ไม่พบผลการค้นหา
เลขาฯ กกต. เผยต้องรับรอง ‘พิธา’ เป็น ส.ส. ไปก่อน ย้ำ กกต.ไม่มีอำนาจไม่ประกาศ เหตุพ้นช่วงตรวจสอบคุณสมบัติในชั้นศาลฎีกามาแล้ว ชี้หลังประกาศผลหากถือหุ้นไอทีวีผิดจริง ฟันโทษ ม.151 พร้อมส่งศาล รธน.ตีความสถานะ ส.ส.ได้

วันที่ 9 มิ.ย. 2566 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกต้้ง (กกต.) แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. กล่าวถึงการนับคะแนนใหม่ใน 47 หน่วยเลือกตั้งของ 16 จังหวัดว่า ทาง กกต. ประจำจังหวัด และเจ้าหน้าที่แต่ละเขตจะนัดหมายให้ประชาชนสามารถเข้าไปร่วมสังเกตการณ์ได้ ส่วน กกต. จะมีการบันทึกภาพวิดีโอทุกขั้นตอนเพื่อเก็บเป็นหลักฐาน ส่วนเรื่องสโลแกนองค์กรที่นำคำว่า “โปร่งใส” ออก เพราะมีความหมายเหมือนคำว่า “สุจริต” และ “เที่ยงธรรม” อยู่แล้ว และไม่ได้แตกต่างอะไรกับตัวตนขององค์กร ไม่ว่าจะเขียนอย่างไร แต่สิ่งที่เราได้แสดงออกนั้นสมควร หรือมีเกียรติในตำแหน่งที่เราทำ

แสวง กล่างอีกว่า เรื่องความโปร่งใสดูได้สองอย่างคือ เห็นได้ด้วยตา ประชาชนสามารถไปร่วมสังเกตการณ์ในหน่วยเลือกตั้ง และบันทึกภาพได้ตลอดเวลา ส่วนความโปร่งใสอีกประเภทหนึ่งคือ เรามีระบบการตรวจสอบได้ว่า กระบวนการที่เราทำนั้นเมื่อประชาชนสงสัยสามารถตรวจสอบได้ และหากเราเดินหน้าแบบนี้จะทำให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสุจริต และเที่ยงธรรม 

ส่วนกรณีที่ถูกสังคมมองว่า การสั่งให้นับคะแนนใหม่เป็นเหมือนการดึงเกมทางการเมืองหรือไม่ แสวง กล่าวว่า นับตั้งแต่ที่เราได้มีการเลือกตั้งในช่วงเดือน พ.ค. และมีการประกาศผลคะแนนอย่างเป็นทางการจากคะแนนแต่ละเขตรวบรวมมานั้น เราไม่ได้หยุดนิ่ง และตระหนักดีว่า ประชาชนต้องการทราบผล แม้กฎหมายให้เวลาทำงาน 60 วัน คือ แต่ในส่วนการทำงานของ กกต. ได้เร่งรัดเพื่อเสนอให้ กกต. ได้พิจารณาภายในสัปดาห์หน้าตามแผนงาน โดยจะพิจารณาจากกลุ่มว่าที่ ส.ส. ที่ไม่เรื่องร้องเรียน และมั่นใจว่า ทุกอย่างจะเป็นไปตามเวลาที่ควรจะเป็น 

เมื่อถามถึงกรณีการถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ก้าวไกล แสวง กล่าวว่า เรื่องนี้มีปัญหาทางเทคนิคอยู่ คือผู้ร้องมาร้องก่อนวันเลือกตั้ง 2 วัน ซึ่งกรณีมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ ต้องร้องภายใน 7 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง ซึ่งสำนักงาน กกต. ก็ต้องพิจารณาว่า สิ่งที่ร้องมีเหตุหรือมีมูลที่จะดำเนินการต่อไปหรือไม่ เพื่อเสนอให้ กกต.พิจารณา และทาง กกต.มีความเห็นว่า ให้ทำให้รอบคอบ และเสนอขึ้นไปใหม่ ส่วน กกต. จะรับไว้พิจารณาหรือไม่ เป็นอีกประเด็น และถ้ารับแล้ว จะผิดหรือถูก ก็เป็นอีกประเด็น ดังนั้น เรื่องนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของสำนักงาน กกต.

เมื่อถามถึงกระแสข่าวว่าจะมีการดำเนินการข้อหารู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิลงสมัครเลือกตั้ง ส.ส. แต่ยังคงลงรับสมัคร ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกต้ัง ส.ส. พ.ศ.2561 มาตรา 151 นั้น แสวง กล่าวว่า เรื่องการมีลักษณะต้องห้ามของการลงสมัคร หากเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้ง ต้องส่งศาลฎีกาวินิจฉัย แต่หลังเลือกตั้งก่อนการประกาศผล ยังเป็นช่องโหว่อยู่ ซึ่งสำนักงาน กกต. ก็คิดว่า หากมีการยื่นจะทำอะไรได้บ้าง ซึ่งสามารถทำคดีอาญาตาม มาตรา 151 ได้ ส่วนถ้าประกาศรับรองผลไปแล้ว การให้พ้นจาก ส.ส. ก็ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 คือ สมาชิกรัฐสภา 1 ใน 10 เข้าชื่อ เพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ กกต. ก็สามารถยื่นได้ แต่เราต้องมีพยานหลักฐาน และข้อเท็จจริง

เมื่อถามย้ำว่า ขณะนี้กกต.กำลังพิจารณาควบคู่ ระหว่างคดีอาญาตาม มาตรา 151 และคดีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ แสวง กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่า คดีคุณสมบัติยังพิจารณาไม่ได้ ตอนนี้พิจารณาได้เฉพาะคดีอาญา ตาม มาตรา 151 แต่คดีคุณสมบัติยังทำไม่ได้ เพราะยังไม่เป็น ส.ส. 

"ตามคำร้องร้องว่าคุณไม่มีคุณสมบัติในการลงสมัคร ส.ส. เพราะคุณมีลักษณะต้องห้าม ที่กฎหมายกำหนด เมื่อคุณไม่มีคุณสมบัติก็จะไปสู่ ข้อหารู้อยู่แล้ว ว่าไม่มีคุณสมบัติ แต่ยังลงสมัคร ซึ่งมีความผิดตาม มาตรา 151 แต่เรื่องของการพ้นเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ซึ่งตอนนี้ ยังเป็นอนาคตที่มาไม่ถึง ยังไงก็ต้องประกาศผลให้เป็น ส.ส.ไปก่อน เพราะพ้นในช่วงการยื่นของศาลฎีกามาแล้ว กกต. ไม่มีอำนาจไม่ประกาศ แต่สามารถพิจารณาคดีอาญาได้" แสวง กล่าว