ตามแผนการพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย 2561 - 2580 (PDP2018) ที่จัดทำโดยกระทรวงพลังงานเพื่อเตรียมพร้อมรองรับการใช้ไฟฟ้าในอนาคตของประเทศ มีเป้าหมายในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 67 ขึ้นไปเป็น 77,221 เมกะวัตต์ ภายในปี 2580 โดยมีสัดส่วนมาจากพลังงานทดแทนราว 20,766 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นร้อยละ 37 ของกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมด
จากการประเมินขององค์การพลังงานทดแทนระหว่างประเทศ หรือ IRENA ซึ่งสอดคล้องกับที่หน่วยงานอื่นๆพบว่า พลังงานจากลมและแสงอาทิตย์จะขึ้นมาเป็นพลังงานทดแทนหลักในการผลิตไฟฟ้า โดยเมื่อพิจารณาจากสภาพภูมิประเทศของไทยที่มีลมความเร็วต่ำและมีศักยภาพในบางพื้นที่เท่านั้น จึงคาดการณ์ว่าพลังงานทดแทนของไทยในอนาคตจะมีการเติบโตมากที่สุดจากพลังงานแสงอาทิตย์
'รัฐวิสาหกิจ' และการควบรวมอำนาจ
ที่ผ่านมา ประเทศไทยพึ่งการผลิตไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นหลัก โดย กฟผ. มีการรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตได้จากภาคเอกชน ทั้งจาก ผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ (IPP) และผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อย (SPP) รวมทั้งการนำเข้ากระแสไฟฟ้าจากต่างประเทศ โดยตามแผน PDP2018 นับตั้งแต่ปัจจุบันไปจนถึงปี 2580 ประเทศไทยก็ยังจะพึ่งการผลิตไฟฟ้าจาก กฟผ. ซึ่งมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจเป็นหลัก
หากมองตอนแผนพลังงานดังกล่าวนี้ จะพบว่า สิ่งที่ยังไม่มีการพูดถึงและเป็นปัญหาในการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดของประเทศคือกฎหมายที่ออกมารองรับให้เอกชนสามารถขึ้นมาเป็นผู้จำหน่ายไฟฟ้าอย่าที่ กฟผ. ทำอยู่ในปัจจุบัน
‘คาวิตา ซิงห์’ ผู้อำนวยการด้านพลังงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากองค์กรเพื่อสภาพอากาศแห่งสหภาพยุโรป กล่าวว่า การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนด้วยตัวของมันแล้วคือการกระจายอำนาจเพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงได้ ใม่ใช่การผูกขาดทางการค้า เพราะนั่นเป็นรูปแบบของพลังงานเดิมอย่างฟอสซิล
นอกจากนี้ คาวิตา ยังชี้ว่า หากอยากให้อุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนพัฒนาได้เร็ว ต้องทำให้กฎเกณฑ์ในการเข้ามายังอุตสาหกรรมนี้น้อยลง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เล่นจากหลายส่วนเข้ามาแข่งขันกันด้วยเทคโนโลยีและความรู้ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาต้นทุนต่ำลงไปอีก
"ไม่ว่าคุณจะทำอะไร มันเป็นการขับเคลื่อนของเทคโนโลยี เงินทุน และการแข่งขัน ไม่ใช่การผูกขาด" คาวิตา กล่าว
ด้าน ฐิติพน สังข์เพชร หัวหน้ากองวางแผนพัฒนาระบบไฟฟ้ารูปแบบใหม่ จาก กฟผ. กล่าวว่า หน้าที่หลักขององค์กรคือการดูแลความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ และการสร้างความสมดุลจากแหล่งที่มาของพลังงานเพื่อให้ประเทศและเศรษฐกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ ทั้งนี้ กฟผ.รับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาของเทคโนโลยีดี และพร้อมเปิดรับการร่วมมือจากภาคเอกชนเพื่อการพัฒนาในอนาคต
"นี่คือประเทศเสรี เราไม่สามารถห้ามไม่ให้มีโซลาร์บนดาดฟ้าได้ เราหยุดพวกเขาไม่ได้" ฐิติพร กล่าว
แม้ กฟผ. จะออกมายืนยันถึงการเปิดใจและความพร้อมในการร่วมมือกับภาคเอกชน ขณะเดียวกันสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีไอโอ ก็พยายามผลักดันการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนชาวต่างชาติในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดตลอดเวลา ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี
อย่างไรก็ตาม การปราศจากกฎหมายที่อนุญาตให้เอกชนสามารถเป็นผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าและขายได้ย่อมสร้างความลังเลในการลงทุนและเปิดโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานให้ประเทศคู่แข่ง อาทิ มาเลเซีย ที่มีกฎหมายอนุญาติให้เอกชนสามารถขายไฟฟ้าได้ ทั้งยังเป็นการตอกย้ำความพยายามในการเป็นผู้เล่นรายเดียวในประเทศของ กฟผ. หรือกล่าวให้ลึกลงไปกว่านั้น ก็คือ รัฐบาลไทย