ผ่านมา 4 ‘พรรคทหาร’ แยกเป็นแม่น้ำ 2 สาย ‘บิ๊กป้อม’พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ยังคงอยู่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ฐานที่มั่นเดิม ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ ไปสร้างรังใหม่ ‘รวมไทยสร้างชาติ’ เข้าคุมพรรคฯเอง สมัครเป็น ‘สมาชิกพรรค’ ขึ้นเป็น ปธ.กรรมยุทธศาสตร์ฯ ที่ถูกมองเป็น ‘ซูเปอร์บอร์ด-โปลิตบูโร’ หรืออีกแง่คือ พล.อ.ประยุทธ์ ถูกมองเป็น ‘หัวหน้าพรรคตัวจริง’ นั่นเอง
ในสถานการณ์เช่นนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงเป็น นายกฯ ทหาร ที่เป็น รมว.กลาโหม ด้วย ในฝั่ง ‘กองทัพ’ จะมี ‘ระยะห่าง’ อย่างไรในช่วงเลือกตั้ง ในยุคนี้ ผบ.เหล่าทัพ ถูกมองว่ามี ‘ระยะห่าง’ จาก พล.อ.ประยุทธ์ เพราะรุ่นเตรียมทหาร (ตท.) ห่างกัน โดย พล.อ.ประยุทธ์ ตท.12 แต่ ผบ.เหล่าทัพ เป็น ตท.21-22 อีกทั้งไม่ได้เติบโตมาสายขั้วอำนาจ ‘3ป.บูรพาพยัคฆ์’ เฉกเช่นยุค คสช..
ในช่วงเวลาที่กองทัพถูกเพ่งเล็ง ทำให้ ‘เหล่าทัพ’ ต้องระวังตัวยิ่งขึ้น ในการ ‘วางตัว-แสดงออก’ ต่างๆ ซึ่งแต่ละเหล่าทัพมี ‘มาตรฐาน’ เหมือนกัน เพราะต้องยึดตาม คือ ข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ปี 2549 และมติคณะรัฐมนตรีปี 2562 ที่เกี่ยวกับการสนับสนุนสถานที่หาเสียงและเลือกตั้ง การจัดสถานที่ติดตั้งป้ายหาเสียง ไม่ให้กำลังพลไม่วิจารณ์การกระทำฝ่ายการเมืองและไม่แสดงออกโดยตรงหรือปริยายถึงผู้สมัครรับเลือกตั้ง
ล่าสุด กรมกิจการพลเรือน ทบ. ได้จัดทำ ‘คู่มือแนวทางการปฏิบัติของกองทัพบกในการสนับสนุนการเลือกตั้ง พ.ศ.2566’ ออกมา โดยได้สรุปเป็นโปสเตอร์ติดในหน่วย ทบ. หรือที่เรียกว่า '5ทำ - 5ไม่' ภายหลัง ‘บิ๊กบี้’พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. ได้สั่งการในที่ ประชุมผู้บังคับหน่วยขึ้นตรงกองทัพบกวาระพิเศษ ถึงระดับ ‘ผู้บังคับกองพัน’ เมื่อ ก.พ. 2566 ในเรื่องการวางตัวและการปฎิบัติตัวให้ ‘วางตัวเป็นกลาง’
คู่มือดังกล่าว พล.อ.ณรงค์พันธ์ เปิดเผยว่า คู่มือนี้ ทบ. ไม่ได้เขียนขึ้นเอง ได้หารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แล้ว เมื่อกองทัพบกสั่งไปก็ต้องปฏิบัติตาม ถ้าไม่ปฏิบัติตามก็ผิด และขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา แต่ในบทบาทหนึ่งของกำลังพลของกองทัพบกก็คือประชาชนคนหนึ่ง และเราก็พยายามผลักดันให้ไปใช้สิทธิของประชาชนคนหนึ่งในการออกไปเลือกตั้งให้มากที่สุด
สำหรับแนวทางปฏิบัติในการสนับสนุน การเลือกตั้ง คือ สิ่งที่ควรปฏิบัติ 5 ข้อ
1. กองทัพบก สนับสนุนให้กำลังพล เห็นถึงความสำคัญของการเลือกตั้ง ให้กำลังพลไปทำหน้าที่ใช้สิทธิเลือกตั้งทุกครั้ง ให้เป็นตัวอย่างของประชาชนทั่วไป
2.รวมทั้งให้คำแนะนำ ชักชวนบุคคลผู้มีสิทธิในครอบครัว ญาติ และมิตรสหาย ไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยพร้อมเพรียงกัน
3.ให้ทุกหน่วยส่งเสริม และอำนวยความสะดวกให้กำลังพล และครอบครัวได้รับฟังการหาเสียง โดยประกาศแจ้งเตือนให้ทราบถึงวัน เวลา และสถานที่ที่จะมีการหาเสียง และจัดเจ้าหน้าที่ควบคุมรักษาความสงบเรียบร้อยตามความเหมาะสมส่วน กำลังพลที่มีภูมิลำเนาอยู่นอกเขตการเลือกตั้งที่กำลังพลผู้นั้นปฏิบัติงานอยู่ ให้กำลังพลผู้นั้นไปทำหน้าที่ใช้สิทธิลงคะแนน ณ หน่วยเลือกตั้งกลางได้ โดยต้องลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า
4.สำหรับกรณีที่กำลังพลมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตการเลือกตั้งของหน่วยการเลือกตั้งที่ตนเองไปให้การสนับสนุนสามารถไปใช้สิทธิลงคะแนน ณ หน่วยเลือกตั้งนั้น โดยให้กำลังพลดังกล่าวนำคำสั่งแต่งตั้งจากคณะกรรมการ การเลือกตั้งไปแสดง ณ หน่วยเลือกตั้ง เพื่อขอใช้สิทธิเลือกตั้ง
5.กำลังพลทหารประจำการที่ได้รับคำสั่งจากทางราชการ ให้ไปปฏิบัติหน้าที่เที่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ นอกที่ตั้งปกติที่ตนมีภูมิลำเนานั้น และไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้ง ในวันเลือกตั้งได้ ให้ผู้บังคับหน่วยนั้นแจ้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง พร้อมทั้งให้กำลังพลลงทะเบียนเลือกตั้ง ล่วงหน้าด้วยตนเอง เพื่อให้กำลังพลดังกล่าวได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า
ส่วนสิ่งที่ “ไม่ควรทำ” 5 ข้อ คือ
1. ไม่ควรให้มีการจัดการฝึกอบรมหรือประชุมสัมมนาในช่วงระยะเวลา 10 วัน ก่อนเลือกตั้ง
2.ไม่ควรให้กำลังพลของ ทบ. เป็นคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง หรือเจ้าหน้าที่นับคะแนนโดยเด็ดขาด
3.ไม่ควรใช้ยานพาหนะ หรืออากาศยานของ ทบ. ในการประชาสัมพันธ์ ให้กับผู้สมัครหรือกลุ่มที่หวังผลทางการเมืองโดยเด็ดขาด
4.ไม่ควรให้ใช้พื้นที่ของหน่วยเป็นสถานที่เลือกตั้ง หรือเก็บหีบบัตรเลือกตั้ง
5.ห้ามมิให้กำลังพลของกองทัพบกเป็นคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง และเป็นเจ้าหน้าที่นับคะแนนโดยเด็ดขาด
อย่างไรก็ตามเกิดเรื่องขึ้นใน ทบ. หลัง พล.อ.ณรงค์พันธ์ ผบ.ทบ. ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายในระดับ ‘ผู้บังคับการกรม’ เรียกว่า ‘เชือดไก่ให้ลิงดู’ ที่ถูกโยกย้าย ฟ้าผ่าไปที่ ‘2 ผู้การฯ กรม’ สะท้านไปทั้ง พล.ร.11 เพราะปรากฏภาพถ่ายกับ ‘นักการเมือง’ ขัดกฎเหล็ก ‘5ทำ 5ไม่’ ที่ออกมาก่อน ทำให้ทหารต้อง ‘เก็บเนื้อเก็บตัว’ กันมากขึ้น เพราะเป็นช่วงสถานการณ์พิเศษ มีการหาเสียง-เลือกตั้ง
ซึ่งจุดนี้เองทำให้ฝั่งขั้วอำนาจ ‘2ป.ประยุทธ์-ประวิตร’ รู้ดีว่าในยุคนี้ ‘กองทัพ’ ไม่สามารถคุมแถวได้ เพราะ ‘โครงสร้าง-ดุลอำนาจ’ ในกองทัพเปลี่ยนไป ถึงกับทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ออกอาการ หลังนำประชุมสภากลาโหม ที่ได้พบกับ ผบ.เหล่าทัพ เมื่อสัปดาห์ก่อน หลังถูกสื่อซักในเรื่องท่าทีของ ‘กองทัพ’ ช่วงเลือกตั้ง
“เขาได้แถลงและพูดไปแล้ว ก็ต้องสนับสนุนตามกระบวนการประชาธิปไตย ในเรื่องการเลือกตั้ง ก็แล้วแต่ ซึ่งที่ทราบในเบื้องต้น คือ หากจะเข้าไปหาเสียงในหน่วยทหารก็ไม่ได้ขัดข้องอะไร เพียงแต่ว่าต้องให้ทุกพรรค ไม่ใช่พรรคใดพรรคหนึ่ง มันจะเป็นการได้เปรียบเสียเปรียบกัน นั่นคือหลักการ ก็มีเท่านั้นเอง” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ โดนถามถึงความสัมพันธ์ส่วนตัวกับ ‘พี่น้องเหล่าทัพ’ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ เดินออกจากวงสัมภาษณ์พร้อมอุทานขึ้นมาว่า “โธ่เอ้ย”
ส่วนที่ช่วงนี้จะต้องมีระยะห่างกับ ผบ.เหล่าทัพ ในช่วงการเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบว่า “มันคนละเรื่อง คนเขาโตเป็นผู้ใหญ่ขนาดนี้แล้ว ต้องไปสอนอะไรมากมาย ก็รักกันดีอยู่ทุกคน ไม่ใช่เพื่อการเมือง ทหารต้องเข้มแข็ง เพื่อต้องสร้างอำนาจ กำลังรบของเรา ดังนั้นต้องสามัคคีทุกเหล่าทัพ”
ในฝั่ง พล.อ.ณรงค์พันธ์ ก็สงวนท่าทีพูดถึง พล.อ.ประยุทธ์ หลังสื่อถามว่า มองท่าที พล.อ.ประยุทธ์ ในช่วงนี้อย่างไร พล.อ.ณรงค์พันธ์ กล่าวเพียงว่า “ไม่ทราบ ท่านเป็นผู้บังคับบัญชา ไปพูดไม่ได้”
ท่าทีของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ เรียกได้ว่า ‘คงเส้นคงวา’ ตั้งแต่ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. เมื่อ 2 ปีก่อน ที่มีระยะห่าง ‘ไม่ออกตัวแรง’ ในเรื่องการเมือง แม้จะเคยมีกระแสข่าว ‘ปลด ผบ.ทบ.’ ก็ตาม
ทำให้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ไม่ตกเป็นเป้าการเมือง อีกเพียง 6 เดือนเท่านั้น พล.อ.ณรงค์พันธ์ ก็จะเกษียณฯ เหตุการณ์ ‘เชือดไก่ให้ลิงดู’ ที่เกิดขึ้นในโผโยกย้าย ‘ผู้การฯกรม’
แต่อีกแง่หนึ่ง ‘กองทัพ’ กับฝั่งรัฐบาลในปัจจุบัน ก็มีลักษณะ ‘ล่มหัวจมท้าย’ เพราะนโยบายที่ขั้วฝ่ายค้านหาเสียง ล้วนสะเทือนกองทัพ เช่น การปฏิรูปกองทัพ การยกเลิกเกณฑ์ทหาร การยกเลิกมาตรา 112 หรือการแตะต้องกฎหมายความมั่นคงต่างๆ เป็นต้น
เพราะถ้า ‘รัฐบาลเปลี่ยนขั้ว’ ก็สะเทือน ‘กองทัพ’ ไปด้วย ซึ่งท่าทีของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ก็ยังคงนิ่งต่อนโยบายเหล่านี้ โดยให้ ‘คนส่วนใหญ่’ ตัดสินดูว่าเป็นอย่างไร
ภายใต้ ‘ความเงียบ’ ที่ไม่ ‘เงียบ’ เท่าไหร่ !!