กบฏพระองค์เจ้าบวรเดช ที่เกิดขึ้น 1 ปี หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และได้พลิกโฉมหน้าการปฏิวัติของคณะราษฎรไปตลอดกาล
เนื่องในโอกาสครบรอบ 81 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 วันนี้(27มิ.ย.56) วอยซ์ทีวี นำเสนอเรื่องราวของกบฏพระองค์เจ้าบวรเดช ที่เกิดขึ้น 1 ปี หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และได้พลิกโฉมหน้าการปฏิวัติของคณะราษฎรไปตลอดกาล
หลังการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้น ที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของการอภิวัฒน์ คือการก่อกบฏของพระองค์เจ้าบวรเดช ในเดือนตุลาคม ปี 2476
ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าว แม้จะมีที่มาจากความขัดแย้งระหว่างคณะราษฎรและรัชกาลที่ 7 ว่าด้วยปัญหาการจำกัดพระราชอำนาจ และการเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ หรือในอีกนัยหนึ่ง คือความพยายามกลับคืนสู่อำนาจของฝ่ายอำนาจเก่า แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ก่อการกบฏหลายคน ก็มาจากนายทหารและข้าราชการระดับล่าง ที่วิพากษ์วิจารณ์ระบอบเก่า จึงนับเป็นความย้อนแย้งที่น่าสนใจ
การก่อกบฏของพระองค์เจ้าบวรเดช จึงเป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจากการอภิวัฒน์ของคณะราษฎร ที่แม้จะมีรัฐธรรมนูญและผู้แทนราษฎรแล้ว แต่ก็ยังจำกัดวง การมีส่วนร่วมในการสร้างระบอบใหม่อยู่ จนทำให้มีกลุ่มคนจำนวนหนึ่ง ไม่พอใจ และเป็นช่องให้ฝ่ายสนับสนุนระบบเก่า ฉวยโอกาสบั่นทอนอำนาจของคณะราษฎรลง
ในวันนี้ การอภิวัฒน์ของคณะราษฎรได้สิ้นสุดลงไปแล้ว จากการถูกโค่นล้มโดยฝ่ายอำนาจเก่าตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2490 และอำนาจสูงสุดก็ยังคงไม่ได้เป็นของราษฎรอย่างแท้จริง นั่นเท่ากับว่าการสืบสานภารกิจของคณะราษฎรโดยฝ่ายประชาธิปไตยในปัจจุบัน ก็ยังจะต้องดำเนินต่อไปเช่นกัน
บทเรียนสำคัญที่ฝ่ายประชาธิปไตยในปัจจุบันควรจะเรียนรู้ จากเหตุการณ์กบฏบวรเดช คือการพึงระลึกเสมอ ว่าฝ่ายอำนาจเก่า ยังปรารถนาที่จะกลับคืนสู่อำนาจเสมอ และหากการสร้างระบอบใหม่ ไม่ได้เปิดพื้นที่ให้คนในสังคมจำนวนมากเข้ามามีส่วนร่วม ถือเป็นการสร้างแนวร่วมมุมกลับให้แก่ฝ่ายนิยมอำนาจเก่า ฉวยใช้ เพื่อบั่นทอนระบอบใหม่ และสร้างความแตกแยกในหมู่ประชาชน รวมทั้งฝ่ายประชาธิปไตยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้