น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกไทยในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือน พ.ย. หดตัวร้อยละ 7.39 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่า 19,657 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนมูลค่านำเข้าอยู่ที่ 19,108 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ หดตัวร้อยละ 13.8 ส่งผลให้การค้าเกินดุล 549 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ส่งผลให้ทั้ง 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย. 2562) ส่งออกหดตัวร้อยละ 2.77 มีมูลค่า 227,090 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การนำเข้าหดตัวร้อยละ 5.2 มีมูลค่า 218,081 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้การค้าเกินดุล 9,009 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรเดือน พ.ย. หดตัวที่ร้อยละ 3.6 สินค้าเกษตรสำคัญที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ น้ำตาลทราย ขยายตัวร้อยละ 105.3 (ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย ซูดาน จีน กัมพูชา และเวียดนาม) ไก่สด แช่แข็งและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 10.4 (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน เกาหลีใต้ และมาเลเซีย)
ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขยายตัวที่ร้อยละ 7.0 (ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ ฮ่องกง อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย) เครื่องดื่ม ขยายตัวร้อยละ 3.8 (ขยายตัวในตลาดกัมพูชา เมียนมา จีน อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น)
สินค้าที่หดตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวที่ร้อยละ 37.3 (หดตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ไต้หวัน และสหรัฐฯ แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดเวียดนาม และเนเธอร์แลนด์) ข้าว หดตัวที่ร้อยละ 31.4 (หดตัวในตลาดจีน แอฟริกาใต้ ฮ่องกง ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดสหรัฐฯ แคเมอรูน และอังโกลา) ยางพารา หดตัวที่ร้อยละ 18.4 (หดตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และบราซิล แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดมาเลเซีย สหรัฐฯ และตุรกี) กุ้งสดแช่แข็งและกุ้งแปรรูป หดตัวที่ร้อยละ 9.1 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดา และเกาหลีใต้ แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดจีน มาเลเซีย และเมียนมา) รวม 11 เดือนแรกของปี 2562 สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวที่ร้อยละ 2.4
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวที่ร้อยละ 6.4 สินค้าสำคัญที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ขยายตัวร้อยละ 26.4 (ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์) รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 25.9 (ขยายตัวในตลาดสหราชอาณาจักร เบลเยียม กัมพูชา จีน และเนเธอร์แลนด์) อัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทอง ขยายตัวที่ร้อยละ 10.4 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เยอรมนี อินเดีย สิงคโปร์ และเบลเยียม) เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ขยายตัวที่ร้อยละ 8.8 (ขยายตัวในตลาดจีน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม กัมพูชา และมาเลเซีย)
สินค้าที่หดตัว ได้แก่ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัวที่ร้อยละ 27.2 (หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย เวียดนาม กัมพูชา และอินโดนีเซีย แต่ยังขยายตัวในปากีสถาน) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัวที่ร้อยละ 15.6 (หดตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และมาเลเซีย แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดเวียดนาม จีน และซาอุดิอาระเบีย) เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ หดตัวที่ร้อยละ 14.8 (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น อินเดีย จีน อินโดนีเซีย และเนเธอร์แลนด์ แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดสหรัฐฯ เม็กซิโก และเวียดนาม) ทองคำ หดตัวที่ร้อยละ 8.5 (หดตัวในตลาดกัมพูชา สิงคโปร์ ไต้หวัน บังกลาเทศ และอิตาลี แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดสวิตเซอร์แลนด์ เมียนมา และเกาหลีใต้) รวม 11 เดือนแรกของปี 2562 มูลค่าสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวที่ร้อยละ 1.9
อย่างไรก็ตาม ภาวะส่งออกที่ติดลบต่อเนื่องมีปัจจัยหลักจากผลกระทบสงครามการค้า ค่าเงินบาทแข็งที่กระทบส่งออกสินค้าเกษตร และปัจจัยเฉพาะหน้าคือการปิดปรับปรุงของโรงกลั่นหลายแห่งในช่วงระหว่างเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2562 ซึ่งกระทบกับสินค้าส่งออกสำคัญ 3 รายการ ได้แก่ น้ำมัน น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์และพลาสติก ซึ่งทั้งหมดมีสัดส่วนในการส่งออกร้อยละ 11-12 และในเดือน พ.ย. สินค้ากลุ่มดังกล่าวส่งออกหดตัวร้อยละ 27