ไม่พบผลการค้นหา
'จีน' ไม่นับ 'ไต้หวัน' เป็นประเทศ - ส่วน 'ไต้หวัน' ก็ไม่นับว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของ 'จีน' ความสัมพันธ์อันซับซ้อนนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่ตอนไหน? ต้องย้อนกลับไปถึง 'สงครามกลางเมืองจีน' ซึ่งทับซ้อนไปกับ 'สงครามโลกครั้งที่ 2' ในอดีต

ความขัดแย้งระหว่าง 'จีน' และ 'ไต้หวัน' จากอดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นประเด็นอ่อนไหวด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และมีผลต่อการทำธุรกิจการค้าในยุคโลกาภิวัตน์อยู่ไม่น้อย เพราะประเทศต่างๆ รวมถึงธุรกิจแบรนด์ดัง ต้องระวังท่าที ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากจนเกินไป

สาเหตุที่ 'จีน' และ 'ไต้หวัน' ไม่ลงรอยกัน ต่อเนื่องยาวนานมาตั้งแต่ยุค 'สงครามกลางเมืองจีน' ที่เริ่มขึ้นในปี 1927 (พ.ศ.2470) โดย 'พรรคชาตินิยม' สู้กับ 'พรรคคอมมิวนิสต์' เพื่อชิงอำนาจนำทางการเมือง หลังจากที่ 'ราชวงศ์ชิง' ถูกล้มล้างไป จบสิ้นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชในจีนที่อยู่มายาวนานหลายพันปี

สงครามกลางเมืองจีนถูกนับเป็น 'สงครามซ้อนสงคราม' เพราะขณะที่คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายกำลังสู้กันอยู่ ก็ต้องผนึกกำลังกันชั่วคราวเพื่อต้านกองทัพญี่ปุ่นที่บุกจีนช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และเมื่อจบศึกกับญี่ปุ่น ก็หันมารบกันเองต่อ

จนกระทั่งพรรคชาตินิยม (ก๊กมินตั๋ง) ถูกตีพ่ายจนต้องหนีไปไต้หวันในปี 1949 (พ.ศ.2492) การแย่งชิงความเป็นจีนเพียงหนึ่งเดียวก็ยังไม่จบ


เสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้

นายพล 'เจียงไคเช็ก' ผู้นำฝ่ายชาตินิยม พร้อมด้วยทหารและประชาชนจำนวนหนึ่ง ประกาศตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่ไต้หวัน รวมถึงก่อตั้ง 'สาธารณรัฐจีน' (Republic of China หรือ ROC) เพื่อยืนยัน 'ความเป็นชาติจีน' แม้จะเพิ่งถอยร่นมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ (Mainland China) ก็ตาม

ส่วนพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ประกาศตั้ง 'สาธารณรัฐประชาชนจีน' หรือ People's Republic of China (PRC) แต่ขณะนั้น รัฐบาลสาธารณรัฐจีนของเจียงไคเช็กได้รับการสนับสนุนจากประเทศต่างๆ มากกว่ารัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ภายใต้เงาของ 'เหมาเจ๋อตง'

Reuters--ทหารไต้หวันร่วมฝึกซ้อมในภารกิจป้องกันการรุกรานของกองทัพจีนเมื่อเดือน ต.ค.2018.JPG

พันธมิตรที่สำคัญของรัฐบาลในไต้หวันขณะนั้นก็คือ 'สหรัฐอเมริกา' ซึ่งอยู่ในช่วงหวาดระแวงภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ และกำลังเข้าสู่ยุคสงครามเย็นกับสหภาพโซเวียต 

ด้วยเหตุนี้ สาธารณรัฐจีนหรือไต้หวัน จึงได้รับการยอมรับในฐานะ 'ประเทศสมาชิกผู้ก่อตั้งสหประชาชาติ' (UN Founding Member) และมีเสียงสนับสนุนที่สำคัญอย่างสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ที่เป็นแนวร่วมต่อต้านคอมมิวนิสต์

ไต้หวันในช่วง 20 ปีแรกจึงผูกขาดความเป็นชาติจีนไว้กับตัว แต่ 'สาธารณรัฐประชาชนจีน' ที่อยู่บนจีนแผ่นดินใหญ่ก็ไม่ยอมง่ายๆ เพราะแกนนำพรรคคอมมิวนิสต์จีนยื่นหนังสือทวงสิทธิของจีนในเวทียูเอ็นมาตลอดช่วงดังกล่าวเช่นกัน ทำให้สหรัฐฯ เสนอนโยบาย 'สองจีน' (Two China Policy) เพื่อแก้ปัญหา โดยถือว่า 'จีนไต้หวัน' เป็นประเทศสมาชิกก่อตั้งของยูเอ็น ส่วน 'จีนแผ่นดินใหญ่' เป็นประเทศที่ต้องการเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของยูเอ็น แต่จะต้องได้รับเสียงสนับสนุน 2 ใน 3 ของประเทศสมาชิกที่มีอยู่เสียก่อน

จีนปฏิเสธนโยบายดังกล่าว พร้อมประกาศว่า 'จีนมีหนึ่งเดียว' ส่วนรัฐบาลไต้หวันตอนแรกก็ยืนกรานว่าจะต้องมีเพียงจีนเดียวเช่นกัน แต่เมื่อจีนยื่นเรื่องขอทวงสิทธิฯ ต่อที่ประชุมอย่างต่อเนื่อง เรื่องราวก็มาถึงจุดพลิกผันในปี 1971 (พ.ศ.2514) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์ในช่วงนั้นส่งผลให้ไต้หวันต้องหลุดจากตำแหน่งที่เคยครอง


การประชุมครั้งประวัติศาสตร์

การประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) ที่จัดขึ้นในปีนั้น ถือเป็นครั้งที่ 26 และผู้แทนจาก 'อัลเบเนีย' รับเรื่องร้องเรียนจากจีนแผ่นดินใหญ่ ยื่นเสนอต่อที่ประชุมให้ประเทศสมาชิกลงมติว่าเห็นด้วยหรือไม่ กับข้อเรียกร้องขอทวงสิทธิการเป็นสมาชิกยูเอ็นคืนให้แก่จีน ซึ่งฝ่ายคัดค้านจีนมองว่า ไม่สามารถทวงสิทธิได้ เพราะสิทธินั้นไม่มีอยู่มาตั้งแต่ต้น แต่เป็นสิทธิอันชอบธรรมของไต้หวัน

อย่างไรก็ตาม เอกสารสรุปการประชุมของยูเอ็นชี้ให้เห็นว่า ตัวแทนของอัลเบเนียยกให้ 'จีน' เป็นประเทศของ 'ประชาชนจีน' ส่วนกระทรวงการต่างประเทศจีนก็บันทึกไว้ว่า 'โจวเอินไหล' นายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศของจีน ได้ยื่นหนังสือถึงเลขาธิการใหญ่สหประชาชาติหลังการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยย้ำว่าสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นหนึ่งในตัวแทนชาวจีนที่ร่วมลงนามในฐานะประเทศผู้ร่วมก่อตั้งสหประชาชาติในตอนแรก แต่สิทธิดังกล่าวถูกยึดไปโดย 'พรรคพวกของเจียงไคเช็ก' 

รัฐบาลจีนยังกล่าวด้วยว่า รัฐบาลเจียงไคเช็กไม่ถือเป็นตัวแทนของ 'ประชาชนจีน' เพราะอยู่ที่ไต้หวัน และการปกครองของรัฐบาลไต้หวันยุคนั้นก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า 'เพิกเฉยต่อเสียงของคนในท้องถิ่น' ซึ่งหมายถึงกลุ่มชนพื้นเมืองเดิมที่ได้รับผลกระทบจากการอพยพเข้าไปตั้งรกรากของพรรคชาตินิยมก๊กมินตั๋ง

ผลการลงมติปรากฎว่า 76 ประเทศ โหวตหนุนคืนสิทธิการเป็นสมาชิกยูเอ็นให้แก่จีน ขณะที่ 35 ประเทศ โหวตสนับสนุน 'ไต้หวัน' เป็นสมาชิกยูเอ็นตามเดิม ส่วนอีก 17 ประเทศ 'งดออกเสียง' ทำให้ตัวแทนรัฐบาลไต้หวันประกาศไม่ยอมรับมติดังกล่าว และนำคณะผู้แทนไต้หวัน 'วอล์กเอาต์' ออกจากที่ประชุม

การประชุมครั้งนั้นสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 25 ต.ค.1971 -'ไต้หวัน' ไม่ถูกนับเป็นประเทศสมาชิก UN อีกต่อไป


ไทย-จีน-ไต้หวัน ความสัมพันธ์ 'เราสองสามคน'

ตัวแทนของรัฐบาลไทยที่เข้าร่วมการประชุม UNGA ครั้งนั้น คือ พ.อ.พิเศษ ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศในสมัยนั้น ซึ่งก่อนที่จะมีการลงมติเรื่องไต้หวันและจีน เขาได้กล่าวโดยสงวนท่าทีว่า ไทยนั้นยึดถือธรรมเนียม "ไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่นๆ" จึงคาดหวังว่าจีนและไต้หวัน ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งกันโดยตรง จะสามารถหาทางออกร่วมกันได้ในที่สุด

ชัชชาติ ไต้หวัน 102012129280_o.jpg
  • นิทรรศการที่ไต้หวัน กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยและไต้หวัน

แม้ไทยจะแสดงความประนีประนอมระหว่างจีนและไต้หวัน แต่ก่อนหน้านั้น ความสัมพันธ์ 'ไทย-ไต้หวัน' ถือว่าชื่นมื่นมาก มีการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางการทูต เพราะเป็นช่วงที่ไทยระงับความสัมพันธ์กับจีน เนื่องจากหวาดระแวงภัยคอมมิวนิสต์ ขณะที่บุคคลระดับสูงของไทยที่เดินทางเยือนไต้หวันก็ได้รับการต้อนรับอย่างดี ซึ่ง จอมพลถนอม กิตติขจร ผู้นำรัฐบาลทหารในสมัยนั้น ก็เป็นคนหนึ่งที่เคยเยือนไต้หวัน ทั้งยังมีนักเรียนไทยอยู่ในไต้หวันจำนวนไม่น้อย

จนกระทั่งเกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในจีนแผ่นดินใหญ่ อำนาจของประธาน 'เหมาเจ๋อตง' เข้าสู่ยุคปลาย และ 'เติ้งเสี่ยวผิง' ผู้ผลักดันการเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สามารถยึดกุมอำนาจในพรรคคอมมิวนิสต์ได้ แม้แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ในขณะนั้นก็ยังเปลี่ยนท่าที ส่งตัวแทนไปเจรจากับจีน

เมื่อเกิดกรณี 'ทวงคืนสิทธิ' ในที่ประชุมยูเอ็น หลายประเทศ รวมถึงสหรัฐฯ ก็เปลี่ยนท่าทีต่อไต้หวัน และหันไปสานสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับจีนแผ่นดินใหญ่แทน กรณีของไทยก็ชัดเจน คือ"เลือกจีน" โดยรื้อฟื้นความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 1975 (พ.ศ.2518) และระงับความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันไป แต่ก็ไม่ได้ตัดญาติขาดมิตร เพราะยังดำเนินความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าอยู่อย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน แรงงานไทยยังเป็นที่ต้องการในไต้หวัน ส่วนการส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยวระหว่างสองฝ่ายก็เป็นไปด้วยดี ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไต้หวันผ่อนผันให้นักท่องเที่ยวจากไทยเดินทางเข้าเมืองได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า ส่วนไทยผ่อนผันให้พลเมืองไต้หวันขอวีซ่าหน้าด่าน (Visa on Arrival) แบบเดียวกับพลเมืองจีน


ไต้หวันคือไต้หวัน จีนก็คือจีน

แม้รัฐบาลไต้หวันช่วงแรกๆ จะยึดมั่นกับความเป็นจีนและแนวคิดชาตินิยมตามเจตนารมณ์ของผู้นำพรรคก๊กมินตั๋ง แต่คนในสังคมก็มีการปรับตัวรับแนวคิดทางการเมืองใหม่ๆ จนนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านทางการเมือง

จากเดิมที่พรรคก๊กมินตั๋งเคยเป็นองค์กรการเมืองที่ทรงอิทธิพลอย่างมาก ทั้งยังเคยประกาศกฎอัยการศึกเพื่อควบคุมผู้คนในความปกครองอยู่นานเกือบ 30 ปี ก็ถูกสั่นคลอนด้วยกลุ่มผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองหน้าใหม่ๆ โดยเฉพาะช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลไต้หวันชำระประวัติศาสตร์และพิจารณาทบทวน 'มรดกเผด็จการ' ที่เคยเกิดขึ้นในยุคของเจียงไคเช็กและทายาททางการเมืองคนต่อๆ มา 

บทพิสูจน์ที่แสดงให้เห็นว่าไต้หวัน 'มาไกล' คือ การที่ 'ไช่อิงเหวิน' จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ได้รับเลือกมาเป็นประธานาธิบดีอีกสมัยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา แม้ว่าเธอจะเป็นผู้ยืนยันนโยบายสนับสนุนเอกราชไต้หวันมาตลอด ขณะที่ตัวแทนพรรคก๊กมินตั๋งต้องการให้ไต้หวันดำเนินนโยบายสานสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่ เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมืองของไต้หวันเอง

ไช่อิงเหวิน - ไต้หวัน.jpg
  • ไช่อิงเหวิน ได้รับเลือกกลับมาเป็นประธานาธิบดีไต้หวันเป็นสมัยที่ 2

คนไต้หวันที่อายุไม่เกิน 40 ปี ซึ่งเกิดและเติบโตในไต้หวัน มักคิดต่างจากคนรุ่นก่อนหน้าที่เป็นคนจีนอพยพมายังไต้หวันยุคแรกๆ เพราะคนรุ่นหลังไม่ได้มองว่าตัวเองมีความยึดโยงกับจีนแผ่นดินใหญ่อีกต่อไป แม้จะมีเชื้อชาติจีนและพูดภาษาจีนที่สามารถสื่อสารกันได้รู้เรื่อง แต่คนไต้หวันก็คือไต้หวัน และคนจีนก็คือคนจีน


อุปสรรคของการไม่ถูกนับเป็นประเทศ

สถานะของไต้หวันในเวทีโลก ถูกมองว่าเป็น 'จุดอ่อน' เพราะไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่มีอำนาจอธิปไตยในการปกครองตนเอง แต่ถูกนับเป็นส่วนหนึ่งของจีน ประกอบกับจีนมีอิทธิพลอย่างมาก ทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมืองโลกในปัจจุบัน แม้ไต้หวันสามารถอยู่รอดปลอดภัยด้วยตนเองได้ แต่การสานความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ ก็เป็นไปอย่างจำกัด

ช่วงก่อนที่โรคโควิด-19 จะถูกประกาศเป็นการแพร่ระบาดใหญ่ทั่วโลก ไต้หวันร้องเรียนว่าองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ไม่ค่อยให้ความร่วมมือในการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้ให้แก่รัฐบาลไต้หวัน และไม่เปิดโอกาสให้ไต้หวันชี้แจงหรือแบ่งปันข้อมูลด้านการรับมือโรคโควิด-19 กับประเทศสมาชิก WHO รายอื่นๆ

ไต้หวันมองว่านี่เป็นการกีดกันที่ส่งผลเสียต่อการรับมือและควบคุมโรค โดยล่าสุดไต้หวันเปิดเผยเอกสารยืนยันว่า ทางการไต้หวันได้แจ้งเตือนไปยัง WHO ตั้งแต่เดือน ธ.ค.ปีที่แล้วว่ามีโรคระบาดคล้าย 'ซาร์ส' ติดต่อจากคนสู่คน แต่ไม่มีการตอบรับหรือพิจารณาข้อมูลดังกล่าว ทั้งที่หากรู้ข้อมูลเร็วก็จะป้องกันได้แต่เนิ่นๆ การแพร่ระบาดของโรคคงไม่รุนแรงขนาดนี้

ส่วน ดร.เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการ WHO และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ออกมาโต้ตอบไต้หวัน โดยกล่าวหาว่าไต้หวันมีส่วนรู้เห็นกับการโจมตี ข่มขู่ คุกคาม และเหยียดเชื้อชาติ ดร.เทดรอส ช่วงโรคโควิด-19 แพร่ระบาด ซึ่งไต้หวันยืนยันว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูลความจริง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: