ไม่พบผลการค้นหา
เผยผลสำรวจ ชีวิตเด็กไทยใน 1 วัน พบใช้มือถือทั้งช่วงตื่นนอนและก่อนนอน ด้วยการเล่น เฟซบุ๊ก หรือไลน์ ขณะที่ด้านการเรียนก็น่าเป็นห่วง หลังพบเด็กส่วนใหญ่นิยมลอกการบ้านด้วยวิธี คัดลอก-ตัดแปะ



เผยผลสำรวจ ชีวิตเด็กไทยใน 1 วัน พบใช้มือถือทั้งช่วงตื่นนอนและก่อนนอน ด้วยการเล่น เฟซบุ๊ก หรือไลน์ ขณะที่ด้านการเรียนก็น่าเป็นห่วง หลังพบเด็กส่วนใหญ่นิยมลอกการบ้านด้วยวิธี คัดลอก-ตัดแปะ

 

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2556 ที่โรงแรมปริ้นซ์พาเลซ มหานาค สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดประชุมสัมมนา "ทิศทางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในอนาคต" โดย นายอมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาวิชาการสำนักงานส่งเสริมส��งคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) กล่าวว่า สสค. ได้ทำการสำรวจในหัวข้อ "1 วันในชีวิตเด็กไทย" เมื่อเดือนมกราคม 2556 ที่ผ่านมา จากกลุ่มตัวอย่าง 3,058 คน ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด สรุปผลได้ดังนี้

 

วงจรชีวิตของเด็กไทยใน 1 วัน จะเริ่มตื่นนอนตั้งแต่เวลา 06.18 น. และเข้านอนในเวลา 22.21 น. วันหยุดจะนอน 23.39 น. มีเวลานอนเฉลี่ย 7-8 ชั่วโมง ซึ่งถือว่ามีเวลานอนไม่น้อยมาก ที่น่าสนใจ คือ หลังตื่นนอนสิ่งแรกที่เด็กส่วนใหญ่ ร้อยละ 51.1 ทำคือ การเช็กโทรศัพท์มือถือ เช่นเดียวกับสิ่งสุดท้ายที่ ร้อยละ 35 ทำก่อนนอน คือ ใช้โทรศัพท์มือถือเล่น เฟซบุ๊ก (Facebook) และ ไลน์ (Line)

 

จากการสำรวจพบว่า เด็กร้อยละ 75.7 เล่นโซเชียลเน็ตเวิร์กบ่อยจนถึงประจำ ซึ่งนักเรียนหญิงจะเล่นมากกว่านักเรียนชาย โดย ร้อยละ 20.3 ใช้มือถือระหว่างเรียน ขณะที่ ร้อยละ 42.5 รู้สึกทนไม่ได้ถ้าอยู่คนเดียวโดยไม่มีโทรศัพท์ นอกจากนี้ยังพบว่า ตัวเลขเด็กที่ใช้โทรศัพท์มือถือ พุ่งพรวด 2-3 เท่า ใน 1 ปี เพราะมีทุกสิ่งที่เด็กต้องการทั้งอินเทอร์เน็ต เฟซบุ๊ก ไลน์ และกล้องถ่ายรูป

 

นายอมรวิชช์ กล่าวอีกว่า เมื่อดูจากความเป็นจริงจะพบว่า ระบบการศึกษาไทยทำให้ครูมีเวลาแก่เด็กน้อยลง เพราะครูต้องยุ่งอยู่กับภาระงานที่ไม่ใช่เรื่องการสอนค่อนข้างมาก และเน้นแต่การสอนเรื่องวิชาการ จึงทำให้เด็กขาดที่พึ่ง และออกไปเผชิญกับความเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งเรื่องเพศ ความรุนแรง อบายมุข และสื่อไม่ดีต่าง ๆ ทั้งที่ยังขาดทักษะชีวิต  

 

โดยจากการสำรวจยังพบว่า เด็กจำนวนมากถึงร้อยละ 45.7 ลอกการบ้านเพื่อนด้วยการ copy/paste โดยเด็กที่เกรดเฉลี่ยมากกว่า 3.5 ลอกการบ้านมากถึง ร้อยละ 52.9 แต่เด็กที่เกรดเฉลี่ยน้อยกว่า 2.5 ลอกการบ้าน ร้อยละ 41.7 ขณะที่ ม.ต้น ลอกการบ้าน ร้อยละ 38.9 แต่นักเรียน ม.ปลาย ลอกการบ้าน ถึงร้อยละ 51.7 ซึ่งการคัดลอกข้อมูลมาแปะเพื่อส่งงานนี้ ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยกำลังผลิตคนที่เรียนแบบไม่มีความรู้

 

หนำซ้ำเด็กที่เกิดปีเดียวกัน 8 แสนคน เรียนจบระดับอุดมศึกษาเพียง 2-3 แสนคน ที่เหลือมีวุฒิแค่ ม.6 ม.3 หรือต่ำกว่านั้น ซึ่งจะเห็นว่า การสอนที่เน้นแต่วิชาการ มันตอบโจทย์เด็กแค่ 3 ใน 10 คน ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้ว ที่โจทย์การศึกษาต้องถูกยกระดับ และเปลี่ยนไปเป็นโจทย์เพื่อการมีชีวิตและการมีงานทำ

 

นายอมรวิชช์ ได้เน้นย้ำว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันทั้งภาครัฐ เอกชน และท้องถิ่น คงปล่อยให้กระทรวงศึกษาธิการทำเพียงลำพังไม่ได้ เพราะเวลานี้เรามีอนาคตประเทศชาติเป็นสิ่งเดิมพัน ถ้าเราผลิตคนออกมาทั้งระบบเป็นคนที่ไม่รู้ มีแต่ใบปริญญา ไม่มีปัญญา ประเทศชาติก็จะอยู่ไม่ได้

 

ด้าน นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า สพฐ. ถือเป็นองค์กรหลักขนาดใหญ่ที่ดูแลรับผิดชอบเด็กกว่า 7 ล้านคน และบุคลากรครูอีก 4 แสนคน ดังนั้น การขับเคลื่อนการศึกษาจึงจำเป็นต้องมีความเข้าใจถึงวิธีการและเป้าหมาย เพราะหากการทำงานเป็นแบบต่างคนต่างทำการศึกษาคงไม่ประสบความสำเร็จ

 

ทั้งนี้ การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานต้องมีการพลิกโฉมการศึกษาไทยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำไปสู่การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนด้วย โดยในการจัดการศึกษานั้นอยากให้มีการดำเนินการตามนโยบายของนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ ที่ต้องการให้มีการนำรูปแบบการจัดการศึกษาของแต่ละพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จไปขยายผลในพื้นที่อื่น ๆ เพราะเชื่อว่าจะทำให้การศึกษาไปสู่เป้าหมายที่สูงขึ้นได้

 

ขณะเดียวต้องพยายามทำให้การเรียนการสอนในห้องเรียนลดเนื้อหาลง แต่เพิ่มการคิดวิเคราะห์ของเด็กให้มากขึ้น รวมถึงการส่งเสริมด้านคุณธรรมและจริยธรรม เนื่องจากมีตัวชี้วัดว่า ปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด และพฤติกรรมความรุนแรงของเด็กกำลังเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม จากการประชุมคณะกรรมาธิการการศึกษาสภาผู้แทนราษฎร ที่ประชุมยังเสนอว่า ควรมีการกระจายภาระการจัดการศึกษาให้สมดุลมากขึ้น ทั้ง สพฐ. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และท้องถิ่น

 

นอกจากนี้ ยังควรมีการปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ของ สพฐ. จากหน่วยงานที่จัดการศึกษาเอง เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาการเป็นต้นแบบของการจัดการศึกษา ควรมีการคิดระบบการพัฒนาสมรรถนะครูควบคู่ไปกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็ก เพราะจะเห็นได้ว่า ปัจจุบันครูมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน แต่ผลการเรียนของเด็กกลับย่ำอยู่กับที่
 

 

Source : Kapook (Image)

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
187Article
76559Video
0Blog