ไม่พบผลการค้นหา
25 ปีที่ผ่านมา เหตุการณ์ "8888" ยังคงอยู่ในความทรงจำของชาวพม่า เหตุการณ์ที่นักศึกษาและประชาชนจำนวนมาก ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยและลุกขึ้นสู้กับอำนาจเผด็จการทหาร จนกระทั่งนำไปสู่การนองเลือดครั้งใหญ่ที่สุด
25 ปีที่ผ่านมา เหตุการณ์ "8888" ยังคงอยู่ในความทรงจำของชาวพม่า เหตุการณ์ที่นักศึกษาและประชาชนจำนวนมาก ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยและลุกขึ้นสู้กับอำนาจเผด็จการทหาร จนกระทั่งนำไปสู่การนองเลือดครั้งใหญ่ที่สุด ในวันที่ 8 สิงหาคม ปี 1988 ซึ่งถือเป็นจุดพลิกผันทางการเมืองครั้งสำคัญของเมียนมาร์ 25 ปีที่ผ่านมา เมียนมาร์เรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์ดังกล่าว
 
 
เหตุการณ์ 8888 คือจุดแตกหักทางการเมืองของเมียนมาร์ ในการที่นักศึกษาและประชาชน ลุกขึ้นต่อสู้กับอำนาจเผด็จการทหาร ที่กุมอำนาจเบ็ดเสร็จยาวนานกว่า 26 ปี หลังจากการรัฐประหารของนายพลเนวิน เมื่อปี 2505 การปกครองของเนวิน นำมาสู่ภาวะเศรษฐกิจตกตํ่ามากที่สุดครั้งหนึ่ง   เสรีภาพการเมืองถูกปิดกั้น และเกิดการเอารัดเอาเปรียบจากเจ้าหน้าที่รัฐอย่างกว้างขวาง
 
การลุกฮือดังกล่าวเริ่มต้นขึ้น โดยสหพันธ์นักศึกษามหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ที่เริ่มการเคลื่อนไหวทางการเมืองมาตั้งปี 2528 จนกระทั่งถึงจุดแตกหัก และก่อให้เกิดเหตุการณ์ 8888 ขึ้น โดยในเดือนมีนาคม 2531 เกิดการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมประท้วง และเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเจ้าหน้าที่ได้ยิงใส่ประชาชน ทำให้ประชาชนเสียชีวิต จนสร้างความโกรธแค้นและปลุกกระเเสต่อต้าน จนลุกลามไปทั่วเมียนมาร์
 
 
จากนั้น นายพลเนวิน ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานพรรคสังคมนิยมเมียนมาร์ และนายพลเส่ง ลวิน ได้สืบทอดอำนาจต่อ โดยขบวนการนักศึกษา พระสงฆ์และประชาชน ที่ลุกฮือขึ้นจัดการชุมนุม ได้เรียกร้องให้เส่ง ลวิน ก้าวลงจากตำแหน่ง ปล่อยตัวนักโทษการเมือง และนำพาประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย  คืนเสรีภาพให้แก่ประชาชน เหตุการณ์ดังกล่าวจบลงด้วยการปราบปรามจากทหารอย่างรุนแรง จนทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 10,000 ราย
 
 
ภายหลังเหตุการณ์ 8888 ขบวนการนักศึกษาและประชาชนได้ทำการหลบหนีการจับกุมและกวาดล้างอย่างหนักของรัฐบาล ไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย และสหรัฐฯ และทำการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันเกิดการรัฐประหารหลังเหตุการณ์ 8888 และตั้ง "สภาฟื้นฟูระเบียบแห่งรัฐ" หรือ สล็อร์คขึ้น และประกาศให้มีการเลือกตั้งทั่วไป  ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้น ที่ทำให้นางออง ซาน ซูจี แกนนำพรรคฝ่ายค้าน ผู้เรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมาร์ ก้าวเข้าสู่เส้นทางการเมืองตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ในฐานะหัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือเอ็นแอลดี
 
 
พรรคเอ็นแอลดี ของนางซูจี ได้ชัยชนะอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2533 แต่เธอกลับถูกคำสั่งให้กักตัวอยู่ภายในบริเวณบ้าน และรัฐบาลทหารก็คว่ำบาตรผลการเลือกตั้งดังกล่าว ปีต่อมา เธอได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ขณะที่ การเมืองเมียนมาร์ก็กลับมาสู่บรรยากาศแบบเดิมภายใต้การสืบทอดอำนาจของรัฐบาลทหาร จนกระทั่งนำไปสู่การปราบปรามการประท้วงของพระสงฆ์อย่างรุนแรง หรือที่เรียกว่า "ปฏิวัติชายจีวร" ในปี 2550 
 
 
ตลอด 25 ปีที่ผ่านมา กองทัพเมียนมาร์น่าจะเป็นฝ่ายที่ได้รับบทเรียนได้เป็นอย่างดี ว่าเหตุการณ์นองเลือดนั้นไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด ซึ่งที่ผ่านมากองทัพเมียนมาร์ ก็ได้ชิงธงเพื่อให้เป็นแกนกลางของการปฏิรูปประชาธิปไตย และพยายามปรับตัวและประณีประนอมกับกลุ่มต่างๆ เพื่อรักษาอำนาจทางการเมืองต่อไป ในขณะที่ประชาธิปไตยของชาวพม่า ก็กำลังผลิบาน ประชาชนก็ยังต้องเรียนรู้กันต่อไป เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ที่สุด
Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog