ประกาศออกไปยังไม่ทันจะขาดคำประธานาธิบดีไช่ อิงเหวินของไต้หวันก็ออกมาบอกว่า ไต้หวันไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของจีน ไต้หวันไม่ยอมรับอำนาจของจีน ประเดี๋ยวประด๋าวก็มีชาวพื้นเมืองเกาะฟอร์โมซาแต่งชุดประจำชาติเต็มยศมายืนแถลงข่าวบอกกล่าวกับชาวโลกอีกว่าเกาะฟอร์โมซานี้ไม่เคยเป็นของจีนนะจ๊ะ ตกลงมันยังไงกันแน่เนี่ย?
เกาะฟอร์โมซาที่เราส่วนใหญ่รู้จักกันในชื่อ “ไต้หวัน” นั้นจริงๆ แล้วแต่ก่อนแต่ไรมาก็ไม่ได้รับความสนใจใส่ใจจะยึดครองจากอำนาจบนผืนแผ่นดินใหญ่อะไรมากนักหรอก ยุคราชวงศ์นั้นโดยมากก็มองว่าเป็นแค่เกาะที่หยุดพักเรือของชาวประมงและเรือสินค้าต่างๆ
ช่วงศตวรรษที่ 17-18 ก็มีชาวตะวันตกทั้งโปรตุเกสและดัตช์ไปตั้งสถานีการค้าอยู่บ้าง ปลายศตวรรษที่ 17 หลังจากที่ราชวงศ์หมิงล่มสลายไปแล้วก็มีกลุ่มชาวจีนฮั่นที่จงรักภักดีต่อราชวงศ์เดิมพากันลี้ภัยไปตั้งฐานที่มั่นต่อสู้กับพวกแมนจูที่มาตั้งราชวงศ์ชิง (ราชวงศ์สุดท้ายของจีน) อยู่นานหลายสิบปีเหมือนกัน
จนประมาณกลางศตวรรษที่ 18 นั่นแหละรัฐบาลบนผืนแผ่นดินใหญ่ของพวกแมนจูจึงสามารถปราบปรามกลุ่มกบฏบนเกาะฟอร์โมซาได้อยู่หมัด แม้กระนั้นก็ยังไม่ได้สนใจไปจับจองเป็นเจ้าของเกาะฟอร์โมซาอย่างเร่งด่วนอะไร กว่าจะมีการจัดการที่ดินออกโฉนดและส่งข้าราชการจากแผ่นดินใหญ่ไปปกครองอย่างเป็นเรื่องเป็นราวจริงๆ ก็ปาเข้าไปต้นศตวรรษที่ 19 แล้ว และปกครองอยู่ไม่กี่สิบปีจีนก็แพ้สงครามจีนญี่ปุ่นครั้งแรกในปี 1895 ก็ต้องเกาะฟอร์โมซาให้เป็นอาณานิคมญี่ปุ่นไปอีกห้าสิบปี กว่าจะได้โอนคืนกลับมาอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลบนผืนแผ่นดินใหญ่อีกทีก็คือสิ้นสุดสงครามมหาเอเชียบูรพาหรือสงครามโลกครั้งที่ 2 ในสมรภูมิเอเชียนั่นเอง
ดังนั้นตามหลักแล้วเกาะฟอร์โมซาหรือไต้หวันนั้นคุ้นชินกับการเป็นอาณานิคมเสียเป็นส่วนใหญ่เริ่มจากเป็นอาณานิคมโปรตุเกสกับดัตช์ แล้วก็มาเป็นอาณานิคมของราชวงศ์ชิง แล้วก็มาเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น
พอหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อรัฐบาลจีนคณะชาติของจอมพลเจียง ไคเช็กมายึดครองก็ยังรู้สึกเหมือนเป็นรัฐบาลเจ้าอาณานิคมอีกเจ้าหนึ่งอยู่ดี เพราะชาวไต้หวันถูกตัดขาดจากแผ่นดินใหญ่มายาวนานถึงครึ่งศตวรรษเมื่อถูกญี่ปุ่นปกครอง ทั้งเครือข่ายการค้า เศรษฐกิจ ภาษา วัฒนธรรมตลอดจนระบบการศึกษาก็ใช้แบบญี่ปุ่นหมด ไม่ได้มีประวัติศาสตร์อะไรร่วมกับแผ่นดินใหญ่สักกี่มากน้อย ระหว่างสงครามก็ไม่ได้ถูกถล่มย่อยยับไม่มีชิ้นดีเหมือนกับฝั่งแผ่นดินใหญ่ พอพ้นยุคสงครามมาก็ไม่ได้มีความรังเกียจญี่ปุ่นหรือรักชาติจีนอะไรมากขนาดที่จะทำให้มีความรู้สึกร่วมกับเพื่อนร่วมชาติชาวจีนได้สักกี่มากน้อย แต่กลับต้องกลายมาเป็นฐานที่มั่นสำคัญของรัฐบาลจีนคณะชาติเมื่อฝ่ายคอมมิวนิสต์มีชัยชนะบนผืนแผ่นดินใหญ่และสามารถสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นมาได้เมื่อปี 1949 จนเป็นเหตุให้รัฐบาลจีนทั้งสองจีน (สาธารณรัฐจีนบนเกาะฟอร์โมซา และสาธารณรัฐประชาชนจีนบนผืนแผ่นดินใหญ่) ต้องแยกจากกันมาจวบจนทุกวันนี้นั่นเอง
ทีนี้กลับมาที่คำถามตั้งต้นของเรา ถ้าเผื่อว่าไม่ได้มีประวัติศาสตร์ผูกพันอะไรกันมากมายปานนั้น รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนทำไมจะต้องกระเหี้ยนกระหือรืออยากได้ไต้หวันกลับมาอยู่ภายใต้ความปกครองของจีนมากมายหนักหนา ถึงขั้นขู่ทำสงครามทุกบ่อยทุกบ่อยอย่างนี้?
อันนี้ต้องย้อนกลับไปนู้นนนนเลยค่ะ ฐานรากของอุดมการณ์ชาตินิยมจีนคือสิ่งที่เรียกว่า ศตวรรษแห่งความอัปยศ ซึ่งหมายถึงระยะเวลาระหว่างการพ่ายแพ้สงครามฝิ่นครั้งที่ 1 (อันเป็นเหตุให้ต้องเสียฮ่องกงให้อังกฤษนั่นแหละ) ในปี 1840 กว่าๆ ไปจนถึงการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ในปลายทศวรรษ 1940 ที่ประธานเหมาออกมาประกาศว่าประชาชาติจีนได้ลุกยืนขึ้นแล้ว ซึ่งหมายถึงการลุกยืนขึ้นจากศตวรรษแห่งความอัปยศ เพราะในช่วงประมาณร้อยปีดังกล่าวนั้นเป็นช่วงเวลาที่จีนถูกมองว่าเป็นประเทศล้าหลังด้อยพัฒนาในทุกๆ ด้าน ถูกจักรวรรดินิยมทั้งชาติตะวันตกและญี่ปุ่นรุกราน เอารัดเอาเปรียบ กดขี่ข่มเหงสารพัด และการเมือง เศรษฐกิจ สังคมภายในประเทศก็สับสนวุ่นวายแตกแยกกันเองเป็นหลายฝ่ายไม่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นช่วงเวลาที่จีนอ่อนแอและน่าอับอายเป็นที่สุด
ช่วงเวลาแย่ๆ นั้นก็จบลงด้วยการที่คนจีนสามารถสร้างชาติที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ประชาชาติจีนที่ยืนขึ้นตามคำของประธานเหมานั้นก็ไม่ได้ลุกยืนขึ้นพรวดเดียวทั้งหมดนะคะ กระบวนการในการยืนขึ้นและลบล้างความอัปยศแห่งความเป็นจีนนั้นยาวนานมาก หลังจากสถาปนาประเทศแล้วก็ต้องฟืนฟูเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมที่ล่มสลายจากสภาวะสงครามที่ยืดเยื้อยาวนานมาหลายสิบปีก่อนหน้านั้น ต้องสถาปนาโครงสร้างทางการเมืองที่เข้มแข็งและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และก็ต้องล้มลุกคุกคลานผ่านกระบวนการทางสังคมและการเมืองต่างๆ ของพรรคคอมมิวนิสต์มาพอสมควรตลอดยุคศตวรรษที่ 20 กว่าจะเข้มแข็งพอที่จะเรียกร้องอาณานิคมคืนจากชาติตะวันตกทั้งฮ่องกงคืนจากอังกฤษและมาเก๊าคืนจากโปรตุเกสก็ต้องรอจนปลายสุดเกือบจะสิ้นศตวรรษที่ 20 แล้ว
สิ่งสุดท้ายที่ยังคงเหลืออยู่เป็นมรดกของศตวรรษแห่งความอัปยศนั้นก็คือสาธารณรัฐจีนบนเกาะฟอร์โมซาหรือที่เราคุ้นชินกันในนามของ ไต้หวัน นั่นแหละค่ะ เพราะเกาะนี้คือสิ่งที่ญี่ปุ่นเอาไปเมื่อจีนแพ้สงครามตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 และแม้เมื่อจีนสามารถยืนหยัดต่อมาจนเอาชนะญี่ปุ่นได้ในสงครามมหาเอเชียบูรพาแล้วเกาะฟอร์โมซาก็ยังคงอยู่เป็นสัญลักษณ์ของความแตกแยกไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของจีนอีก ไต้หวันเป็นฐานที่มั่นของพวกจีนคณะชาติที่เอาตัวรอดจากการกวาดล้างของคอมมิวนิสต์บนแผ่นดินใหญ่มาได้แล้วก็ยังอยู่เป็นเสี้ยนหนามแห่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของจีนจากมุมมองพรรคคอมมิวนิสต์มาจนถึงทุกวันนี้
การจะเอาไต้หวันกลับมาอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลบนผืนแผ่นดินใหญ่จึงเป็นเสมือนภารกิจศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้นำสาธารณรัฐประชาชนจีนทุกยุคสมัยต้องพยายามดำเนินต่อไปให้บรรลุเป้าหมายให้ได้ในที่สุด ไม่ว่าจะต้องสู้ไปอีกยาวนานเท่าไรก็ตาม
ตราบที่ไต้หวันยังไม่ตกอยู่ในอาณัติของรัฐบาลปักกิ่งก็เสมือนว่าศตวรรษแห่งความอัปยศนั้นยังไม่สิ้นสุดลงอย่างสมบูรณ์
ส่วนชาวไต้หวันที่อยู่แยกกันมาจากแผ่นดินใหญ่ยาวนานหลายชั่วอายุคน หรือแม้แต่ชาวพื้นเมืองของเกาะฟอร์โมซาซึ่งไม่เคยอยู่ใต้อาณัติของจีนเลยนั้น ก็ต้องนับว่าเป็นความซวยของพวกเขาโดยแท้ที่คงจะเจรจากับรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนให้รู้เรื่องได้ยาก เพราะการใช้เหตุผลของรัฐบาลปักกิ่งก็จะป่วงๆ พอๆ กับกรณีเรียกร้องสิทธิครอบครองทะเลจีนใต้ทั้งทะเลนั่นแหละ อย่างที่เคยเขียนไว้ตั้งแต่ก่อนปีใหม่ตอนนู้นนนนน... ว่าเมืองในทะเลจีนใต้ก็เป็นเขตอิทธิพลของมหาอำนาจมาโดยตลอด ในศตวรรษที่ 21 นั้นสาธารณรัฐประชาชนจีนย่อมมีความชอบธรรมยิ่งกว่ามหาอำนาจอื่นใดในโลก (ซึ่งไม่มีอาเซียนอยู่ในจำนวนนั้น) ที่จะครอบครองทะเลจีนใต้ ฉันใดก็ฉันนั้น... ในเมืองเกาะฟอร์โมซาก็เป็นอาณานิคมมาเกือบตลอดระยะเวลาสามสี่ร้อยปีที่ผ่านมา ณ ศตวรรษปัจจุบันนี้ก็ไม่มีมหาอำนาจอื่นในในโลกที่จะมีความชอบธรรมในการครอบครองไต้หวันมากไปกว่าสาธารณรัฐประชาชนจีน... เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้