ไม่พบผลการค้นหา
รัฐสภาเห็นชอบ ‘FTA ไทย-ศรีลังกา’ มติเอกฉันท์ 580 ต่อ 0 ด้าน ‘จิราพร’ สส.เพื่อไทย เชื่อ ‘ศรีลังกา’ เป็นตลาดแห่งอนาคต ‘จุรินทร์’ โวผลงานเก่าสมัยนั่ง รมว.พาณิชย์ แนะรัฐบาลเจรจา FTA ‘สหภาพยุโรป-EFTA-UAE’ ด้าน ‘ก้าวไกล’ ถามหา ‘การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ’ เอื้อผู้ประกอบการไทยในศรีลังกา

จิราพร สินธุไพร สส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมี FTA ที่มีผลใช้บังคับ 14 ฉบับที่สรุปการเจรจาได้ในช่วงรัฐบาลไทยรักไทย และรัฐบาลเพื่อไทย สำหรับประเทศศรีลังกาด้วยเช่นกันที่สำเร็จในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ภายใต้การนำของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่มีนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก และมุ่งมั่นทำให้ประเทศไทยมีบทบาทในเวทีโลก รวมถึงทำให้ไทยเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลก 

จิราพร ย้ำว่า ความตกลงการค้าเสรีกับศรีลังกาถือเป็นนโยบาย Quick Win ที่ทางการไทยเร่งการเจรจาบนพื้นฐานผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ แม้ว่าศรีลังกาไม่ใช่คู่ค้าอันดับต้นๆ ของไทย แต่ยุทธศาสตร์การค้าภาพรวมต้องไม่มองแค่คู่ค้าหลัก ซึ่งศรีลังกาเป็นประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าสูง และไทยดุลการค้ากับศรีลังกาอยู่ เมื่อ FTA มีผลบังคับใช้จะดันมูลค่าการส่งออกขยายตัวไปสู่ศรีลังกามากขึ้น นอกจากนี้ ศรีลังกายังเปิดตลาดให้ไทยสูงสุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่ศรีลังกาเป็นคู่ค้าด้วย ในขณะที่ไทยนั้นเปิดให้ศรีลังกาน้อยกว่าคู่เจรจาอื่นที่ผ่านๆ มา 

“รัฐบาลต้องรักษาตลาดเก่า ในขณะเดียวกันต้องหาตลาดใหม่ ในอาเซียนมีเพียงแค่ไทย และสิงคโปร์เท่านั้นที่ FTA กับศรีลังกา เป็นอีกหนึ่งคำอธิบายว่า ศรีลังกา เป็นตลาดใหม่ และเป็นตลาดแห่งอนาคตที่สิงคโปร์จับจ้องเข้าไปทำพื้นที่การค้านั้น”จิราพร กล่าว 

ด้าน จุลพงษ์ อยู่เกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งคำถามต่อข้อตกลงการค้าเสรีว่า วิธีการตั้งหัวข้อการเจรจา FTA กับศรีลังกา เรามีอะไรใหม่ๆ หรือไม่ เพราะแต่ละประเทศมีทรัพยากรทางการค้าที่แตกต่างกันออก รวมถึงขณะนี้ที่เรามีการเจรจา FTA กับประเทศมหาอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป หรืออื่นๆ ประเด็นที่ถูกเรียกร้องเสมอคือ ‘การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ’ ซึ่งใน FTA กับศรีลังกานั้นมีหรือไม่ เพื่อเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการไทยหรือไม่ เนื่องจากศรีลังกาเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีความต้องการมหาศาลในเรื่องภาครัฐ

ขณะที่ จุรินทร์ ลักษณะวิศิษฐ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวสนับสนุน FTA ไทย-ศรีลังกา ในฐานะผู้ที่เคยมีส่วนสำคัญในการผลักดันร่วมกับข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ ขณะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะนั้น) 

จุรินทร์ ยังมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทยอีกว่า ขอเร่งรัดให้มีการเจรจา FTA อย่างน้อยอีก 3 ฉบับ ได้แก่ FTA ไทย-สหภาพยุโรป (EU) ซึ่งมีจำนวน 27 ประเทศ และถ้าหากเราประสบความสำเร็จในการลงนามจะทำให้ตัวเลขประเทศที่เราเป็นคู่ค้าเสรีด้วยสูงถึง 46 ประเทศ รวมถึง FTA ไทย-EFTA ประกอบด้วย ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ สวิสเซอร์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ ท้ายที่สุดคือ FTA ระหว่างไทย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) เนื่องจากจะสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะเป็นประตูการค้าไปสู่ตะวันออกกลาง ซึ่งจะทำให้สินค้าไหลไปสู่ประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง หรือประเทศในแถบอ่าวอาหรับ 

ทั้งนี้ จุรินทร์ ย้ำว่า หากเจรจา FTA ทั้ง 3 ฉบับที่ตนได้เสนอไปสำเร็จนั้น จะมีผลสำคัญในการที่จะทำให้เราไม่ถูกทิ้งห่างทางเศรษฐกิจกับเวียดนามมากนัก 

จนกระทั่งเวลาประมาณ 12.35 น. ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ในจำนวนองค์ประชุม 582 คน ได้มีมติเห็นชอบกับข้อตกลงการค้าเสรี (Free Trade Area; FTA) ระหว่างไทย และศรีลังกา เห็นด้วย 580 ไม่เห็นด้วย 0 และงดออกเสียง 2 เพื่อให้คณะรัฐมนตรีนำ FTA ฉบับนี้ไปดำเนินการต่อไป