เนื่องในโอกาสวันแม่ เรามีข่าวดีสำหรับคุณแม่มือใหม่มาฝากกันค่ะ มีผลวิจัยล่าสุดออกมาว่าความเชื่อที่ว่ากาแฟและแอลกอฮอล์เป็นอาหารต้องห้ามสำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์ เป็นความเชื่อผิดๆ
เนื่องในโอกาสวันแม่ เรามีข่าวดีสำหรับคุณแม่มือใหม่มาฝากกันค่ะ มีผลวิจัยล่าสุดออกมาว่าความเชื่อที่ว่ากาแฟและแอลกอฮอล์เป็นอาหารต้องห้ามสำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์ เป็นความเชื่อผิดๆ สรุปแล้วคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ควรบริโภคแอลกอฮอล์และคาเฟอีนหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน
ในความคิดของผู้หญิงส่วนใหญ่ การตั้งครรภ์ไม่ได้เป็นสิ่งที่น่ากลัวเฉพาะเวลาที่ต้องคลอดลูกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงช่วงเวลา 9 เดือนระหว่างการอุ้มท้อง ที่นอกจากจะต้องเผชิญอาการแพ้ท้อง ปวดหลัง น้ำหนักขึ้น อารมณ์ขึ้นๆลงๆ ปัญหาท้องลาย และอื่นๆอีกมากมายไม่รู้จบ ยังต้องมีข้อห้ามมากมายที่ไม่สามารถทำได้ในระหว่างตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นการห้ามออกกำลังกายหนักๆ ห้ามยกของ หรือเอี้ยวตัวมากเกินไป ซึ่งสำหรับผู้หญิงยุคใหม่ที่ต้องทำงานนอกบ้าน ข้อห้ามเหล่านี้ถือว่าสร้างภาระให้กับชีวิตไม่น้อยเลยทีเดียว
แต่สิ่งที่คุณแม่หลายๆคนเบื่อหน่ายมากที่สุด ก็คือข้อห้ามในเรื่องอาหารการกิน แน่นอนว่าผู้หญิงทุกคนพยายามรับประทานอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ แต่ยังมีราายการอาหารต้องห้ามมากมาย ที่ผู้หญิงไม่สามารถกินได้ ทั้งๆที่ปกติของเหล่านี้เป็นสิ่งที่หลายคนเสพติดในชีวิตประจำวัน เช่นกาแฟ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
แพทย์ส่วนใหญ่แนะนำไม่ให้ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ดื่มกาแฟ ทั้งๆที่คุณแม่หลายคนติดกาแฟ ต้องดื่มทุกเช้า และบางคนก็ดื่มวันละหลายแก้ว โดยเชื่อว่าการดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน จะทำให้แท้งลูกได้ง่าย รวมถึงทำให้เด็กมีไอคิวต่ำกว่าปกติ
อย่างไรก็ตาม ผลวิจัยใหม่จากออสเตรเลียบ่งชี้ว่า จริงๆแล้วการวิจัยก่อนหน้านี้ซึ่งระบุว่าผู้หญิงที่ดื่มกาแฟ เสี่ยงต่อการแท้งลูกมากกว่าผู้ที่ไม่ดื่มกาแฟ เป็นเพียงเหตุการณ์บังเอิญที่ไม่ได้มีนัยสำคัญถึงกัน ผู้หญิงที่ดื่มกาแฟส่วนใหญ่เป็นพนักงานออฟฟิศที่ทำงานหนัก มีความเครียดสูง จึงเสี่ยงต่อการแท้งลูกมากกว่าผู้หญิงที่ไม่ดื่มกาแฟ โดยไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับคาเฟอีนที่ร่างกายได้รับ สังเกตได้จากผู้หญิงที่ดื่มน้ำอัดลมที่มีปริมาณคาเฟอีนสูง ก็ไม่ได้มีอัตราการแท้งลูกสูงกว่าผู้หญิงทั่วไปแต่อย่างใด
ส่วนความเชื่อที่ว่าการที่แม่บริโภคแอลกอฮอล์ในระหว่างตั้งครรภ์จะทำให้เด็กมีไอคิวต่ำ ก็ได้รับการพิสูจน์ว่าไม่จริงเช่นเดียวกัน ทีมนักวิจัยออสเตรเลียใช้เวลานับ 10 ปีในการติดตามพฤติกรรมและไอคิวของเด็กที่แม่ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณพอเหมาะ เทียบกับเด็กที่แม่ไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์ ปรากฏว่าไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญระหว่างเด็ก 2 กลุ่มแต่อย่างใด โดยความเชื่อนี้อาจะเกิดจากการที่แม่ที่ดื่มแอลกอฮอล์มีแนวโน้มที่จะไม่รักษาสุขภาพอยู่แล้ว ทำให้ลูกในครรภ์สุขภาพไม่แข็งแรง โดยไม่เกี่ยวข้องกับการบริโภคแอลกอฮอล์เข้าไปในร่างกาย
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์จะสามารถดื่มกาแฟหรือเหล้าเบียร์ได้ตามใจชอบ งานวิจัยทั้งสองชิ้นนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการบริโภคแอลกอฮอล์และคาเฟอีนในระดับพอเหมาะ นั่นก็คือกาแฟไม่เกิน 2-3 แก้วต่อวัน และแอลกอฮอล์ไม่เกิน 6-7 แก้วต่อสัปดาห์ หากบริโภคในปริมาณมากกว่านี้ สุขภาพของทั้งคุณแม่และลูกในครรภ์จะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน