ไม่พบผลการค้นหา
ผู้เชี่ยวชาญของหน่วยงานคลังสมองในสหรัฐฯ วิเคราะห์ฉากสถานการณ์ของไทยภายหลังการเลือกตั้ง โดยชี้ว่า ไม่ว่าพรรคฝ่ายสนับสนุนหรือฝ่ายต่อต้านคณะรัฐประหารได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล รัฐบาลชุดใหม่จะทำงานอย่างยากลำบาก

นายโจชัว เคอร์แลนซิก ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ Council on Foreign Relations นำเสนอบทวิเคราะห์ความเป็นไปได้ 2 แบบของการเมืองไทยภายหลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม

ฉากสถานการณ์แบบแรก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ครองเก้าอี้นายกรัฐมนตรีต่อไป และฉากสถานการณ์แบบที่สอง พรรคการเมืองฝ่ายคัดค้านการสืบทอดอำนาจชนะเลือกตั้ง

ในฉากสถานการณ์แบบแรก พล.อ.ประยุทธ์ได้รับการสนับสนุนให้เป็นผู้นำต่อไปด้วยเสียง ส.ส. 126 เสียงในสภาผู้แทนราษฎร บวกกับ 250 เสียงจากวุฒิสมาชิกที่รัฐบาลทหารชุดปัจจุบันแต่งตั้ง

แต่รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์จะทำงานอย่างยากลำบาก ตัวพล.อ.ประยุทธ์ซึ่งขาดความอดกลั้นต่อความเห็นต่างและเสียงวิจารณ์มาตลอดเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา จะต้องทำงานในบรรยากาศที่เสรีมากขึ้น ซึ่งจะมีทั้งนักการเมืองฝ่ายค้าน สื่อมวลชน และการประท้วงต่างๆ

ในฉากสถานการณ์แบบที่สอง พรรคฝ่ายต่อต้าน คสช.ได้ ส.ส.เข้าสภา 376 เสียง จากทั้งหมด 500 ที่นั่ง ทำให้มีสิทธิ์เลือกนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทย อนาคตใหม่ และพันธมิตรอื่นๆ อาจถูกสกัดกั้น ทหารจะไม่ยอมให้พรรคการเมืองในปีกนี้ครองอำนาจ เพราะจะนำไปสู่การปฏิรูปกองทัพ หรือลดงบประมาณทหาร

คณะกรรมการการเลือกตั้งอาจระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครจากฝ่ายต่อต้าน คสช. หรือสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ ศาลฎีกาอาจสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ ทหารอาจผลักดันให้พรรคประชาธิปัตย์ร่วมมือกับพรรคพลังประชารัฐในการจัดตั้งรัฐบาล

อย่างไรก็ดี นายโจชัวบอกว่า ถ้าสถานการณ์เป็นไปในรูปนี้ การเมืองไทยจะเกิดความปั่นป่วน เพราะประชาชนที่โหวตเลือกพรรคฝ่ายต่อต้าน คสช.จะเกิดความโกรธแค้น ดังนั้น รัฐบาลชุดใหม่ซึ่งขึ้นสู่อำนาจด้วยวิธีนี้ก็จะอยู่ยาก

Source: Council on Foreign Relations