นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีกระแสข่าวรัฐบาลเตรียมดำเนินโครงการ "ประชารัฐสร้างไทย" ว่าหากมองให้เชิงหลักการ ถือว่ารัฐบาลเดินมาในทิศทางที่ดีขึ้น เพราะเริ่มให้ความสำคัญกับฐานรากของระบบเศรษฐกิจที่ถูกละเลยมานาน แต่ถ้ามองในเชิงกระบวนการและดูในรายละเอียด ซึ่งเน้นการให้สินเชื่อในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับการผลิต ยังไม่ใช่คำตอบในเวลานี้
ปัจจุบันปัญหาของไทยไม่ได้อยู่ที่ผู้ประกอบการอยากลงทุนแต่ไม่มีทุน แต่อยู่ที่พวกเขาไม่อยากผลิตเพราะผลิตไปก็ไม่มีคนซื้อ จึงไม่ได้ต้องการลงทุนเพิ่ม เพราะกำลังซื้อของประเทศอ่อนแรงอย่างมาก
การใช้งบประมาณเพื่อกระตุ้นด้านอุปทาน ทำให้เกิดอุปทานเทียม โดยที่ความพร้อมด้านอุปสงค์ไม่มี ไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง เพราะการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ในขณะที่กำลังซื้อไม่พร้อม ใครจะกู้มาลงทุน
แนวทางที่ถูกต้อง ผมแบ่งการใช้งบประมาณรัฐบาลเป็น 3 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 : ในช่วงที่อุปสงค์อ่อนแรง กำลังซื้อหดตัว อย่างในปัจจุบัน งบประมาณส่วนใหญ่ต้องมุ่งสร้าง "อุปสงค์" ให้เกิดขึ้น เพื่อทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในรายได้ในอนาคต จนเกิดกำลังซื้อ การลงทุนภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพจะเป็นการรับประกันการจ้างงาน และเป็นหัวเชื้อของการลงทุนภาคเอกชน การลดภาระด้านภาษีช่วยให้รายได้ส่วนบุคคลสุทธิเพิ่มขึ้น การใช้งบประมาณเพื่อสร้างอุตสาหกรรมบริการเป็นแหล่งรายได้ที่ลงทุนไม่เยอะ แต่สร้างผลตอบแทนเร็ว การสร้างระบบสวัสดิการ รวมทั้งการสร้างความยืดหยุ่นในตลาดแรงงาน เป็นต้น
ระยะที่ 2 : ในช่วงที่อุปสงค์เริ่มฟื้นตัว แต่ยังเฉื่อยๆ งบประมาณจึงควรจะเริ่มเข้ามาสนับสนุนด้าน "อุปทาน" แต่ก็ยังไม่ใช่เวลาของการสนับสนุนสินเชื่อ แต่ควรเป็นการสนับสนุนให้ผู้ผลิตสามารถผลิตสินค้าได้ในราคาถูกลง เพิ่มผลิตภาพการผลิตให้มากขึ้น เช่น การปรับลดภาษีนิติบุคคล สนับสนุนปัจจัยการผลิต สนับสนุนด้านต้นทุน รวมทั้งด้านเชื้อเพลิง เป็นต้น
ระยะที่ 3 : เมื่อธุรกิจเริ่มเพิ่มกำลังการผลิต จนใกล้เคียงศักยภาพการผลิต จึงเป็นเวลาที่รัฐบาลจะสนับสนุนให้แง่ของการให้ "สินเชื่อเพื่อการลงทุนใหม่ๆ" เพราะในระยะนี้ผู้ผลิตอยากลงทุนเพิ่ม เพราะผลิตแล้วมีคนซื้อ มีกำไร
แต่สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำ คือ การใช้งบประมาณจำนวนมากทำในระยะที่ 3 ทั้งๆ ที่ประเทศไทยเราปัจจุบันอยู่ในระยะที่ 1 เท่านั้น จึงเป็นการใช้งบประมาณที่ไม่เหมาะสม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :