มูเซเวนี ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดียูกันดามาตั้งแต่ปี 2529 กล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันพฤหัสบดี (10 ส.ค.) ว่า ยูกันดาพยายามลดการกู้ยืม และจะไม่ยอมแพ้ต่อแรงกดดันจากสถาบันต่างประเทศ ที่ต่อต้านการออกกฎหมายต่อต้าน LGBTQ ของยูกันดา
“ดังนั้น มันจึงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ธนาคารโลกและผู้มีบทบาทอื่นๆ กล้าที่จะบีบบังคับให้เราละทิ้งความเชื่อ วัฒนธรรม หลักการ และอำนาจอธิปไตยของเราด้วยการใช้เงิน พวกเขาประเมินชาวแอฟริกันทุกคนต่ำไปจริงๆ” มูเซเวนีกล่าวถึงการระงับการให้เงินสนับสนุนของธนาคารโลกต่อยูกันดา
มูเซเวนีกล่าวอีกว่าหากยูกันดาต้องการกู้ยืม ทางประเทศสามารถหาแหล่งทุนอื่นได้ และการผลิตน้ำมันในยูกันดาที่คาดว่าจะเริ่มขึ้นในปี 2568 จะสร้างรายได้เพิ่มเติมให้แก่ประเทศของเขา นอกจากนี้ มูเซเวนีหวังว่าธนาคารโลกจะพิจารณาการตัดสินใจในครั้งนี้อีกครั้ง ซึ่งมติของธนาคารโลกดังกล่าว อาจบีบให้รัฐบาลยูกันดาต้องแก้ไขงบประมาณของประเทศใหม่
องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆ ได้ออกมาประณามกฎหมายต่อต้าน LGBTQ อย่างกว้างขวาง หลังจากรัฐบาลยูกันดาอนุมัติกฎหมายดังกล่าวเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งตัวบทของกฎหมายกำหนดการลงโทษประหารชีวิตสำหรับ "การรักร่วมเพศที่เลวร้ายลง" ทั้งนี้ ความผิดดังกล่าวยังรวมถึงการแพร่เชื้อเอชไอวีผ่านการร่วมเพศของเกย์ และจำคุก 20 ปีในข้อหา "ส่งเสริม" การรักร่วมเพศ
ธนาคารโลกกล่าวเมื่อวันอังคาร (8 ส.ค.) ว่า กฎหมายต่อต้าน LGBTQ ขัดแย้งกับค่านิยม และจะระงับการให้เงินทุนใหม่แก่ยูกันดา จนกว่าประเทศจะสามารถทดลองใช้มาตรการเพื่อป้องกันการเลือกปฏิบัติ ในโครงการที่ธนาคารสนับสนุนทางการเงินแก่ยูกันดาได้ อย่างไรก็ดี ธนาคารโลกมีพอร์ตการลงทุนในยูกันดาอยู่ที่ 5.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.82 แสนล้านบาท) และโครงการเหล่านี้จะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ
“เราเชื่อว่าวิสัยทัศน์ของเราในการขจัดความยากจนบนโลกที่น่าอยู่ จะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อวิสัยทัศน์ของเราครอบคลุมถึงทุกคน โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ เพศ หรือเพศวิถี กฎหมายนี้บ่อนทำลายความพยายามเหล่านั้น การไม่แบ่งแยกและการไม่เลือกปฏิบัติ เป็นหัวใจของการทำงานของเราทั่วโลก” แถลงการณ์ของธนาคารโลกระบุ
ทั้งนี้ เฮนรี มูซาซีซี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังยูกันดา กล่าวกับรัฐสภายูกันดาเมื่อวันพฤหัสบดีว่า ในอีกหนึ่งสัปดาห์ รัฐบาลยูกันดาจะขอให้รัฐสภาลงคะแนนเสียงในงบประมาณฉบับแก้ไขสำหรับเดือน ก.ค. 2566 ถึงเดือน มิ.ย. 2567 เพื่อสะท้อนผลกระทบทางการเงินที่อาจเกิดขึ้น จากการระงับการให้กู้ยืมของธนาคารโลก
ในเดือน มิ.ย. สหรัฐฯ บังคับใช้ข้อจำกัดวีซ่ากับเจ้าหน้าที่ยูกันดาบางคน เพื่อตอบสนองต่อกฎหมายต่อต้าน LGBTQ นอกจากนี้ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังสั่งให้ทบทวนความช่วยเหลือที่สหรัฐฯ มอบให้กับยูกันดาด้วย
ที่มา: