สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย จัดการเลือกตั้ง จนได้นายกสมาคมฯ คนใหม่แล้ว
ปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย จัดการเลือกตั้ง จนได้นายกสมาคมฯ คนใหม่แล้ว โดยมาจากสำนักพิมพ์ขนาดเล็กแห่งหนึ่ง นี่จึงอาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของวงการหนังสือไทย เนื่องจากที่ผ่านมา ข้อเสนอของสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก ยังไม่ได้รับการตอบสนองจากสมาคมฯ เท่าที่ควร
การอ่านหนังสือ คือชีวิตส่วนใหญ่ ของนายจรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยคนใหม่ ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของสมาคมฯ เพราะเค้าคือนายกสมาคมฯ คนแรก ที่มาจากสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก นั่นคือ "สำนักพิมพ์แสงดาว"
ตลอดระยะเวลากว่า 20ปีในตำแหน่งบริหาร ทำให้นายจรัญ เข้าใจสถานะและปัญหาของผู้ประกอบการกลุ่มนี้เป็นอย่างดี เค้าจึงกลายเป็นความหวังของสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก หลังจากถูกมองข้ามมาเป็นเวลานาน ซึ่งนายจรัญยอมรับว่า เสียงของสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก ที่มีอยู่กว่าร้อยละ 60 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด จะได้รับพื้นที่แสดงความเห็น และมีโอกาสสร้างความเปลี่ยนแปลงมากขึ้น
ส่วนเรื่องรายได้ขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละสำนักพิมพ์ ในการจัดทำรูปเล่ม หน้าปก และเนื้อหาให้มีคุณภาพมากขึ้น ภายใต้การแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม พร้อมแนะนำให้สำนักพิมพ์ขนาดเล็ก ใช้โซเชียลมีเดียสร้างฐานนักอ่านให้เพิ่มขึ้น
ส่วนการเพิ่มค่าฝากจำหน่ายของร้านซีเอ็ดบุ๊ค จากร้อยละ 40 เป็น 45 ของราคาหน้าหนังสือ โดยจะเริ่มในวันที่ 1สิงหาคมนี้ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ บอกว่า ในเบื้องต้นได้ประสานไปยังผู้บริหารของซีเอ็ดบุ๊คแล้ว ได้รับคำชี้แจงว่า จำเป็นต้องขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจ และภาระต้นทุนด้านการบริหารงาน ซึ่งหากสำนักพิมพ์รับภาระไม่ไหว ก็สามารถส่งหนังสือไปจำหน่ายในร้านอื่นได้
นายจรัญ หอมเทียนทอง วัย 59 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และยังเคยเข้าร่วมในขบวนการนิสิตนักศึกษาเมื่อปี 2516 ได้รับเลือกตั้งให้เป็นนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ระหว่างปี 2556-2558 เฉือนชนะนายวรพันธ์ โลกิตสถาพร จากบริษัท สถาพรบุ๊คส์ จำกัด ซึ่งเป็นนายกสมาคมฯ คนเก่า ไปเพียง 60 คะแนน จากจำนวนผู้ลงคะแนนเลือกตั้งทั้งหมด 333 คน
เป้าหมายสำคัญของนายกสมาคมฯ ท่านนี้ มี 2 ยุทธศาสตร์ คือการเพิ่มพื้นที่จำหน่ายหนังสือของสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก เพื่อให้หนังสือที่เหลือในสต็อกระบายไปยังนักอ่านมากที่สุด ซึ่งจะช่วยลดภาระการขาดทุนสะสม และการสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะภาครัฐที่ต้องออกนโยบายสนับสนุนการอ่านอย่างต่อเนื่อง พร้อมแนะให้กระทรวงวัฒนธรรมเข้ามาดูแลงานด้านการอ่านของคนไทย แทนกระทรวงศึกษาธิการ
ขณะที่การจัดงานมหากรรมหนังสือระดับชาติ ในช่วงกลางเดือนตุลาคมนี้ จะมีความพิเศษกว่าทุกครั้ง คือการจัดสรรพื้นที่ให้สำนักพิมพ์ขนาดเล็ก ออกร้านจำหน่ายหนังสือเพิ่มขึ้น และการจัดนิทรรศการหนังสือต้องห้าม เพื่อให้เยาวชนเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทยมากขึ้น โดยงานนี้จัดภายใต้แนวคิด "หนังสือเปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนโลก 40ปี 14 ตุลา 16"