เนื้อจิงโจ้ เป็นอาหารท้องถิ่นขึ้นชื่อของชาวออสเตรเลีย ที่อาจจะฟังดูแปลกไปสักนิด แต่ก็เป็นที่ของฝากยอดนิยมของบรรดานักท่องเที่ยว แต่สำหรับชาวออสเตรเลียเอง พวกเขากลับไม่นิยมกินเนื้อจิงโจ้
เนื้อจิงโจ้ เป็นอาหารท้องถิ่นขึ้นชื่อของชาวออสเตรเลีย ที่อาจจะฟังดูแปลกไปสักนิด แต่ก็เป็นที่ของฝากยอดนิยมของบรรดานักท่องเที่ยว แต่สำหรับชาวออสเตรเลียเอง พวกเขากลับไม่นิยมกินเนื้อจิงโจ้
จิงโจ้ไม่เพียงเป็นสัตว์ท้องถิ่นประจำชาติของออสเตรเลียเท่านั้น แต่ยังเป็นเมนูอาหารที่ขึ้นชื่ออีกด้วย สนามบินและห้างสรรพสินค้าชื่อดัง มักมีผลิตภัณฑ์เนื้อจิงโจ้ตากแห้ง สำหรับให้นักท่องเที่ยวจับจ่ายซื้อหาเป็นของฝากคู่กับผลิตภัณฑ์รูปจิงโจ้หน้าตาน่ารักหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่เสื้อยืด ตุ๊กตา ไปจนถึงพวงกุญแจ
นักโภชนาการและเชฟทั่วออสเตรเลียต่างชื่นชมเนื้อจิงโจ้ ทั้งในแง่คุณค่าทางโภชนาการและความอร่อย ด้วยความที่จิงโจ้เป็นสัตว์ที่ดำรงชีวิตอยู่ในธรรมชาติ ไม่มีการเลี้ยงแบบอุตสาหกรรมที่ต้องมีการให้ฮอร์โมนและอาหารสำเร็จรูป เนื้อจิงโจ้จึงถือเป็นอาหารออร์แกนิก ปราศจากสารตกค้าง ตรงตามเทรนด์ยอดนิยของคนทั่วโลกที่ต้องการบริโภคอาหารท้องถิ่นที่สดสะอาด ปลอดจากสารเคมี แถมเนื้อจิงโจ้ยังมีไขมันต่ำ ธาตุเหล็กสูง และที่สำคัญ รสชาติดีเยี่ยมไม่ต่างจากเนื้อวัวหรือเนื้อแกะ หากผ่านการประกอบอาหารอย่างถูกวิธี
นอกจากนี้ การบริโภคเนื้อจิงโจ้ยังส่งผลดีต่อสภาพแวดล้อม โดยจิงโจ้เป็นสัตว์ที่ปล่อยก๊าซมีเทนน้อยกว่าวัวหรือหมูที่เลี้ยงแบบอุตสาหกรรมหลายเท่า นอกจากนี้ ถึงจิงโจ้จะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง แต่พวกมันก็ขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว และมีจำนวนมากจนรัฐบาลออสเตรเลียอนุญาตให้มีการล่าจิงโจ้อย่างถูกกฎหมาย โดยนักล่าที่ได้รับอนุญาตจากทางการ เพราะฉะนั้นการบริโภคจิงโจ้จึงไม่ได้ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศ หรือเป็นการละเมิดสิทธิสัตว์อย่างที่คุณคิด
แต่ข้อดีทั้งหมดที่ว่ามานี้ ก็ยังไม่ทำให้ชาวออสเตรเลียส่วนใหญ่หันมารับประทานเนื้อจิงโจ้อยู่ดี ทั้งๆที่รัฐบาลและร้านอาหารทั่วประเทศพยายามส่งเสริมการบริโภคจิงโจ้อย่างจริงจัง
อาจจะจริงอยู่ที่ว่าเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ชาวออสเตรเลียไม่สามารถทำใจหันมารับประทานจิงโจ้แทนเนื้อวัวหรือเนื้อแกะได้ เป็นเพราะพวกมันเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติ ที่สำคัญ จิงโจ้เป็นสัตว์ที่น่ารักเกินกว่าจะถูกกิน ซึ่งความคิดแบบนี้มาจากอิทธิพลของละครสคิปปี้ เดอะ บุช ในยุคทศวรรษที่ 1960 ซึ่งทำให้ชาวออสเตรเลียส่วนใหญ่มองจิงโจ้เป็นสัตว์เลี้ยงน่ารักมากกว่าสัตว์เพื่อการบริโภค
แต่เหตุผลประการสำคัญที่ทำให้เนื้อจิงโจ้ไม่เป็นที่นิยม ดูจะตรงข้ามกับเหตุผลแรกอย่างสิ้นเชิง คนออสเตรเลียคุ้นเคยกับจิงโจ้ดีพอที่จะรู้ว่ามันเป็นสัตว์ที่สกปรก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับหมู วัว ไก่ หรือแกะที่เลี้ยงในฟาร์มปศุสัตว์ ภายใต้ระบบปิดที่ควบคุมสภาพแวดล้อมอย่างเข้มงวด
ยิ่งไปกว่านั้น ภาพที่ชาวออสเตรเลียเห็นกันจนชินตาบนถนนทางหลวงสายในชนบท ซึ่งก็คือภาพซากจิงโจ้ถูกรถชนตาย ที่ถูกทิ้งให้อยู่กลางถนน ทำให้คนจำนวนมากอดไม่ได้ที่จะสงสัยว่าเนื้อจิงโจ้ที่นำมาวางขายในตลาด มาจากศพจิงโจ้เหล่านั้นด้วยหรือไม่ แม้ว่าในความเป็นจริง ผู้ที่สามารถขายเนื้อจิงโจ้ให้กับร้านค้าได้อย่างถูกกฎหมายต้องเป็นนักล่าจิงโจ้ที่มีใบอนุญาตจากรัฐบาลเท่านั้น
เหตุผลเหล่านี้ดูจะเป็นเหตุผลแบบ "คนเมือง" ที่คุ้นเคยกับชีวิตที่สะดวกสบายตามแบบแผนดั้งเดิมไปเสียแล้ว เพราะในอดีตการกินเนื้อจิงโจ้เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย โดยไม่มีใครเห็นว่ามันน่ารักเกินไป หรือน่าเกลียดเกินกว่าจะกิน ไม่ว่าจะเป็นชาวอะบอริจินพื้นเมืองที่ถือว่าซุปหางจิงโจ้เป็นอาหารเลิศรส หรือแม้แต่ชาวยุโรปผู้เข้ามาตั้งถิ่นฐานใหม่ ที่ต้องกินเนื้อจิงโจ้เพื่อความอยู่รอดเช่นกัน