอาวุธบริเวณทางเข้าออกสกายวอล์คกลางแยกปทุมวันทุกจุด วางกำลังจุดละประมาณ 10 นาย
มีรายงานด้วยว่า เวลาประมาณ 16.15 น. มีผู้หญิงคนหนึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมตัวไประหว่างกำลังพ่นสีสเปรย์ข้อความบนป้ายโฆษณาบนสกายวอล์คว่า “ยกเลิก 112” และ “NO JU” ซึ่งคาดว่าตั้งใจจะพ่นคำว่า NO JUSTICE
16.55 น. ธัชพงศ์ แกดำ กล่าวนำคนหนึ่งเริ่มต้นปราศรัยด้วยการกล่าวประโยคแล้วให้มวลชนกล่าวตามว่า “ยกเลิก 112 ตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป ประเทศนี้จะต้องเป็นของราษฎร” พร้อมเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกกล่าวหาคดี 112 ทุกคนออกจากเรือนจำ
เขากล่าวต่อถึงข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อคือ 1.ให้ประยุทธ์ ลาออก 2.ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 3.ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องที่วางอยู่บนพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย แต่สิ่งเหล่านี้กลับถูกเมินเฉยจากรัฐและชนชั้นนำไทย อีกทั้งยังจับกุมนักเคลื่อนไหวไปอยู่ในเรือนจำอีก 4 คน ฉะนั้นราษฎรจะต้องออกมารวมตัวกันอีกครั้ง
17.05 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจนำรถติดลำโพงขยายเสียงมาประกาศให้ผู้ชุมนุมทราบว่า กำลังฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยจอดรถขยายเสียงอยู่ฝั่งห้างมาบุญครอง มวลชนจำนวนหนึ่งข้ามจากฝั่งหอศิลป์ฯ ไปยังเกาะกลางถนนเพื่อตะโกนขับไล่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจให้ออกไปจากพื้นที่ เจ้าหน้าที่ยอมถอย ขณะที่กลุ่มการ์ดได้เดินเข้าไปขอความร่วมมือมวลชนให้กลับมายังบริเวณหน้าหอศิลปฯ เช่นเดิม
17.30 น. ภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ ขึ้นปราศรัยว่า เดิมทีมีการประชาสัมพันธ์นัดชุมนุมในธีมรวมพลคนไม่มีจะกิน ต่อต้านเผด็จการ จึงเห็นคนเอาหม้อกระทะมาร่วมเคาะประท้วงเพราะตอนนี้ไม่มีจะกินกันแล้ว วันนี้ถือเป็นการคิกออฟอย่างเป็นทางการ แม้เมื่อวานแกนนำจะถูกสั่งขังในเรือนจำระหว่างพิจารณาคดี แต่ขอให้มวลชนอย่ายึดติดกับแกนนำ นอกจากนี้เขายังวิจารณ์การบริหารงานที่ผิดพลาดของรัฐบาลเรื่องวัคซีน และระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ดึงสถาบันกษัตริย์มาปิดปากผู้เห็นต่างทางการเมือง มีการดำเนินคดี 112 กับนักเคลื่อนไหวและผู้ชุมนุมหลายคน ทั้งที่ไม่ได้มีการหมิ่นประมาทอาฆาตมาดร้าย หากไม่อยากให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ต้องการให้ประชาชนพูดถึงก็ควรทำให้สถาบันกษัติรย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และยกเลิกกฎหมายมาตรา 112
18.00 น. ผู้ชุมนุมรวมตัวอยู่เต็มลานกว้างหน้าหอศิลป์ฯ และบางส่วนกระจายตัวอยู่บนสกายวอล์ค คาดว่ามีจำนวนราว 1,000 คน โดยมีชาวเมียนมาที่อาศัยอยู่ในไทยเข้าร่วมชุมนุมด้วย
มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจเก็บป้ายผ้าของผู้ชุมนุมที่แขวนตามสะพานลอยไปทั้งหมด 3 ป้าย อาทิ ป้ายลายธงชาติเยอรมันมีข้อความว่า “มีคนตายเพราะ 112” ป้ายผ้าสีขาวมีข้อความว่า “เราจะสู้กับผู้เหยียบย่ำเราเยี่ยงสัตว์ด้วยความเป็นมนุษย์”
19.00 น.ผู้ชุมนุมเริ่มเดินลงถนน มีนักกิจกรรมกลุ่มหนึ่งตีกลองเป็นจังหวะให้ผู้ชุมนุมคนเต้นประกอบจังหวะและมีการนำป้ายไวนิลกางกับพื้นถนน มีข้อความว่า “ตัดงบสถาบันฯ แบ่งปันประชาชน” ขบวนเริ่มเคลื่อนมุ่งหน้าไปทาง สน.ปทุมวัน ระหว่างเดินมีการตะโกนคำว่า “ปล่อยเพื่อนกู” สาเหตุที่มีการเคลื่อนขบวน เนื่องจากมีผู้ชุมนุมถูกควบคุมตัวจากหน้าหอศิลป์มายัง สน.ปทุมวันหลายราย
เพจไอลอว์ รายงานว่า มีประชาชนถูกควบคุมตัวมา สน.ปทุมวันทั้งหมด 8 คนถูกจับทั้งจากพื้นที่ชุมนุมและด่านตรวจรอบพื้นที่ชุมนุม มีทนายความอาสาจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนตามมาภายหลัง
1. ศศลักษณ์ หรือ ภูมิ เยาวชนอายุไม่ถึง 18 ปี ถูกตั้งข้อกล่าวหาเรื่องการมีวิทยุพกพาชนิดพิเศษ (วอดำ) ติดตัวโดยไม่ได้รับออนุญาต
2. กำไล (ญ) ถูกตั้งข้อกล่าวหาจากการพ่นสี ข้อความลงบนป้ายของสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสว่า No Justi... ตำรวจเปรียบเทียบปรับ 1,000 บาท ตามพ.ร.บ.ความสะอาดฯ แล้วปล่อยตัว
3. พอร์ช พกพาอาวุธในที่สาธารณะ (กระบองเหล็กยืดหด) ตำรวจให้เปรียบเทียบปรับ
4. ต้า พกพาอุปกรณ์ที่ประกอบเป็นวิทยุ (วอดำ) โดยไม่มีแบตเตอรี่ ไม่มีเสาสัญญาณ
5. ฟีฟ่า เยาวชนอายุไม่ถึง 18 ปี พกพาอุปรกณ์ที่ประกอบเป็นวิทยุ (วอดำ) ไม่มีแบตเตอรี่ ไม่มีเสาสัญญาณ
6. นนท์ พกพาพลุควัน
7. จั๊ด (ญ) พกพายุทธภัณฑ์ คือ หน้ากากกันแก๊ส
8. นนท์ พกพายุทธภัณฑ์ คือ หน้ากากกันแก๊ส
19.45 น. ขบวนเคลื่อนมาถึง สน.ปทุมวัน ทางเข้าออกมีชุดควบคุมฝูงชนยืนกั้นอยู่ แกนนำประกาศว่า ขณะนี้คนที่ถูกตำรวจนำตัวมา สน. ได้รับการปล่อยตัวแล้ว แต่ยังเหลือเยาวชนอีก 2 คนที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่าที่ปล่อยตัวล่าช้าเพราะมีคอมพิวเตอร์ทำงานเพียงเเครื่องเดียว ไมค์ประกาศว่า ให้เวลาถึง 20.30 น. หากยังไม่ปล่อยเยาวชนออกมาจะบุกเข้าไปด้านใน
20.00 น. ครูใหญ่ อรรถพล บัวพัฒน์ ขึ้นปราศรัยบริเวณหน้า สน.ปทุมวัน ชี้ว่า หลังศาลมีคำสั่งไม่ปล่อยตัว 4 แกนนำ เมื่อ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา บุคคลที่เขาต้องการพูดถึงคือ หมอลำแบงค์ หรือ ปฏิวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ที่อาจไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนักในกลุ่มประชาชน แต่เขาคือคนที่ต่อสู้และโดนจับกุมเป็นครั้งที่ 3 ล่าสุดถูกคุมขังด้วยกฎหมายมาตรา 112 ครูใหญ่ย้ำว่าต้องเกิดการปฏิรูปกฎหมายหรืออย่างน้อยที่สุดต้องแก้ไขไม่ให้ผู้ใดก็ได้สามารถแจ้งความแบบที่เป็นอยู่ ต้องให้ผู้ถูกหมิ่นประมาทเป็นผู้ร้องทุกข์เอง
"ไม่สู้ติดแน่ แพ้ติดนาน สู้ยังไงก็ผิดเพราะเขาให้เราไปสู้ในตาราง"
"อย่าชินกับการถูกกดขี่และอย่าชินกับการถูกกดทับ การถูกกดขี่ไม่ใช่เรื่องปกติ สังคมศักดินาไม่ใช่เรื่องปกติ การไม่ให้ประกันตัว ม.112 ไม่ใช่เรื่องปกติในสังคมโลก"
20.27 น. มีรายงานว่า ผู้ถูกจับกุมทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวแล้ว แต่ก่อนหน้านี้มีเหตุชุลมนเกิดขึ้น โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนที่ประจำการอยู่ที่จุฬาซอย 7 อ้างว่ามีการโยนระเบิดปิงปองใส่เจ้าหน้าที่ จึงได้ขยับแนวเข้ามาใกล้ผู้ชุมนุม นอกจากนี้มีรายงายว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้แก๊สน้ำตากับผู้ชุมนุมที่เข้าไปเป็นแนวกั้น โดยผู้ชุมนุมยืนยันว่าได้กลิ่น แต่เจ้าหน้าควบคุมฝูงชนปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผุู้ใช้
รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ปราศรัยว่า วันนี้ถือเป็นการประกาศศักราชการต่อสู้ในปี 2564 พร้อมยืนยันว่าการต่อสู้ต่อจากนี้จะยังคงใช้หลักการสันติวิธี และการพูดการแสดงออกก็นับเป็นสันติวิธี เป้าหมายของปีนี้ต้องการให้ประชาชนออกมาให้มากที่สุด หากประชาชนออกมามากเท่าไรก็ยิ่งเข้าใกล้เป้าหมายในการปฏิรูปสถาบันมากขึ้นเท่านั้น วันนี้ผู้ชุมนุมเดินมาที่ สน.ปทุมวัน แล้วไม่โดนสกัดเพราะไม่มีแผนที่จะมาที่นี่ตั้งแต่เเรก เจ้าหน้าที่จึงไม่ทันได้ตั้งรับ ฉะนั้นจากนี้ไป ขอให้ทุกคนเตรียมพร้อม มีสติ และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะการเคลื่อนขบวนจะเเจ้งให้ทราบในวันนั้น
อย่างไรก็ตามในวาระที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ กลุ่มราษฎรจะออกมาปราศรัยนอกสภาด้วยเช่นกัน แต่จะเป็นที่ไหนให้รอติดตาม จากนั้นรุ้งประกาศยุติชุมนุมในเวลา 21.00 น