ไม่พบผลการค้นหา
นักวิทยาศาสตร์ของสวิตเซอร์แลนด์ ระบุว่า ในคืนวันพระจันทร์เต็มดวงอันแสนสุขของใครหลายคน อาจกลายเป็นคืนที่แสนเศร้า เนื่องจากมันทำให้พวกเขานอนไม่หลับก็เป็นได้
นักวิทยาศาสตร์ของสวิตเซอร์แลนด์ เผยผลการวิจัยชิ้นใหม่เกี่ยวกับอิทธิพลของพระจันทร์เต็มดวง กับการนอนหลับของมนุษย์ โดยระบุว่า ในคืนวันพระจันทร์เต็มดวงอันแสนสุขของใครหลายคน อาจกลายเป็นคืนที่แสนเศร้า เนื่องจากมันทำให้พวกเขานอนไม่หลับก็เป็นได้
 
 
เวลาที่คนเรานอนไม่หลับ สาเหตุน่าจะเกิดจากสิ่งรบกวนต่างๆรอบตัวไม่ว่าจะเป็นสิ่งรบกวนที่มาในรูปของเสียง หรือแสง แต่ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์ของสวิตเซอร์แลนด์ พบว่า ดวงจันทร์เต็มดวง อาจทำให้ใครหลายคนมีปัญหาเรื่องการนอนไม่หลับได้เช่นกัน 
 
 
การทดลองผลกระทบจากดวงจันทร์กับการนอนหลับ โดยอาสาสมัคร 33 คน พบว่า อาสาสมัครล้วนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ในคืนที่ดวงจันทร์เต็มดวง มันทำให้พวกเขารู้สึกนอนไม่ค่อยเต็มอิ่ม ทั้งๆที่ปิดไฟมืดสนิทแล้วก็ตาม
 
 
การศึกษาชิ้นนี้จัดทำโดยศาสตราจารย์คริสเตียน คาโฮเชน และเพื่อนอาจารย์จากมหาวิทยาลัยบาเซิล ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยผู้วิจัยกล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้อาสาสมัครนอนไม่หลับนี้ ไม่น่าจะเกิดจากแสงของพระจันทร์เต็มดวง เนื่องจากอาสาสมัครทั้งหมดไม่ได้มองเห็นแสงจากดวงจันทร์ ระหว่างนอนอยู่บนเตียงภายในห้องทดลอง
 
 
จากการทดลองพบว่า ในคืนพระจันทร์เต็มดวง บรรดาอาสาสมัครใช้เวลาในการนอนหลับมากกว่า 5 นาที และหลังจากหลับไปได้ 20 นาที พวกเขาก็ตื่นขึ้นมาใหม่อีกครั้ง 
 
 
นักวิจัยบอกว่า สาเหตุของการนอนไม่หลับในคืนพระจันทร์เต็มดวงนี้ น่าจะเกี่ยวข้องกับการทำงานของสมองที่เชื่อมโยงกับการหลับลึกในเวลาใกล้ตี 3 โดยฮอร์โมนเมลาโทนิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเกี่ยวกับการปรับตัวของนาฬิกาชีวิตในร่างกาย จะมีระดับตํ่าลง  
 
 
ฮอร์โมนเมลาโทนิน ถือเป็นฮอร์โมนที่อ่อนไหวต่อแสงสว่าง โดยในช่วงที่พระจันทร์ข้างแรม หรือคืนเดือนมืด ร่างกายของมนุษย์จะสามารถผลิตสารเมลาโทนินเพิ่มขึ้น และทำให้การนอนหลับเป็นไปอย่างราบรื่น
 
 
ศาสตราจารย์ คาโฮเชน กล่าวว่า วัฏจักรการหมุนเวียนของดวงจันทร์ มีผลกระทบต่อการนอนหลับของมนุษย์ค่อนข้างมาก ถึงแม้ว่าพวกเขาจะไม่เห็นมัน แต่ก็สามารถรับรู้ หรือรู้สึกถึงได้ และนั่นอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้อาสาสมัครส่วนใหญ่นอนไม่หลับ ในช่วงคืนวันพระจันทร์เต็มดวงดังกล่าว
Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
185Article
76559Video
0Blog