ข่าวการเสียชีวิตของแอร์โฮสเตสสาวชาวจีน จากการถูกไฟดูดเพราะใช้ไอโฟนขณะกำลังชาร์ตแบตเตอรี ทำให้เกิดการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ว่าโทรศัพท์มือถือปลอดภัยแค่ไหน
ข่าวการเสียชีวิตของแอร์โฮสเตสสาวชาวจีน จากการถูกไฟดูดเพราะใช้ไอโฟนขณะกำลังชาร์ตแบตเตอรี ทำให้เกิดการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ว่าโทรศัพท์มือถือปลอดภัยแค่ไหน และเป็นไปได้จริงหรือไม่ที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เล็กๆอย่างโทรศัพท์ จะทำให้ผู้ใช้ถูกไฟดูดตายได้
การเสียชีวิตของหม่าอ้ายหลัน แอร์โฮสเตสสาวชาวจีนวัย 23 ปี จากการถูกไฟดูดขณะใช้ไอโฟน 5 ที่กำลังชาร์ตแบตเตอรีอยู่ กลายเป็นข่าวโด่งดังทั้งในจีนและทั่วโลก ถึงแม้ว่าตำรวจจะยังไม่ยืนยันว่าโทรศัพท์มือถือเกี่ยวข้องกับการที่หม่าอ้ายหลันถูกไฟดูดจริงหรือไม่ และเป็นไปได้อย่างไร แต่ชาวเนตติเซนในเว็บไซต์ซินา เหว่ยป๋อ ทวิตเตอร์ของจีน ก็มีการแชร์ข้อความเตือนไม่ให้ใช้โทรศัพท์มือถือขณะกำลังชาร์ตแบตเตอรีกันอย่างกว้างขวาง
ขณะที่ประชาชนอีกส่วนหนึ่งก็ตั้งข้อสังเกตว่า โทรศัพท์มือถือเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีกระแสไฟฟ้าต่ำมากจนไม่มีทางทำให้ผู้ใช้งานถูกไฟดูดจนกระทั่งเสียชีวิตได้ การเสียชีวิตของหม่าอ้ายหลันจึงน่าจะมาจากสาเหตุอื่นมากกว่า
ข้อสังเกตที่ว่านี้ สอดคล้องกับทางคณะกรรมาธิการเพื่อความปลอดภัยผู้บริโภคของสหรัฐฯ ที่ยืนยันว่าในระยะหลายปีที่ผ่านมา ในสหรัฐฯแทบจะไม่มีกรณีคนถูกไฟดูดจากการใช้โทรศัพท์มือถือเลย ไม่ว่าจะเป็นในขณะที่ชาร์ตแบตเตอรีอยู่หรือไม่ แต่กรณีที่พบได้บ่อยก็คือการเกิดไฟไหม้หรือมีควันออกมาจากโทรศัพท์เนื่องจากมีความร้อนสูงเกินไป
อย่างไรก็ตาม ความเป็นไปได้ที่ว่าผู้ใช้โทรศัพท์มือถือขณะกำลังชาร์ตแบตเตอรีจะถูกไฟดูด จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก หากสายชาร์ตโทรศัพท์เป็นของปลอม หรือเป็นคนละยี่ห้อกับโทรศัพท์ สายชาร์ตปลอมส่วนใหญ่จะไม่มีฉนวนกันความร้อนที่ดีพอ ทำให้ผู้ใช้เสี่ยงต่อการถูกความร้อนหรือไฟฟ้าช็อตได้
ถึงแม้ว่าสายชาร์ตแบตเตอรีปลอม จะกำลังระบาดอยู่ทั่วประเทศจีน จนคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคของจีนต้องออกคำเตือนว่าสายชาร์ตประเภทนี้อาจเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือเป็น "ระเบิดมือ" ได้ แต่สำหรับกรณีของหม่าอ้ายหลัน ครอบครัวของเธอยืนยันว่าทั้งโทรศํพท์และสายชาร์ตเป็นของแท้ และเพิ่งซื้อมาเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ทำให้ไอโฟนเครื่องดังกล่าวยังอยู่ในระยะประกัน 1 ปี
ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่าสาเหตุการเสียชีวิตของหม่าอ้ายหลัน อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับโทรศัพท์มือถือ แต่เป็นระบบสายไฟในบ้านของเธอเองที่มีปัญหา ทำให้ไฟฟ้าลัดวงจร และไอโฟนที่เสียบสายชาร์ตอยู่ก็เป็นเพียงสะพานส่งผ่านไฟฟ้ามายังตัวเธอเท่านั้น
ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมจากมหาวิทยาลัยฮ่องกงกล่าวว่า ไม่ใช่แค่ไอโฟนเท่านั้น แต่โทรศัพท์มือถือทุกยี่ห้อ และเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดสามารถทำให้ผู้ใช้ถูกไฟดูดตายได้ หากว่าสายไฟหรือสายชาร์ตแบตเตอรีมีปัญหา หัก ชำรุด ทำให้ไฟรั่วไหล แต่ก็ยังมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ไอโฟนอาจจะเป็นโทรศัพท์มือถือที่ทำให้ผู้ใช้เสี่ยงต่อการถูกๆฟดูดมากกว่ามือถือรุ่นอื่นๆ เพราะขอบที่เป็นอลูมิเนียม สามารถนำไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี
แต่ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดที่ทำให้คุณอาจถูกไฟดูดขณะใช้โทรศัพท์มือถือที่กำลังชาร์ตแบตเตอรี ก็คือน้ำ ครอบครัวของหม่าอ้ายหลันยอมรับว่าเธอออกจากห้องน้ำมารับโทรศัพท์โดยที่ตัวยังเปียกอยู่ น้ำเป็นตัวนำไฟฟ้าที่ดีที่สุดชนิดหนึ่ง การใช้มือเปียกน้ำรับโทรศัพท์ที่กำลังชาร์ตไฟอยู่จึงเป็นเรื่องเสี่ยงอันตรายอย่างมาก เนื่องจากเราไม่สามารถรู้ได้ว่าสายชาร์ตหรือสายไฟในบ้านกำลังมีกระแสไฟฟ้ารั่วไหลอยู่หรือไม่